อยากรู้ลักษณะของโมหะ


    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถาม ลักษณะของจิตที่เป็นโมหะ สังเกตได้อย่างไร คือถ้าเผื่อเป็นโลภ เราก็พอจะรู้ว่าติดข้อง ต้องการ เป็นโกรธ มันมีลักษณะหยาบกระด้าง ไม่สบายใจ โมหะคืออะไร

    ท่านอาจารย์ สภาพของโมหมูลจิต ก็คือขณะใดที่ไม่มีโลภเจตสิกเกิดด้วย ไม่มีโทสเจตสิกเกิดด้วย แล้วขณะนั้นเป็นอกุศล ก็ต้องเป็นโมหเจตสิกนี่แน่นอน

    ผู้ฟัง ที่นี้ถ้าเราจะคิดต่อไปอีก พอมีความสงสัย มันจะต้องเป็นโมหะแน่ๆ เพราะว่าเป็นวิจิกิจฉาสัมปยุตต์ เราจะสังเกตอันนี้ได้หรือเปล่า ท่านอาจารย์สมพร สังเกตอันนี้ได้ไหมคะ

    อ.สมพร สงสัยในธรรม ๘ ประการนั้น ขณะที่สงสัย ความสงสัยนั้นเกิดจากโมหะ เมื่อจิตที่สงสัยสัมปยุตต์กับโมหะ หมายความว่ามีโมหะเป็นปัจจัย แล้วก็ความสงสัยก็ไม่รู้ตามความเป็นจริง โมหะปกปิดความเป็นจริง แต่ว่าสามารถจะรู้สิ่งที่ไม่เป็นจริงได้ เช่น รู้ในบัญญัติต่างๆ มีความแตกฉานในบัญญัติต่างๆ ก็สามารถจะรู้ได้ แต่รู้ตามความเป็นจริง รู้ไม่ได้ โมหะรู้ไม่ได้ รู้ในบัญญัติต่างๆ รู้ได้เลย

    ผู้ฟัง คือตัวดิฉันเองมันหาไม่เจอว่า ตัวโมหะอยู่ที่ไหน ก็เลยมาสังเกตเอาตัวสัมปยุตต์เอาว่า ถ้าเราสงสัย นั่นแหละ คือโมหะแล้ว อันนี้จะเป็นทางที่สังเกตได้ไหม

    ท่านอาจารย์ คุณสุรีย์ เคยเผลอไหมคะ

    ผู้ฟัง เผลอ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นโลภะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นโทสะหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นภวังค์หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง ค่ะ ขอบพระคุณค่ะ

    ผู้ฟัง ที่เผลอเป็นโมหะ ชัดเจนครับ อันนี้ถ้าผลอยหลับไปเลย เป็นไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องที่เราจะพูดโดยชื่อ เพราะฉะนั้นขณะใดซึ่งดูเสมือนกับไม่ใช่โลภะ แต่เป็นโลภะอย่างบางเบาก็ได้ หรืออาจจะเป็นจิตประเภทอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องสติสัมปชัญญะเท่านั้น ที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง คือมันผลอยไปแล้ว สติก็ไม่มี มารู้ทีหลังตั้งหลายวัน

    ท่านอาจารย์ ก็อย่างนี้ ก็อย่างที่ว่า ขณะนั้นเป็นโลภะใช่ไหม เป็นโทสะใช่ไหม เป็นกุศลใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ก็ต้องเป็นโมหะ

    ผู้ฟัง ต้องมาไล่ทีละอย่างๆ

    ท่านอาจารย์ เกือบไม่ต้องไล่ เพราะว่ามันมีสภาพธรรมอย่างนี้อยู่ เพียงแต่เราอยากจะใส่ชื่อเหลือเกิน ว่าเราจะเอาชื่ออันนี้ไปลงตรงไหนดี

