มูลรากของอกุศล
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นโมหะ ไม่ใช่ว่าพอไม่รู้แล้วสบาย ไม่ใช่อย่างนั้น ที่อาจารย์อธิบายหมายความว่า
ท่านอาจารย์ ไม่รู้แล้วเฉยๆ
ผู้ฟัง เฉยๆ
ท่านอาจารย์ ค่ะ ความรู้สึกเฉยๆ ไม่เดือดร้อน เพราะว่าเป็นอุเบกขาเวทนา แต่ไม่ใช่ว่าดี แต่ไม่มีโลภะเกิดร่วมด้วยดีกว่ามีโลภะเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสะเกิดร่วมด้วยก็ยังดีกว่ามีโทสะเกิดร่วมด้วย ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นความรู้สึกในขณะนั้น เราเทียบเวทนาได้ไหม อาจารย์ครับ
ท่านอาจารย์ เวทนาที่เป็นอุเบกขา ถ้ามีการระลึกรู้จะเห็นว่า ต่างกันมาก ไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาเวทนาที่เกิดกับเป็นโลภะ หรือว่าอุเบกขาเวทนาที่เกิดเป็นโมหะ หรือว่า อุเบกขาเวทนาที่เกิดกับโสภณ เช่น เป็นกุศล หรือว่าเป็นวิบาก
ผู้ฟัง กราบเรียนถามอาจารย์สมพรว่า ทำไมเขาจึงยกว่าเป็นมูล หรือเป็นรากเป็นยอดแห่งความไม่รู้อะไรทั้งหลาย เป็นอย่างไรอาจารย์ครับ
อ.สมพร มูล หมายถึง เป็นของที่มั่นคงในฝ่ายอกุศล มูล เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีรากที่มั่นคงแข็งแรง มูลแปลว่ารากก็ได้ แปลว่าเหตุก็ได้ เหตุหมายถึงปัจจัย คือว่าท่านไม่รู้จะเปรียบอะไร ท่านก็เลยเปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีรากแข็งแรงหรือรากแก้ว อย่างที่เราบอกว่ารากใหญ่ ทำให้ต้นไม้นั้นแข็งแรง เมื่อมีเหตุมีมูลที่ประจำอยู่ ขันธ์ ๕ ของเราก็แข็งแรง แต่แข็งแรงในด้านอยู่ในวัฏฏะ ไม่ใช่ออกจากวัฏฏะ นอกจากมีมูลอีกอันหนึ่ง เรียกว่ามูลในฝ่ายกุศล คือว่า ถ้ามูลในฝ่ายอกุศล เรียกว่าโมหมูล ถ้ามูลในฝ่ายกุศลก็ อโมหะ ก็คือ วิชชา มันต่างกัน มูลในที่นี้หมายความว่ามั่นคงแข็งแรงนั่นเอง
ผู้ฟัง ครับ อาจารย์สุจินต์ช่วยขยายความ
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าถึงแม้ว่ามูลของอกุศลมี ๓ คือ โลภเจตสิกเป็นโลภมูล โทสเจตสิกเป็นโทสมูล โมหเจตสิกเป็นโมหมูล แต่ว่ามูลที่ขาดไม่ได้เลย คือ โมหะ สำหรับอกุศลจิตทุกประเภท ถึงแม้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่มีโลภะก็ได้ ไม่มีโทสะก็ได้ แต่ไม่มีโมหะไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะต้องมีโมหะเสมอยืนพื้น บางกาลก็มีโลภเจตสิกเกิดเพิ่มอีก ๑ มูล จึงเป็น ๒ มูล หรือ ๒ เหตุ เรียกว่า ทวิเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ ซึ่งสำหรับโทสมูลจิต ก็มี ๒ เหตุเหมือนกัน คือ โมหเหตุกับโทสเหตุ หรือโมหมูล โทสมูล ก็ได้
เพราะฉะนั้นก็แยกจิตออกโดยเหตุที่ร่วมด้วย คือ จิตที่มีเหตุ ๑ จิตที่มีเหตุ ๒ ทางฝ่ายอกุศล จะไม่มีรวมกันเป็น ๓ เหตุ เพราะว่าอกุศลเหตุมี ๓ โมหเจตสิกเกิดกับจิตโดยที่ไม่มีโลภะ โทสะเกิดร่วมด้วย เป็นโมหมูลจิต เป็นเอกเหตุกจิต เป็นจิตที่มีเหตุเดียว โลภเจตสิกกับโมหเจตสิก ๒ เหตุ ก็เป็นทวิเหตุ หรือทวิเหตุกจิต โทสเจตสิกเกิดกับโมหเจตสิก ในโทสมูลจิต เพราะฉะนั้นโทสมูลจิตก็มี ๒ เหตุ แต่ทางฝ่ายกุศลจะมี ๒ เหตุหรือ ๓ เหตุ ไม่มี ๑ เหตุ นี่เป็นความต่างกัน แต่เราก็คงจะไม่ต้องพูดถึง
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นการได้ฟังธรรม ปัญญาในขั้นที่ได้ฟังก็คงเป็นขั้นหนึ่งเท่านั้นเอง ขั้นที่เราฟังขณะนี้ ก็คงไม่ใช่ขั้น…
ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นฟังก็ดับกิเลสอะไร ทำอะไรไม่ได้เลย นอกจากทำให้เราเข้าใจว่า เรามีกิเลส ซึ่งยังไม่ได้ดับ แล้วก็จะเข้าใจหนทางที่ถูกต้องที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เกิดขึ้นที่จะละกิเลสได้
ผู้ฟัง ปัญญาที่ค่อยๆ เกิด อาจารย์ขยายความสักนิดเพื่อเป็นการช่วยเหลือในเรื่องของการที่จะให้ละคลายโมหะลงไปได้บ้าง
ท่านอาจารย์ ที่เราฟังธรรม ให้ทราบจุดประสงค์ว่า ฟังเพื่อที่จะรู้จักตัวธรรมซึ่งกำลังมีอยู่ นี่เป็นจุดประสงค์ เพราะฉะนั้นขณะที่ฟังต้องพิจารณาด้วยว่า เป็นปรมัตถธรรมทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตายแม้เดี๋ยวนี้ แต่เวลาที่สติปัฏฐานไม่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม จะให้รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นปรมัตถธรรมไม่ได้ เพราะฉะนั้นการศึกษาปรมัตถธรรมก็เพื่อให้รู้ลักษณะสภาพของปรมัตถธรรมแต่ละอย่าง เพื่อที่เวลาที่สติระลึก จะได้รู้ว่า นี่ คือลักษณะของปรมัตถธรรมที่ได้ศึกษา เป็นการที่เริ่มเข้าใจลักษณะของปรมัตถธรรม โดยสติระลึกที่ลักษณะนั้นๆ