ความฟุ้งซ่าน


    ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์สมพรว่า ในนิวรณ์ มีอุทธัจจะ กุกกุจจะด้วย แสดงว่าเป็นธรรมอะไร ทำไมต้องแสดงอย่างนั้น ทำไมไม่แสดงแยกกันอย่างในพระอภิธรรมแสดง นิวรณ์บอกไว้ชัดเลยว่ามี อุทธัจจะ กุกกุจจะเพิ่มขึ้นมา คือ ฟุ้งซ่านไม่พอ ยังมีรำคาญใจอีก ผมก็รู้สึกว่า เรารำคาญใจจริงๆ เหมือนกันในความรู้สึก รู้สึกจะน้อมตามคำสอนของนิวรณ์มากกว่าตามกุกกุจจะ อันนี้ขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์สมพร

    สมพร ในนิวรณ์ พระองค์ทรงแสดงพิเศษต่างหาก หมายความว่า อันที่แยกได้พระองค์ก็ทรงแสดงเป็นคู่ ก็มี เช่น ถีนะ มิทธะ อย่างอุทธัจจะ กุกกุจจะ แสดงเป็นคู่ไปเลย กุกกุจจะเกิดขึ้นครั้งใด อุทธัจจะก็ต้องเกิดร่วมด้วยทุกครั้งเลย กุกกุจจะ แปลว่ารำคาญใจ รำคาญใจก็เป็นประเภทพวกโทสะ เมื่อเกิดขึ้นครั้งใดอุทธัจจะต้องเกิดขึ้นทุกครั้ง อุทธัจจะนี้ก็รวมอยู่ในเจตสิกที่เป็นประเภทโมหะ เรียกว่า โมจตุกะ มันเกิดกับอกุศลทั้งหมด อุทธัจจะ แล้วก็อย่างถีนะ มิทธะ เราแยกได้ ถีนะ มิทธะ ถีนะก็หมายความว่าทำจิตให้ง่วงเหงาหาวนอน มิทธะก็ทำเจตสิกให้ง่วงเหงาหาวนอน ทีนี้ที่ท่านบอกว่า ถีนะ เป็นกิเลส มิทธะไม่ใช่เป็นกิเลส อันนี้ไม่ได้แสดงไว้ชัดเจน เป็นแต่เพียงสันนิษฐานว่าเพราะจิต เพราะประกอบกับจิต ถีนะตัวนั้น พระองค์จึงตรัสว่าเป็นกิเลส มิทธะนั้นเพราะประกอบกับเจตสิก แต่ว่าไม่มีหลักฐานที่แน่นอนว่า พระองค์ทรงแยกอย่างนี้ แยกเพียงแต่ว่าประกอบกับจิตหรือเจตสิก เราก็สันนิษฐานว่าประกอบกับจิตก็ต้องเป็นกิเลสเพราะว่าจิตนั้นเศร้าหมองด้วยอำนาจกิเลส แท้จริงเมื่อเกิดกับเจตสิก มันก็ถึงจิต ถ้าแยกเป็นส่วน จิตก็ส่วนหนึ่ง เจตสิกก็ส่วนหนึ่ง

    ผู้ฟัง กราบเรียนท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้กระจ่างหน่อย ความฟุ้งซ่านที่ว่า เกี่ยวกับอุทธัจจะ มันเป็นอย่างไรกันแน่ อย่างคราวที่แล้วเราบอกว่าฟุ้งซ่าน

    ผู้ฟัง คิดๆ ดูแล้วนั่นแหละคือฟุ้งซ่านแน่

    ผู้ฟัง

    ฟุ้งซ่านอย่างที่เราเคยฟุ้งซ่าน

    ผู้ฟัง นอนไม่หลับอะไรอย่างนี้ บางทีทะเลาะกับคนโน้นคนนี้มา คิดอยู่นั่น ไม่จบสิ้นเสียที นี่คือฟุ้งซ่าน ครับอาจารย์ ช่วยที อย่างไรแน่ที่ถูกที่ควร มันตรงไหนกันแน่ ครับอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เวลาที่บอกว่านอนไม่หลับ แล้วก็คิดมาก ฟุ้งซ่าน ด้วยโลภะหรือว่าด้วยโทสะ

