ไม่มีใครจะรู้โดยไม่ศึกษา
ผู้ฟัง คือท่านอาจารย์ตอบคำถามว่า ตอนไหนเป็นญาณสัมปยุตต์ อาจารย์สรุปเป็นข้อประเด็นสำคัญบอกว่า ขณะใดจิตเกิดกับความเห็นที่ถูกต้องขณะนั้นเป็นปัญญา หรือว่าเป็นญาณสัมปยุตต์ ผมรู้สึกว่าผมจับประเด็นได้ตรงนี้ ก็เลยถาม การที่จะตัดสินว่า ตรงนั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้อง มันก็หนีไม่พ้นความเห็นของเรา แล้วทำไมตรงไหน ถูกต้องอยู่ตรงไหน อันนี้ผมไม่เข้าใจ ขอถามครับ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ถูกต้องตามที่เราคิด แต่สภาพธรรมเป็นจริงอย่างไร เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เห็นผิดจากความจริงของสภาพธรรมนั้น อย่างสัมมาสมาธิกับมิจฉาสมาธิ ถ้ามีความเห็นถูกต้องว่า นี่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะสภาพธรรมจริงๆ เป็นสัมมาสมาธิ หรือว่านั่นเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ เป็นมิจฉาสมาธิ นั่นคือความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้าเป็นมิจฉาสมาธิ แล้วเข้าใจว่าเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไม่ตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้นถูกต้องที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าเราคิดเองว่าถูกต้อง เพราะคนที่คิดเองว่าถูกต้องมีเยอะ ทำผิดแต่คิดว่าถูก แต่ว่าความเห็นถูกจริงๆ ก็คือ เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น จึงจะเป็นปัญญา
ผู้ฟัง ตรงนี้ก็เป็นประเด็นอีกแล้ว เห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ตรงนี้ อย่างคนทั่วๆ ไปอย่างธรรมดา จะรู้ได้อย่างไรว่าตรงนั้นเป็นสภาพความเป็นจริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่มีใครที่จะรู้โดยไม่ศึกษา นี่แน่นอน บางคนก็บอกว่า แต่เช้าตื่นมาเขาไม่มีโลภะเลย โลภะของเขาต้องแรง ต้องมีความตื่นเต้น ดีใจ หรือทำอะไรอย่างนั้น เขาคิดว่า คนโลภเป็นคนที่มีโลภะ แต่เขาไม่ทราบว่า เมื่อลืมตาตื่นก็มีโลภะหรืออกุศลจิตแล้วทั้งวัน นี่เขาไม่ทราบ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ไม่ชื่อว่าเห็นถูกต้อง เพราะว่าความจริงสภาพธรรมไม่ใช่อย่างนั้น เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างไร เห็นถูกตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นจึงจะเป็นปัญญา