คิดแล้วเข้าใจคือปัญญา


    ผู้ฟัง เวลาอาจารย์อธิบายธรรมหรือว่าสาธยายธรรม อาจารย์อธิบายจากสิ่งที่อาจารย์เห็น คือ พูดจากความเห็น หรือพูดจากความคิด แล้วผู้ฟังควรจะสร้างภาพให้เห็นไปกับความเห็นนั้นด้วย หรือว่าคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ต้องเลยค่ะ ฟังธรรมอย่างเดียว ไม่ต้องคิดวิจัย วิจารณ์เรื่องอื่นเลยว่าสิ่งที่ได้ฟัง เข้าใจทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องขึ้นไหม เท่านั้น

    ผู้ฟัง ตกลงก็ไม่สามารถจะบอกได้ว่าคิดก่อนพูดหรือว่าเห็น พูดจากสิ่งที่เห็นโดยไม่ต้องคิด

    ท่านอาจารย์ คำว่า “ก่อน” ไม่น่าจะมี เพราะว่าจิตเกิดดับสลับกันเร็วมาก

    ผู้ฟัง คือผมนึกว่า มนุษย์ส่วนมากติดกับความคิด เพราะฉะนั้นเวลาจะพูดอะไรก็ต้องคิดก่อน แต่มันมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ให้คนเข้าใจ หมายความว่า เราเห็นเหมือนกับว่าเราเห็นภาพยนตร์ แล้วก็เล่า แล้วก็พูดออกมาจากสิ่งที่เห็น ผู้ฟังควรจะทำตัวอย่างไร ในประเด็นนี้เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ พูดโดยไม่คิดไม่มีใครทำได้ ใช่ไหมคะ

    ผู้ฟัง ครับ ต้องคิด

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะพูดอะไรก็ตาม แสดงถึงว่า จิตขณะนั้นเป็นอย่างไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลจากคำที่พูด ประกอบด้วยปัญญาหรือไม่ประกอบด้วยปัญญาที่ทำให้จิตพูดหรือคิดอย่างนั้น เพราะฉะนั้นคนฟัง ขณะที่ได้ยินก็พิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน ให้ถูกต้อง ถ้าได้ยินสิ่งที่ผิดก็รู้ว่าผิด ถ้าได้ยินสิ่งที่ถูกก็รู้ว่าถูก ไม่ใช่เชื่อตาม

    ผู้ฟัง ต้องพิจารณาตามไปด้วย

    ผู้ฟัง ปัญญาเกิดจากการคิด ตีออกมาให้ออกว่า คิดเรื่องราว หรือระลึกรู้ลักษณะ

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น เพียงแต่ว่าการคิดการไตร่ตรอง แล้วเข้าใจธรรม

    อ.กฤษณา คิดแล้วให้เกิดความเข้าใจ

    ผู้ฟัง รู้อย่างไรว่า เราเข้าใจถูก ว่าสิ่งนั้นเป็นปรมัตถธรรมแน่นอน แต่ถ้าโกรธ ดีใจ ผมคิดว่าเป็นชีวิตประจำวัน ทุกท่านพอมีสติก็คงเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ค่ะ ก็คิดแล้วเข้าใจเมื่อไร เมื่อนั้นคือปัญญาที่เกิดจากการคิดไตร่ตรอง

    ผู้ฟัง จะมีลักษณะไม่สงสัยเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เข้าใจค่ะ

    ผู้ฟัง ขอบคุณครับ


    หมายเลข 9089
    14 ส.ค. 2567