รู้ทั่ว - เห็นถูก


    ผู้ฟัง ทีนี้ต่อไป ไปถึงปัญญา เพราะว่าเราพยายามพูดว่า โสภณสัมปยุตต์ได้แก่ญาณสัมปยุตต์ คือ จิตที่ประกอบด้วยปัญญา เรารู้จักโสภณแล้ว เรารู้จักกุศลแล้ว ทีนี้เราจะมารู้จักปัญญา ทีนี้จากปริจเฉทที่ ๑ ของท่านอาจารย์สมพร ท่านเขียนว่า ปัญญาเพราะอรรถว่า รู้ทั่ว คือ รู้อริยสัจ ท่านอาจารย์สมพร รู้ทั่ว แปลว่าอะไรคะ

    อ.สมพร รู้ทั่ว หมายความว่ารู้ตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรปิดบังเลย รู้โดยที่ไม่หลงเหลืออยู่เลย เมื่อไม่มีโมหะปกปิดเลย รู้ทั่ว รู้แจ้งชัด

    ผู้ฟัง ทำไมท่านถึงว่ารู้ทั่วคือรู้อริยสัจ

    อ.สมพร เพราะว่าอริยสัจเป็นธรรมที่รวมแล้วทั้งหมดแล้ว ธรรมจำแนกออกเป็น ๔ อย่าง การที่เรามีปัญญารู้อริยสัจ ๔ เรียกว่ารู้ทั่วหมดแล้ว เมื่อผู้ที่จะสำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ก็รู้อริยสัจ ๔ นี้แหละ รู้ทั่วถึงอริยสัจ ๔ ทั้งหมด ไม่มีความสงสัยใดๆ ในเมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิด มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ทั้งหมดล้วนมีความดับเป็นธรรมดา รู้ทั่วถึงอย่างนี้ ไม่มีหลงเหลือ ไม่มีความสงสัย ปัญญาอย่างนี้เรียกว่า รู้ทั่ว

    ผู้ฟัง เห็นถูก เข้าใจถูกในสภาพธรรม แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ อย่างเวลานี้ทุกคนมานั่งทีนี่ แล้วก็ฟัง เกิดความเข้าใจขณะไหน ขณะนั้นไม่ใช่แต่ละบุคคลที่ว่า เป็นสัตว์ เป็นตัวตน แต่ว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นกามาวจรจิตหรือจะใช้คำว่า “โสภณจิต” ก็ได้ เป็นจิตที่ดีงามที่กำลังเข้าใจถูกในเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังได้ยินได้ฟัง

    ผู้ฟัง ในเหตุในผล

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจถูกก็ต้องรู้ในเหตุในผล แสดงว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยที่ไม่มีเหตุผลเลย

    ผู้ฟัง ดิฉันติดคำว่า ในเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ เหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ที่อาจารย์หมาย หมายความว่าอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อย่างเมื่อกี้เรากล่าวเรื่องของกุศลจิตเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิต กุศลจิตเป็นเหตุ วิบากจิตเป็นผล แสดงว่าต้องมีเหตุมีผล

    ผู้ฟัง อันนั้นถึงจะเป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ปัญญาคือความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เห็นผิดหรือคลาดเคลื่อนจากความจริงของสภาพธรรม


    หมายเลข 9074
    21 ส.ค. 2567