    ผู้ฟัง ด้วยโทสะครับ ไม่ค่อยพอใจ

    ท่านอาจารย์ บางคนอาจจะฟุ้งไปด้วยโลภะก็ได้ ถ้ากำลังต้องการอะไรสักอย่าง ก็อาจจะคิดเพลินไปเลย จะสร้างวิมานอย่างนั้นอย่างนี้ หรืออะไรอย่างโน้นก็ได้ ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต ที่จริงแล้วลักษณะของอุทธัจจะ ก็คือสภาพที่ไม่สงบของธรรมนั้น เมื่อธรรมนั้นเกิดแล้วจะหวั่นไหวฟุ้งไป ไม่สงบ เพราะว่าถ้าเป็นฝ่ายสงบต้องเป็นฝ่ายโสภณเจตสิก ซึ่งเป็นปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิ กายปัสสัทธิ แต่ลักษณะของอุทธัจจะ โมหะเป็นลักษณะที่ไม่รู้เลย ไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง มืดบอด แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับธรรม เช่น ทางตากำลังเห็น โมหะก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมที่ปรากฏเมื่อกระทบกับจักขุปสาท แต่โมหะไม่สามารถจะรู้อย่างนี้เลย นั่นคือโมหะ แต่อุทธัจจะเป็นสภาพที่ไม่สงบ เพราะเหตุว่าเมื่อมีความไม่รู้ ขณะนั้นจะสงบไม่ได้ แต่ว่าลักษณะของอุทธัจจะ และโมหะซึ่งยังไม่ประกอบด้วยโลภะ ก็จะเป็นอาการอย่างที่เรารู้ว่า เหมือนลืม หรือว่าไม่รู้อะไร เป็นอุเบกขา แต่พอมีโลภะเกิดร่วมด้วย ก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นจิต ที่เราบอกว่าฟุ้ง ฟุ้งไปด้วยโลภะ คิดมากมาย เรื่องของโลภะทั้งนั้น หรือว่าฟุ้งด้วยโทสะ

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า เวลาที่เราบอกว่าเราฟุ้ง จิตสงบหรือว่าเป็นทุกข์ ขณะนั้นจะสงบ เป็นกุศลไม่ได้เลย แต่ว่าถ้าเป็นโทสมูลจิต เราก็คิดไปด้วยความไม่สบายใจ บางคนก็อาจจะคิดว่าจะทำร้ายคนอื่นอย่างไร หรือว่าคิดไปสารพัดเรื่อง นั่นด้วยกำลังของโทสะ แต่ถ้าคิดไปด้วยโลภะก็ดูเพลินไปเลย เรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่เราก็ใช้คำว่าฟุ้ง แสดงให้เห็นว่า ขณะนั้นจิตไม่สงบ แต่มีโลภะเกิดร่วมด้วย หรือว่าจิตไม่สงบแล้วก็มีโทสะเกิดร่วมด้วย

    ผู้ฟัง แล้วถ้าไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง แล้วมันก็สงบนะคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้อะไรค่ะ

    ผู้ฟัง ไม่รู้อะไร แต่มันก็ไม่ได้คิดอะไรเลยเหมือนกัน แต่สงบไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ลืมคะ นึกไม่ออก นึกอะไรก็นึกไม่ออก เคยพยายามจะนึกชื่อของคนที่จะพูดด้วย หรือที่หนึ่งที่ใดก็ได้ นึกไม่ออก เคยไหมคะ ลักษณะที่กำลังนึกไม่ออก ไม่รู้ ขณะนั้นสงบหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นอุเบกขาก็ไม่จำเป็นต้องสงบ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ อุเบกขาเวทนาเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับวิบากจิตก็ได้ เกิดกับกิริยาจิตก็ได้ แต่เกิดกับโทสมูลจิตไม่ได้ ถ้าเกิดกับอกุศลจิตก็เกิดเฉพาะกับโลภมูลจิตหรือโมหมูลจิตเท่านั้น


    หมายเลข 9071
    21 ส.ค. 2567