การปฏิบัติที่ไม่ตรง


    ท่านอาจารย์ ถ้าจะศึกษาธรรมก็คือว่า ขณะนี้เป็นธรรมหรือเปล่าที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรม ธรรม ถ้าแยกออกเป็นประเภทใหญ่ๆ มี ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม แต่ยังไม่ไปถึงขันธ์ได้ไหมคะ

    ผู้ฟัง พูดถึงรูปกับนาม ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ลักษณะของรูปต่างกับลักษณะของนามอย่างไร

    ผู้ฟัง รูปก็คือสิ่งที่กระทบ นามคือความรู้สึกในสิ่งที่กระทบ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทางตา ลักษณะของรูป เป็นอย่างไรคะ อะไรคือรูป

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่เห็นอยู่

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา และอะไรเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง คือสิ่งที่ปรุงแต่งให้เห็นว่า สิ่งนั้นเป็นอาจารย์ หรือเป็นผม

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่ เพราะเหตุว่าต้องแยกว่าสภาพธรรมมี ๒ อย่าง สภาพธรรมอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่กำลังถูกรู้อยู่ จะเป็นทางหนึ่งทางใดก็ได้ คือสภาพที่เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลย แต่ว่าเป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ขณะไหนก็เป็นธาตุรู้ นี่คือความต่างกันของธาตุในพระพุทธศาสนากับธาตุทางโลก เพราะเหตุว่าธาตุทางโลกจะไม่จำแนกนามธาตุโดยละเอียดเลย แต่ว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงสภาพธรรมโดยละเอียดทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ แต่ว่าก่อนที่เราจะจำแนกนามธาตุเป็นประเภทต่างๆ ก็ให้ทราบความต่างกันของสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ คือนามธรรมกับรูปธรรม ไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ที่นี่ ที่ไหน หรือว่าไปนอกโลก หรือว่ากี่ภพกี่ชาติมาแล้ว หรือจะเกิดอีก สภาพธรรมที่ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ก็ต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดคือเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จึงจะกล่าวยืนยันได้ว่า ไม่ใช่เรา เพราะเหตุว่าเป็นแต่เพียงนามธาตุหรือนามธรรม ซึ่งเป็นสภาพที่เกิดขึ้นแล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ ส่วนรูปธรรมนั้นไม่ใช่สภาพรู้เลย

    เพราะฉะนั้นที่เรายึดถือว่าเป็นตัวตน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เราต้องสามารถรู้ว่า สภาพใดที่สติเกิดระลึกรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า เราต้องอาศัยการฟังตามลำดับขั้นจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราไปหยิบเรื่องราวจากพระสูตรตอนหนึ่งหรือตอนนี้ตอนนั้น แล้วก็คิดว่าจะเข้าใจได้ เพราะว่าบางคนอ่านพระสูตรเจอคำว่าขันธ์ ๕ แล้วก็อ่านไป ก็คิดว่าเข้าใจตามนั้น แต่จริงๆ แล้วอย่างที่กล่าวว่าความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติในเรื่องของขันธ์ ๕ ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมมี แต่เราใช้ชื่อสับสน เพราะเหตุว่าเราไม่ได้รู้ลักษณะจริงๆ เราเพียงแต่จำชื่อว่า ขันธ์มี ๕ แล้วก็เป็นรูปขันธ์ ๑ เป็นนามขันธ์ ๔ แต่เนื่องจากเราไม่ได้ศึกษาว่า แม้แต่คำว่า “รูปขันธ์” ตรัสใช้คำนี้หมายความถึงสภาพธรรมอะไร คำว่า เวทนาขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมอะไร คำว่า สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็ดี

    เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาก่อนตามลำดับ ไม่ใช่ไปปฏิบัติ เพราะเหตุว่าส่วนใหญ่ มีเรา ตัวตนที่ปฏิบัติ แต่ว่าตามพระธรรมที่ทรงแสดงแล้ว สติเกิด ปฏิบัติกิจของสติ ปัญญาเกิด ปฏิบัติกิจของปัญญา เพราะฉะนั้นมรรคมีองค์ ๘ แต่ละองค์ก็เป็นสภาพของเจตสิกแต่ละประเภทซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการฟังก่อน ว่าสติมีลักษณะอย่างไร แล้วก็ปัญญารู้อะไร ข้อสำคัญที่สุด ปัญญารู้อะไร ในเมื่อขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ปัญญาจะรู้อย่างอื่นไม่ได้ นอกจากรู้ลักษณะของนามธรรมถูกต้องว่า เป็นนามธรรม รู้ลักษณะของรูปธรรมถูกต้องว่า เป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง ทีนี่ผมจะคุยลึกลงไปอีก

