อกุศลจิตมีโมหะเป็นพิ้น


    ผู้ฟัง ผมขอแสดงความคิดเห็นว่าถูกต้องหรือเปล่า คุณกฤษณา เกี่ยวกับในเรื่องของโมหเหตุ ที่โดยปกติแล้วเป็นสาธารณะคือเกิดขึ้นกับอกุศลจิตทุกดวง ทีนี้ในขณะที่โมหเหตุเข้าไปร่วมด้วยโลภมูลจิต ก็มีทิฏฐิคตสัมปยุตต์บ้าง ไม่สัมปยุตต์บ้างแต่ละดวง ส่วนโทสะนั้นไม่ได้พูดถึงทิฏฐิคตะเข้าไปสัมปยุตต์หรือไม่สัมปยุตต์เลย ทีนี้พอมาเป็นจิตที่เป็นกุศล ก็มีอโทสะกับอโลภะ อันนี้เป็นสาธารณะกับจิตที่เป็นกุศลทุกดวง แล้วถามว่า ปัญญาซึ่งเป็นอโมหเจตสิก ทำไมถึงไม่เกิดกับกุศลจิตทุกดวง แทนที่คิดฟัง ฝ่ายอกุศลจิตเขา เจ้าโมหเจตสิกเกิดร่วมกับเขาไปหมดเลย

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจสภาพของโมหะ เป็นความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้อริยสัจ เพราะฉะนั้นเวลาที่อกุศลจิตเกิด เพราะความไม่รู้จึงเป็นอกุศล จึงมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโลภมูลจิต หรือว่ามีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วยเป็นโทสมูลจิต แต่จะปราศจากโมหเจตสิกไม่ได้เลย

    เวลานี้รู้สึกว่า เราจะสลับๆ กันระหว่างจิตกับเจตสิก เวลาพูดถึง ต้องพูดถึงให้ชัดเจนว่า พูดถึงเจตสิก หรือว่าพูดถึงจิต สำหรับโมหเจตสิกเป็นสภาพที่ไม่รู้ สั้นๆ ก็แล้วกัน เข้าใจแล้วว่าไม่รู้อะไร แล้วก็เวลาที่มีโลภะเกิดร่วมด้วย เพราะมีโมหะ จึงมีโลภะ หรือว่าเพราะมีโมหะ จึงมีโทสะ นี่ทางฝ่ายอกุศล แต่เวลานี้มีใครมีปัญญาเป็นพื้นอย่างโมหะบ้าง ที่จะว่าเมื่อเป็นกุศลเกิดขึ้น ก็ต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นก็ต้องทราบลักษณะของเจตสิกซึ่งต่างกันว่า โมหะเป็นสภาพที่ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้เลย ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม แต่ขณะนี้มีใครที่รู้ว่า เป็นนามธรรมที่กำลังปรากฏ ทางตาที่กำลังเห็น หรือว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูป

    เพราะฉะนั้นนี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า เวลาที่มีความไม่รู้ ต้องมีความไม่รู้แล้วก็มี เจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นอกุศลจิตเกิดร่วมด้วย จะปราศจากโมหะไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นอกุศลจิตประเภทไหน เพราะไม่รู้ แต่ทางฝ่ายกุศล ไม่ใช่ว่าเพราะรู้ ก็ยังคงไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่าประกอบด้วยโสภณเจตสิกถึง ๑๙ ประเภท เช่น อโลภะ อโทสะ สติ ศรัทธา พวกนี้ ขณะนั้นจิตที่เป็นกุศลจึงเกิดขึ้นได้ แต่แม้กระนั้นก็ยังไม่ประกอบด้วยปัญญา นอกจากขณะใดที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย กุศลจิตนั้นจึงเป็นญาณสัมปยุตต์ คือประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้นเป็นความต่างกันลิบ ระหว่างโมหเจตสิกกับปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง ก็ยังขืนๆ อยู่นิดหนึ่งว่า ความรู้สึกว่าในเมื่อเราทำทานโดยไม่รู้อะไร หรือ สมาทานศีลโดยไม่ทราบอะไร คือไม่ทราบสภาพของอาการของปัญญาเจตสิกเลย มันก็ยังไม่รู้อะไรอยู่นี่ครับ

    ท่านอาจารย์ ก็ยังมีโสภณเจตสิกอื่น แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีอโลภะ ขณะที่ให้ มีอโทสะ เพราะว่าถ้ายังเป็นโลภะไม่ให้แน่ ถ้ายังมีโทสะก็ไม่ให้เหมือนกัน ขณะนั้นจึงต้องมีทั้งอโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ให้ได้ แต่ว่าขณะนั้นปัญญาเจตสิกไม่ได้เกิดร่วมด้วย เพราะว่าลักษณะของปัญญาเจตสิก ตรงกันข้ามกับโมหเจตสิก

    ผู้ฟัง ผมก็พอเข้าใจด้วยความหมายของเจตสิกนี่ คือหมายความว่าเพียงเข้าใจ เพราะไม่เกิดกับผม ผมไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ โดยมากคิดเทียบเคียง แต่ความจริงสภาพธรรมไม่ใช่โดยการเทียบเคียงอย่างนั้น ไม่ใช่หลักที่จะเทียบเคียง แต่ต้องเข้าใจตัวสภาพธรรมแต่ละอย่างให้ถูกต้อง ว่า เจตสิกแต่ละชนิดเป็นอกุศลเจตสิก เป็นโสภณเจตสิก ต่างกันอย่างไร อย่างโมหเจตสิกกับปัญญาเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้าม

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นถ้าโมหเจตสิกไม่เกิด ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นอกุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ถ้าอกุศลจิตเกิดต้องมีโมหเจตสิกแน่นอน เวลาที่เป็นกุศลจิตไม่แน่ ว่ามีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือไม่

    ผู้ฟัง แต่ไม่มีโมหเจตสิกแน่ เพราะว่ามีโสภณเจตสิก ครับผม ขอบพระคุณครับ


    หมายเลข 9104
    14 ส.ค. 2567