ปัญญา ๓ ขั้นเกิดพร้อมกันได้มั้ย


    อ.กฤษณา ที่นี้ในตอนแรกได้เริ่มประเด็นไว้ ๓ อย่างของปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ปัญญาที่เกิดจากการคิด จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภาวนา ภาวนามยปัญญา อยากจะขอเรียนถามท่านอาจารย์ ปัญญาที่เกิดจากการฟังคือ สุตมยปัญญาก็ดี หรือว่าปัญญาที่เกิดจากการคิด จินตามยปัญญาก็ดี หรือว่าภาวนามยปัญญาก็ดี ๓ อย่างนี้จะเกิดพร้อมกันไปในเวลาเดียว หรือว่าจะต้องเกิดที่ละขั้นตอน เพราะว่าตามความคิดเห็นส่วนตัวของดิฉัน ในขณะที่ฟังพระธรรม คือ ฟังไม่ใช่เพียงได้ยิน ปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ถ้าไม่คิดใคร่ครวญไตร่ตรองตามไปด้วย เพราะฉะนั้นในขณะที่ฟังพระธรรม เมื่อคิดใคร่ครวญไตร่ตรองตามไปด้วย ในขณะนั้นก็ควรจะเป็นจินตามยปัญญา ควบคู่ไปด้วย แล้วเมื่อเกิดปัญญาในขั้นการฟังพิจารณาคิดไตร่ตรองแล้ว ก็เรียกว่าปัญญาเจริญขึ้น ก็ควรจะเป็นภาวนามยปัญญาด้วย เพราะว่าความหมายของภาวนาก็คืออบรมเจริญ

    ทีนี้ปัญญาทั้ง ๓ อย่างไม่น่าจะเป็นคนละขั้นตอน ไม่ทราบว่าความคิดเห็นของดิฉันจะผิดหรือถูก ขอเรียนท่านอาจารย์สุจินต์ช่วยแนะนำแก้ไขด้วย

    ท่านอาจารย์ ก็เกื้อกูลกัน เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการฟังเลยจะเอาอะไรมาคิด

    อ.กฤษณา ถ้าฟังแล้วให้เกิดปัญญา เป็นสุตมยปัญญาต้องควบคู่ไปกับจินตามยปัญญา ที่คิดไปด้วยหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าทำไมต้องใช้คำว่าควบคู่

    อ.กฤษณา คือคิดว่าเป็นไปในขณะเดียวกัน เวลาเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ

    อ.กฤษณา ค่ะ ใน ๑ ขณะเดียวกันเป็นทั้งสุตมยปัญญา และจินตมยปัญญา ได้ไหมคะ ทั้ง ๒ อย่างเวลาเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ ที่จริงจิตเกิดดับเร็วมากเกินกว่าที่เราจะคิด ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่า พร้อมๆ กันไปเลย แต่ความจริงแล้วจิตประเภทใดเกิดก็เป็นประเภทนั้น อย่างจิตที่ได้ยินไม่ใช่จิตที่คิดเรื่องราว เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องไปคิดว่า คู่กันไป ควบคู่กันไปหรือไม่ เพียงแต่ให้เราทราบว่ามีปัญญาต่างระดับ คือ ปัญญาขั้นฟัง สำหรับผู้ที่เป็นสาวก แล้วจะไม่ฟังพระธรรม แล้วคิดเอาเองไม่มี

    เพราะฉะนั้นถ้าใช้คำว่า จินตามยญาณ บางแห่งจะแสดงว่าเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่าพระองค์ทรงตรึก แล้วก็พิจารณาสภาพธรรม แต่ว่าสำหรับเราซึ่งเป็นสาวก ไม่ว่าเราจะคิดเรื่องธรรมต้องมาจากการฟัง สุตมยปัญญา แต่ไม่ใช่ว่าเราก็จะไม่มีจินตามยปัญญาเสียเลย มี แต่ว่าระดับนั้นก็ต้องอาศัยเนื่องมาจากการฟังนั่นเอง ซึ่งถ้าไม่มีการฟังแล้ว เราจะมานั่งตรึกว่า สัมปฏิจฉันนะ

    ปัญจทวาราวัชชนะ เป็นมโนธาตุ ต่างกับธาตุอื่นๆ ก็เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่เป็นสาวก ไม่ว่าจะตรึกนึกคิดใดๆ ก็ต้องสืบเนื่องมาจากการฟังธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถึงแม้จะใช้คำว่าจินตามยปัญญา ก็เป็นระดับขั้นที่ต่างกันมากทีเดียว ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่ว่ามีเป็นส่วนน้อยมาก เทียบแล้วก็เล็กน้อย

    อ.กฤษณา แล้วภาวนามยปัญญาจะต้องเป็นในระดับขั้นที่เป็นวิปัสสนาญาณหรือเปล่า หรือในระดับที่สุตมยปัญญา ภาวนาก็เกิดได้ หรืออย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจคำว่า “ภาวนา” หมายความว่าอบรม ทำให้ธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น แล้วธรรมที่เกิดขึ้นแล้วเจริญขึ้น จึงใช้คำว่าภาวนา แสดงว่าปัญญาเพียงชั่วขณะ ๒ ขณะไม่พอ แม้ว่าเกิดเพียงครั้งเดียวก็จะต้องอบรมอีก ให้มากขึ้นอีก ให้เจริญขึ้นอีก จนกว่าที่จะถึงระดับที่เป็นโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้นภาวนามยปัญญาคือ ขณะใดที่สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วเข้าใจ ค่อยๆ อบรม จนกระทั่งเป็นความเข้าใจถูกต้องในลักษณะนั้น นั่นเป็นภาวนามยปัญญา

    อ.กฤษณา เพราะว่าปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น

    ท่านอาจารย์ ขณะที่สติระลึก


    หมายเลข 9088
    14 ส.ค. 2567