    ท่านอาจารย์ อันนี้มันก็ไม่ถูกแล้วนี่คะ แล้วถ้าต่อไปก็ต้องไม่ถูกอีก

    ผู้ฟัง จะคุยถึงการปฏิบัติดีกว่า เพราะว่าไม่

    ท่านอาจารย์ นี่คือการปฏิบัติที่ไม่ตรง เพราะเหตุว่าไม่ได้รู้ลักษณะของสัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญาณขันธ์ ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง คือผมปฏิบัติครั้งแรกก็ฝึกอาณาปานสติ คือ ฝึก พุทโธ

    ท่านอาจารย์ ขอโทษค่ะ รู้ลักษณะที่ต่างกันของสติกับสมาธิไหมคะ

    ผู้ฟัง สติกับสมาธิ สติ ที่เข้าใจ สติคือระลึกได้ในสิ่งที่กระทบอารมณ์กระทบจิต

    ท่านอาจารย์ สภาพที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ครับ ส่วนสมาธิก็คือความเป็นหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ปฏิบัติ ทำสมาธิ หรือว่าสติเกิด

    ผู้ฟัง ทำทั้ง ๒ อย่าง ครั้งแรกทำเป็นสมาธิก่อน แล้วต่อมาก็เป็นสติ

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงว่า ลักษณะของสติกับของสมาธิปนกันหรือแยกกัน

    ผู้ฟัง สติกับสมาธินี้มันจะเกื้อหนุนซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ ลักษณะที่ต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง ตรงที่สติระลึกได้ ระลึกรู้ ระลึกเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นที่ปฏิบัติคงจะไม่ใช่มหาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าพระธรรมทรงแสดงไว้ว่า ไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน ไม่ใช่ผัสสะปัฏฐาน แล้วก็ไม่ใช่สมาธิปัฏฐานด้วย แต่ใช่คำว่า “สติปัฏฐาน” เพราะฉะนั้นต้องรู้ชัดในลักษณะของขณะที่มีสติกับขณะที่หลงลืมสติว่า ขณะนั้นไม่ใช่ทำสมาธิ เพราะมิฉะนั้นเราจะไปทำสมาธิ แล้วเราไปกล่าวว่า มีสติเกิด ซึ่งขณะนั้นกำลังทำสมาธิ ไม่ใช่ลักษณะของสัมมาสติที่เกิด

    ผู้ฟัง คือผมจะแยกให้ออกว่า ฝึกสมาธิมาเป็นอย่างไร ตอนแรกผมฝึกอาณาปานสติ ฝึกไปๆ พูดถึงอารมณ์ดีกว่า ไม่ใช่ฝึกแป๊บเดียวได้ เป็นเดือน ครั้งแรกฝึกไปก็เกิดความสงบขึ้นมา แล้วก็ตัวเบา

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น แค่นี้ก็ทราบแล้วว่า ไม่ได้อบรมปัญญา

    ผู้ฟัง ใช่ ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไปทำไม

    ผู้ฟัง ก็คนเราเดินมาโดยที่ไม่รู้ว่า อะไรคือปัญญา

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าตอนนี้รู้แล้ว ใช่ไหมคะว่า ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง รู้แล้ว

    ท่านอาจารย์ จะทำต่อไปไหมคะ

    ผู้ฟัง สิ่งใดเป็นกุศลควรทำไว้

    ท่านอาจารย์ แต่อาจจะเป็นอกุศลก็ได้ ไม่ใช่กุศล เพราะว่ามีมิจฉาสมาธิกับสัมมาสมาธิ ถ้าไม่ศึกษาจะไม่สามารถจะแยกได้ว่า อย่างไรเป็นสัมมาสมาธิ อย่างไรเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะฉะนั้นผู้ที่ทำมิจฉาสมาธิทุกคน จะแสดงลักษณะของสัมมาสมาธิไม่ได้ แต่ผู้ที่รู้ลักษณะของสัมมาสมาธิจะบอกได้เลยว่า มิจฉาสมาธิต่างกับสัมมาสมาธิอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเราทำแล้วไม่เกิดปัญญา ขณะนั้นไม่ใช่ภาวนาที่เป็นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาทั้ง ๒ อย่าง เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องเป็นสมถภาวนาอย่างหนึ่ง หรือ ว่าวิปัสสนาภาวนาอย่างหนึ่ง สมถภาวนาก็ต้องมีปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็เกิดความสงบที่เป็นกุศลไม่ได้ แต่ว่ามีจิตตั้งมั่นที่เป็นอกุศลได้

    เพราะฉะนั้นขณะนี้ไม่เกิดปัญญา ทำไปแล้วไม่เกิดปัญญาเลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่สัมมาสมาธิ และไม่ใช่สติปัฏฐาน


    หมายเลข 9083
    14 ส.ค. 2567