ความมืดของจิต
ผู้ฟัง ในอัฏฐสาลินีท่านบอกว่า โมหะเป็นลักษณะเหตุให้หลง หรือด้วยสำคัญว่าหลงเอง หรือด้วยอรรถที่ว่า เป็นเพียงความหลงเท่านั้น ในข้อที่ ๑ ท่านบอกว่า มีความมืดของจิตเป็นลักษณะ คือ มีความไม่รู้ตามความเป็นจริงตามลักษณะ ลักษณะความมืดของจิตเป็นลักษณะ หรือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริงเป็นลักษณะ ลักขณาทิจตุกะอันนี้เป็นเหตุหนึ่งในจำนวนของ ๖ เหตุที่ท่านแสดงไว้ ในความหมาย มืดของจิต คงจะอุปมาในลักษณะของรูปธรรมเข้าไปด้วย คือเอาแสงสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ความมืด ที่จริงแล้วลักษณะของจิต ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร อันนี้ผมเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ลองขยายความลักขณาทิจตุกะ ที่ว่าความมืดของจิตเป็นลักษณะ
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะใดที่มีอวิชชาหรือโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นก็ไม่รู้ลักษณะความจริงของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่าโลภะไม่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏได้ โทสะ โมหะ และอกุศลอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่าสภาพของโมหะไม่ใช่สภาพที่ติดข้องอย่างโลภะ แล้วไม่ใช่สภาพที่เดือดร้อนใจ ประทุษร้ายใจอย่างลักษณะของโทสะ แต่โมหะคือสภาพที่ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง อย่างในขณะนี้กำลังเห็น สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า เป็นวิชชาหรืออวิชชาหลังจากที่เห็นแล้ว เพราะเหตุว่าทั้งๆ ที่เห็น ก็เห็นกันอยู่ แต่ว่าเห็นเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วยังเป็นลักษณะอาการของธาตุซึ่งเป็นนามธาตุ ซึ่งไม่ใช่รูปธาตุ เป็นแต่เพียงอาการรู้ หรือลักษณะรู้เท่านั้น ทั้งๆ ที่ขณะนี้มีแสงสว่างแล้วก็สีต่างๆ ถ้าจะกล่าวว่า มีแสงสว่าง ทุกคนก็รู้ว่า กำลังเห็น แล้วก็มีสีต่างๆ แต่ที่จะรู้ตามความเป็นจริงว่า ไมใช่ใครเลยสักคนเดียว ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นวัตถุที่เที่ยง แต่เป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งสิ่งนี้กระทบตาปรากฏแล้วดับอย่างรวดเร็ว ถ้ารู้อย่างนี้ก็เป็นวิชชา หรือว่าถ้าเข้าใจถูกขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จากการฟัง ก็เป็นการเริ่มต้นของปัญญาที่จะรู้ว่า ความจริงเป็นอย่างนี้ เราอาจจะเคยเข้าใจว่า มีคน แต่จริงๆ แล้วถ้าจิตไม่เกิด ไม่มีการเห็น จะมีอะไรปรากฏ จะมีจิตที่คิดนึกต่อไปไหมว่า สิ่งที่กำลังเห็นคืออะไร
เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องของจิตแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อกัน แล้วด้วยอวิชชานี้เอง เมื่อไม่เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงก็ยึดถือสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด บางคนก็ยึดถืออย่างมั่นคง ถ้าจะไปพูดกับคนที่ตางลัทธิ ต่างความเชื่อ ต่างศาสนา เขาจะไม่เห็นความจริงเลยว่า สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นจริงอย่างนี้ที่ควรจะรู้ เขาก็ไปมีความเห็นอย่างอื่นว่า ต้องมีผู้สร้างแน่นอน ต้องมีคนแน่นอน นี่คืออวิชชาทั้งหมด
ผู้ฟัง เขาคิดเอาหรือเปล่า เป็นเรื่องของความคิดมากกว่า
ท่านอาจารย์ ทุกคนก็คิดทั้งนั้น
ผู้ฟัง เขาคิดในเรื่องที่ว่าหาเหตุเดิมว่า ทำไมเราเกิดมา เกิดมาเพราะอะไร คิดไปๆ ไปจนว่า อย่างนั้นต้องมีผู้สร้าง เพราะอะไรๆ ก็สร้างทั้งนั้น เราจะเกิดมา เราก็มีผู้สร้าง มีบิดามารดาเป็นที่เกิดของเรา เขาคิดต่อไป มนุษย์คนแรกๆ ที่สร้างขึ้นมาก็คงจะต้อง ไปจุดจบที่ว่า ต้องมีผู้สร้างแน่ๆ อย่างนี้เป็นความคิดอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ว่าศาสนาไหน ลัทธิไหนก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้นก็มีความเชื่อละม้ายคล้ายคลึงกัน เช่น เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเชื่อในบุคคลบางคนว่าเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ความคิดก็คิดไปในเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นการรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นแม้แต่ขณะนั้นที่คิดก็คิดด้วยความไม่รู้ เป็นอวิชชา เป็นอกุศล แต่ต้องเป็นความเข้าใจจริงๆ อย่างโลภะเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพที่ติดข้องต้องการ บางคนก็บอกว่าดี ถ้าไม่มีโลภะ โลกก็ไม่เจริญ ไม่มีการที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ แสดงว่าไม่เห็นตัวโลภะตามความเป็นจริงว่า ความติดข้องเป็นโทษเป็นอกุศล ไม่ใช่เป็นฝ่ายกุศล
ผู้ฟัง ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง เป็นผลที่ว่ามืดมนอันธกาล อันนี้บอกไว้ว่ามีความไม่ปฏิบัติชอบเป็นผล ปฏิบัติชอบในที่นี้ หมายถึง
ท่านอาจารย์ เป็นผล หรือเป็นอาการที่ปรากฏ คือไม่เป็นกุศล
ผู้ฟัง ผลนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเรา ที่เราประพฤติปฏิบัติในการกระทำทุกๆ วัน แล้วก็เป็นผลออกมา เพราะว่าเราไม่ปฏิบัติชอบ
ท่านอาจารย์ อันนี้เอาตัวต่อๆ ไป แล้วก็เอาสภาพธรรมที่เป็นธรรมแต่ละอย่างขึ้นมา อย่างโมหะ เป็นเจตสิก เป็นนามธรรม เป็นสภาพที่ไม่รู้ อย่างเรื่องของความมืดเมื่อกี้นี้ก็พอจะเห็นได้ว่า ขณะนี้เรารู้สึกว่า มีแสงสว่างบ้างหรือยัง ถ้าจะเทียบอาการของโมหะ ว่า โมหะคือการไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง
ตอนที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ก็ไม่มีใครรู้เรื่องของนามธรรมกับรูปธรรม ไม่มีใครรู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุหรือธรรมแต่ละชนิดซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เพียงฟังแค่นี้ ยังไม่ได้ประจักษ์ตัวจริงๆ ของธรรม แต่เริ่มเข้าใจลางๆ เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่า ความมืดก็คือความไม่รู้ ความไม่รู้ไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจถูก ความเห็นถูกใดๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏได้เลย เมื่อไม่มีความเห็นถูกแล้วก็ย่อมแทงตลอดไม่ได้ และอาการที่ปรากฏก็คือว่า ย่อมทำสิ่งซึ่งไม่เป็นกุศล ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่ามีความไม่รู้เป็นอกุศลที่ปิดบังไม่ให้มีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ประพฤติปฏิบัติไปก็เป็นอกุศลส่วนใหญ่
ท่านอาจารย์ อาการที่ปรากฏของโมหะ ก็คือว่า ขณะนั้นไม่เป็นกุศล เวลาที่โมหะเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นอกุศล
ผู้ฟัง อกุศลเกิดจากการที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ถึงแม้จะปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ เราไม่ต้องพูดถึงปฏิบัติก็ได้ ขณะใดที่อกุศลเกิด ขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังไม่ต้องไปปฏิบัติเลย เพียงแต่อกุศลจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตก็ตาม ขณะนั้นมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว ยังไม่ต้องปฏิบัติ อาการปรากฏ ผลก็คือว่า ขณะนั้นไม่เป็นกุศล
ผู้ฟัง เพราะตัวโมหะล้วนๆ ไม่มีหรือครับ เวลาปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ เจตสิกต้องเกิดกับจิต แล้วก็จิตที่เป็นอกุศลแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือโลภมูลจิตประเภทหนึ่ง มีโมหเจตสิกกับโลภเจตสิก ๒ เหตุ โทสมูลจิต มีโมหเจตสิกกับโทสเจตสิก ๒ เหตุ แล้วก็มีจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นอกุศล คือ โมหมูลจิต มีแต่โมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง อย่างเดียวเท่านั้นเอง
ท่านอาจารย์ ไม่นับเจตสิกอื่น นับเฉพาะเหตุ
ผู้ฟัง แสดงว่าแรงมาก ลักษณะของโมหะล้วนๆ เลย เจตสิกนี้ประกอบ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว โมหะล้วนๆ จะแรงไม่ได้ เพราะว่าไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ต้องอ่อนกว่า