    ผู้ฟัง คือสภาวะมีอยู่ แต่ว่าเพื่อจะได้เข้าใจ ก็เอาชื่อ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเข้าใจให้ชัดๆ ก็คือขณะใดที่ไม่ใช่โลภะ ไม่ใช่โทสะ แล้วก็ไม่ใช่กุศล ไม่ว่าอาการใดๆ จะเกิดขึ้นทั้งสิ้น อย่างโลภะพอจะสังเกตได้ เป็นสภาพที่ติดข้อง ต้องการ โทสะ ขณะนั้นก็ตรงกันข้าม คือ ปฏิเสธ หรือประทุษร้าย ไม่ชอบ ขุ่นเคือง ถ้าขณะใดกุศลก็ไม่ใช่ โลภมูลจิตก็ไม่ใช่ โทสมูลจิตก็ไม่ใช่ ขณะนั้นใครจะเรียกว่าอะไร จะใช้คำว่าอะไร มีกิริยาอาการ มีสภาพอย่างไร ขณะนั้นคือโมหมูลจิต

    ผู้ฟัง ครับ อย่างนั้นก็ต้องตัดสินด้วยสติสัมปชัญญะ สติปัฏฐานของท่าน แต่ละท่าน จึงจะรู้ความเป็นจริงในขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วจิตก็ไม่รอ คือเร็วมาก เกิดแล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้นจะไปคอยจ้องคอยจับก็ไม่ได้ แต่ว่าเป็นการค่อยๆ เข้าใจขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ว่า สภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วสติเริ่มระลึก ขณะที่เริ่มระลึก จะรู้ได้ว่าไม่ใช่เราเลือก เพราะฉะนั้นอย่าไปจงใจจะหาโมหมูลจิต หรือว่าอยากจะรู้ว่า โมหมูลจิตเป็นอย่างไร ขณะนั้นไม่ใช่ทางที่จะเข้าใจสภาพธรรม แต่ทางที่จะเข้าใจสภาพธรรมก็คือว่า ไม่มีใครสามารถที่จะสร้าง หรือทำให้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเกิดเลย แม้ในขณะนี้เอง แยกโดยละเอียดย่อยลงไปเป็นเสี้ยววินาที สภาพธรรมที่เกิด เกิดเพราะปัจจัยปรุงแต่งทั้งสิ้น ไม่ใช่เพราะว่าเราอยาก หรือเราต้องการ หรือเราควรจะรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเวลาที่สติเริ่มที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมต้องเข้าใจว่า ธรรมในพระพุทธศาสนาเพื่อรู้แล้วละ แต่ว่าถ้ามีความต้องการเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นตรงกันข้ามไม่ใช่เป็นตามแนวหรือตามคลองของพระธรรมเสียแล้ว เพราะเหตุว่าด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความต้องการ

    เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ ว่า พุทธศาสนาไม่ใช่เรื่องร้อนใจ ไม่ใช่เรื่องเป็นห่วง ไม่ใช่เรื่องกังวล ไม่ใช่เรื่องอยากรู้ แต่ว่าเป็นเรื่องที่เริ่มที่จะเข้าใจธรรม แล้วถ้าเป็นความเข้าใจถูกต้องจริงๆ ก็จะต้องรู้ว่า ขณะนั้นเป็นความเข้าใจระดับไหน ระดับที่ฟังแล้วค่อยๆ รู้เรื่อง แล้วถ้าสามารถที่จะรู้ว่า สติที่เกิดขึ้นมีลักษณะอย่างไร ต่างกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร ก็จะเห็นได้ว่า สภาพธรรมเกินวิสัยที่ใครจะไปทำ มี ปรากฏ แล้วสติระลึก เท่านั้นหมดแล้ว จะไปหาอีก รออีกก็ไม่ได้ จะไปพยายามต้องการจะรู้อย่างนั้นอย่างนี้ก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ อบรมไป แล้วก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ แล้วก็แล้วแต่ว่า ขณะนั้นสติจะระลึกที่สภาพนามธรรมใดรูปธรรมใด


    หมายเลข 9100
    14 ส.ค. 2567