จิตที่เกิดแต่ละครั้งมีกำลังไม่เสมอกัน
ผู้ฟัง เราพูดเรื่องอสังขาริก สสังขาริก เป้าหมายเพื่อให้รู้อะไร อันนี้ยังสับสนอยู่
ท่านอาจารย์ ต้องพูดเป็นเรื่องๆ แม้แต่ลำดับภูมิ อย่างกามาวจรจิตเท่านั้นที่มีอสังขาริก สสังขาริก แล้วก็เฉพาะอกุศลจิต แล้วก็สำหรับทางฝ่ายกุศลก็เป็นมหากุศลหรือมหาวิบาก มหากิริยา เฉพาะกามาวจรจิต เพราะฉะนั้นก็ต้องเรียนตามลำดับ แต่ว่าก่อนอื่นใดทั้งสิ้น ก็ให้ทราบว่า จิตไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม เป็นจิตประเภทที่มีกำลังแรงกับประเภทที่มีกำลังอ่อน หรือว่าอ่อน ไม่มีกำลัง ไม่ว่าจะเป็นทางฝ่ายกุศลหรือทางฝ่ายอกุศล แล้วเราก็พิจารณาว่าจริงไหม จิตนี้มีกำลังเสมอกันทุกครั้งหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือโทสะ หรือทางฝ่ายกุศล
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าโลภะบางครั้งมีกำลังแรง บางครั้งก็เป็นโลภะธรรมดาๆ ไม่มีกำลังแรง แล้วก็สำหรับกุศลก็เช่นเดียวกัน บางครั้งก็เป็นกุศลที่มีกำลัง บางครั้งก็เป็นกุศลธรรมดาๆ เพราะฉะนั้นก็ให้ทราบความหมายของอสังขาริก และสสังขาริก ในเรื่องของกำลังก่อน แล้วก็ค่อยๆ แยกไปว่า โลภะมีจริง ที่มีกำลังก็มี ไม่มีกำลังก็มี เพราะฉะนั้นมีทั้งสสังขาริก อสังขาริก โทสะก็เช่นเดียวกัน แล้วทางฝ่ายกุศล วิบาก กิริยา ก็เช่นเดียวกัน
ผู้ฟัง ก็ได้ขอสรุปแล้วว่าเป็นกามาวจรจิตเท่านั้น
ท่านอาจารย์ สำหรับจิตบางประเภทไม่มีการที่จะต้องมีกำลังหรือไม่มีกำลังเลย อย่างจักขุวิญญาณจิต หรืออเหตุกจิตทั้งหมด ไม่ได้แยกว่าจักขุวิญญาณนี้มีกำลัง จักขุวิญญาณนั้นไม่มีกำลัง หรือโสตวิญญาณนี้มีกำลัง โสตวิญญาณนั้นไม่มีกำลัง ไม่มี สำหรับอเหตุกจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้นถ้าเราพิจารณาในเหตุผลจริงๆ เราก็พอจะทราบเพราะเหตุใด ทรงแสดงสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ให้เราพิจารณา ไม่ใช่ให้เราเกิดความสงสัย แล้วอยากจะรู้โดยที่ว่า สติสัมปชัญญะไม่เกิด แล้วก็จะไปรู้ได้ อย่างไรว่าขณะนี้เป็นประเภทอสังขาริกหรือว่า สสังขาริก
ผู้ฟัง อย่างอเหตุกจิต ๑๘ ดวง ถือว่าเป็นอสังขาริก หรือสสังขาริก อเหตุกจิต
ท่านอาจารย์ สำหรับอเหตุกจิตเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยเฉพาะของตนๆ ต้องเกิด อย่างไรก็ต้องเกิด ไม่มีที่จะว่าอ่อนหรือกล้า โดยประเภทจัดเป็นประเภทอสังขาริก
อ.กฤษณา มีคำถามอีกไหมคะ เกี่ยวกับอสังขาริก สสังขาริก ถ้าไม่มี คิดว่าการจำแนกจิตโดยประเภทของสังขาร เราก็คงจะไว้เพียงเท่านี้ แล้วก็จะเลื่อนไปสู่ จำแนกจิตโดยเหตุ โดยนัยแห่งเหตุ
ท่านอาจารย์ ขอพูดนิดหนึ่งเรื่องอสังขาริก สสังขาริก คงจะไม่มีใครกลับไปนอนคิดให้วุ่นวายในเรื่องของอสังขาริกกับสสังขาริก เพราะเหตุว่าแล้วแต่สภาพของจิตขณะนี้ ควรที่สติสัมปชัญญะจะเข้าใจให้ถูกต้องในลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ดีกว่าที่จะไปนั่งคิดเปล่าๆ ไปว่า สสังขาริกเป็นอย่างนี้ หรืออสังขาริกเป็นอย่างไร หรืออะไรอย่างนี้ เพราะเหตุว่าทั้งหมดของการฟัง ไม่ว่าจะในชาติก่อน รวมมาถึงชาตินี้ ก็เพื่อเป็นสังขารขันธ์ที่สติสัมปชัญญะจะเกิด แล้วก็รู้จักตัวจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เพียงแต่รู้จักเรื่องราว หรือว่ารู้จักเพียงชื่อ แล้วก็ไปคิดแต่เรื่องราวกับชื่อ โดยที่สติสัมปชัญญะไม่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่าทางตากำลังเห็น มีจริงๆ แล้วก็เป็นสภาพที่กำลังรู้ด้วย เป็นธาตุรู้ แยกขาดจากสีสันวัณณะที่กำลังปรากฏ
นี่เป็นของที่แน่นอนว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรม นี่เป็นสิ่งซึ่งสามารถจะรู้ได้ ประจักษ์ได้ เพราะฉะนั้นที่ฟังมาทั้งหมดก็เพื่อที่จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติระลึกที่นี่ ขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้นก็คงจะเข้าใจจุดประสงค์ของการฟัง แล้วก็คงจะไม่ไปคิดวุ่นวายเรื่องของอสังขาริก สสังขาริก
อย่างพระโสดาบันบุคคลท่านสามารถที่จะประจักษ์ในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมโดยทั่วเท่านั้น แต่ว่าท่านจะไม่เหมือนกับผู้ที่ประกอบด้วยความรู้ความสามารถที่จะแทงตลอด จนกระทั่งขณะที่รวดเร็วของสสังขาริก มีถีนมิทธะ ไม่มี
ถีนมิทธะ หรืออะไรอย่างนั้น เพียงแต่ว่าให้สามารถที่จะให้รู้จริงๆ ว่า ไม่ว่าจะเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด อยู่ในสถานการณ์ใด สภาพธรรมใดที่กำลังปรากฏ ไม่มีความสงสัยเลยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ส่วนพระโสดาบันที่ต่างกันไปก็เพราะเหตุว่าแล้วแต่กำลังของสติปัญญาที่ท่านสะสมมาว่า จะมากน้อยประการใด ถ้าท่านสะสมปัญญามามาก ท่านก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สติกำลังระลึก ไม่ว่าจะเป็นสสังขาริก หรืออสังขาริก โดยไม่ใส่ชื่อเลย เพราะเหตุว่าเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ ไม่มีการใส่ชื่อ สภาพธรรมนั้นจะเป็นสสังขาริก ก็ปรากฏได้ สภาพธรรมนั้นจะเป็นอสังขาริก ก็ปรากฏได้ แต่ปัญญาจะต้องคมที่จะรู้แล้วละความสงสัย ความไม่รู้ ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน