บรรเทาความสงสัย
อ.กฤษณา ปัญหาส่วนตัวของดิฉัน ที่ว่าบางครั้งฟังแล้ว คิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ว่าพอมีเพื่อนมาถาม ตอบไม่ได้ ก็เลยรู้ว่าตังเองยังสงสัยอยู่ ก็เลยทำให้คิดว่า ยังไม่ได้รับอานิสงส์ในข้อนี้ คือ บรรเทาความสงสัย ก็เลยได้เรียนถามท่านวิทยากร เพื่อที่ท่านจะได้กรุณาแนะนำว่า ควรที่จะให้เกิดอานิสงส์ข้อนี้อย่างไร ท่านอาจารย์สมพรมีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง
อ.สมพร ข้อที่ ๑ หมายความว่าได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง อันนี้ก็คงไม่แปลก นะครับ คงเข้าใจได้ง่าย เมื่อเราฟังแล้วปีติเกิด ขณะนั้นปีติเกิด ถีนมิทธะก็ไม่เกิดร่วม เพราะว่ามันอิ่มอกอิ่มใจ หมายความว่าธรรมนี้มันแปลกจริงๆ เป็นไปได้ อย่างโน้นอย่างนี้หลายอย่างที่เราจะคิดไป เรียกว่าปีติเกิด เมื่อปีติเกิดจิตเราก็ผ่องใส เป็นกุศลเหมือนกัน ขณะนั้น ผู้ฟังย่อมได้อานิสงส์ทำให้จิตผ่องใส อย่างพระองค์ตรัสว่า ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ นี่พระอัสสชิกล่าวกับปริพาชก เย ธัมมา เหตุ ปัพพวา ธรรมทั้งหลายเกิดจากเหตุ ผู้ฟังต้องตั้งใจฟัง เมื่อตั้งใจฟังแล้วปีติมันก็เกิด แล้วก็จิตประกอบด้วยสติสัมปชัญญะแทงตลอดไปมากมาย ขณะนั้นไม่ง่วง เพราะว่าอาศัยจิตที่กำจัดถีนมิทธะ จิตมีกำลัง นี่อานิสงส์ข้อที่ ๑ คือ จิตไม่ง่วง จิตย่อมผ่องใส
ข้อที่๒ สิ่งใดได้ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจในสิ่งนั้นชัด เพราะว่าธรรมของพระพุทธเจ้าละเอียดลึกซึ้ง เราฟังแล้วฟังเล่า ไม่เหมือนพระสารีบุตรฟังครั้งเดียวเข้าใจตลอด เราก็ฟังธรรมที่แสดงกับพระสารีบุตรตั้งร้อยครั้ง พันครั้ง ต้องฟังอีกเรื่อยไป จนกระทั่งเมื่อเราแทงตลอดเมื่อใด เมื่อนั้นก็เข้าใจชัด ได้ประโยชน์เต็มที่ ฟังครั้งหนึ่งก็ได้ประโยชน์ แต่ว่าประโยชน์ที่เข้าใจชัดอย่างพระสารีบุตรแทงตลอด เป็นพระอริยบุคคล อันที่ ๒ ต้องได้แน่ แต่ว่าต่างกัน
อ.กฤษณา อีกประการที่ว่าบรรเทาความสงสัยได้
อ.สมพร ทุกอย่าง ถ้าเราไม่ได้ฟังธรรม ก็มีความสงสัยร้อยแปดพันประการ แต่ว่าความสงสัยในที่นี้ พระองค์มุ่งถึงว่าเป็นทางปิดกั้นปัญญา ไม่ให้ปัญญาเกิด ไม่ให้เจริญธรรม แต่เมื่อเราฟังแล้ว ไม่เป็นทางปิดกั้น เมื่อไม่เป็นทางปิดกั้น เราก็เจริญกุศลได้ จึงเรียกว่า ข้อที่ ๓ บรรเทาความสงสัย เราต้องฟังแล้วฟังอีกว่า อันนี้จริงหรือเปล่า อันนี้เท็จหรือเปล่า ประกอบด้วยเหตุผล เราก็ไม่สงสัยแล้วเจริญธรรมถูกต้อง