ไม่แยบคายจึงเป็นอกุศล


    ผู้ฟัง เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ในลักขณาทิจตุกะ ก็คือลักษณะของโมหะเป็นลักษณะของอโยนิโสมนสิการ ท่านว่าอย่างนั้น ที่นี้กราบเรียนถามท่านอาจารย์สมพรว่า อันนี้เป็นเหตุใกล้

    อ.สมพร อโยนิโส แปลว่าโดยไม่แยบคาย คือไม่แยบคายเป็นปัจจัยให้อกุศลทั้งหมดเกิด ไม่ใช่เฉพาะโมหะอย่างเดียว อกุศลทั้งหมดที่เกิด อกุศลจิตทั้งหมดก็มี ๑๒ โลภมูลจิต ๘ โทสมูลจิต ๒ โมหมูลจิต ๒ ทั้งหมดเลยอาศัยอโยนิโสมนสิการเกิดขึ้น เพราะว่าพิจารณาโดยไม่ถูกทาง คือไม่แยบคาย กิเลสก็เกิดขึ้น ไม่ใช่เฉพาะโมหะอย่างเดียว

    ผู้ฟัง อาจารย์สุจินต์ครับ ช่วยกรุณาขยายส่วนของผู้ที่มีลักษณะอโยนิโสมนสิการ สภาพความรู้สึกเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากก็จะติดชื่อภาษาบาลี แล้วรู้สึกว่าบางคนก็อยากจะใช้ พอได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ อโยนิโสมนสิการ ก็เลยไม่ใช้คำภาษาไทยกัน แต่จริงๆ แล้วขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเพราะอโยนิโสมนสิการ ไม่ใส่ใจโดยความถูกต้อง เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นอกุศล โดยแยบคายก็คือโดยเหตุโดยผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง โดยแยบคายคือความละเอียดของการพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะให้ง่าย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเวลานี้ อย่างจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นความละเอียดจริงๆ ซึ่งใครจะรู้ลักษณะของมนสิการเจตสิก ใครจะรู้ลักษณะของผัสสเจตสิก ใครจะรู้ลักษณะของสัญญาเจตสิก หรือว่าเอกัคคตาเจตสิก ชีวิตินทรียเจตสิก ก็ล้วนแต่เป็นชื่อ แต่ให้ทราบว่า เพียงชั่วขณะจิตเดียวซึ่งเกิดมีปัจจัยคือเจตสิกที่ต้องเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยถึง ๗ ดวง

    เพราะฉะนั้นเวลาที่เป็นอกุศลจิตเกิดขึ้น ก็มีเพิ่มขึ้นมาอีก คือต้องมีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า อโยนิโสมนสิการ ก็คือเจตสิกหนึ่งซึ่งกระทำกิจใส่ใจในอารมณ์โดยไม่แยบคาย เพราะเหตุว่าเกิดร่วมกับอกุศลธรรม เกิดกับอกุศลจิต เพราะฉะนั้นก็เป็นอโยนิโสมนสิการ ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปทำ หรือเราพยายามจะทำ แต่ว่าขณะใดก็ตามซึ่งสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ให้ทราบว่าเพราะอะไร เพราะไม่แยบคาย ในการที่พิจารณาหรือรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศล ถ้าแยบคายก็เป็นกุศล เท่านั้นค่ะ

    ผู้ฟัง ก็คงไม่ต้องไปรู้ว่า เจตสิกเกิดขึ้น ๗ ดวงแล้วนะ ตอนนี้ เลยไม่แยบคายเลย ก็คงไม่ต้อง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วรู้เพื่อที่จะละความยึดถือว่า การที่ทรงแสดงจิตหลายประเภท แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่มีจิตดวงเดียว แล้วก็มีจิตต่างๆ กันตามเหตุตามปัจจัย ตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ให้เห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ เพื่อที่ว่าเราจะได้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น โดยขั้น ของแม้การฟังว่า แท้ที่จริงขณะนี้ก็คือจิตหลายๆ ชนิด หลายๆ ประเภท ซึ่งเกิดดับสืบต่อ กัน บางประเภทเป็นกุศล บางประเภทเป็นอกุศล บางประเภทก็เป็นวิบาก

    ที่แสดงว่ามนสิการไม่ใช่เวทนาเจตสิก ไม่ใช่ผัสสเจตสิก ไม่ใช่สัญญาเจตสิก เพราะเหตุว่าเจตสิกนี้มีกิจใส่ใจในอารมณ์ แม้ว่าจะเล็กน้อยสักแค่ไหน ขอให้คิดดูถึงขณะจิตที่แสนสั้นที่เกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เวทนาก็สั้นมาก เจตนาก็สั้นมาก ชีวิตินทรีย์ก็สั้นมาก เจตสิกทุกเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตนี้สั้นมาก แม้แต่มนสิการ การใส่ใจในอารมณ์ก็ต้องสั้นด้วย ทีนี้พูดถึงเรื่องของกุศล และอกุศล จะเห็นได้ว่าขณะใดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นมนสิการจะเป็นโยนิโสมนสิการไม่ได้ ต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ

    เพราะฉะนั้นเราก็ไม่ต้องพยายามที่จะไปเฟ้นว่ามันเป็นอะไร จิตหรือเจตสิก หรือหน้าที่ของอะไรตรงไหน แต่ว่าเมื่อสภาพธรรมเกิดรวมกัน แล้วขณะนั้นก็มีมนสิการเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้นจะกล่าวว่า มนสิการเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต เป็นโยนิโสมนสิการไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นอโยนิโสมนสิการ

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นหน้าที่ของมนสิการในที่นี้ ที่เป็นอกุศล ก็ต้องเป็นอกุศลตามไปด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นเกิดกับกุศลจิต ขณะนั้นเจตสิกทั้งหมดต้องเป็นกุศล ถ้าขณะที่อกุศลเจตสิกเกิด จิต และเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมกันก็ต้องเป็นอกุศลด้วย

    ผู้ฟัง คือตามกันไป

    ท่านอาจารย์ เหมือนกันหมด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นเจตสิกอันนี้ก็เกิด ไม่ว่าจิตชนิดไหนเกิดขึ้นก็มีมนสิการเกิดขึ้นร่วมไปด้วยทุกครั้ง ก็คงชัดเจนขึ้น

    ท่านอาจารย์ เป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก แต่ต้องคิดถึงเจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยอีก


    หมายเลข 9099
    14 ส.ค. 2567