อเหตุกะ - สเหตุกะ ๑
ท่านอาจารย์ โลภมูลจิตมีกี่เหตุคะ ๒ เหตุ คือโลภเหตุกับโมหะเหตุ เจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต มีเหตุเกิดร่วมด้วยกี่เหตุ เจตสิกที่เกิดร่วมกับโลภมูลจิต ถามกว้างๆ ก่อน มีเหตุเกิดร่วมด้วยกี่เหตุ ถ้าไม่ใช่โลภเจตสิก ไม่ใช่โมหเจตสิกแล้ว มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ ถูกไหมคะ แต่ถ้าพูดถึงโลภเจตสิกในโลภมูลจิตแล้ว มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๑ เหตุ คือโมหเจตสิก หรือ ถ้าพูดถึงโมหเจตสิก ในโลภมูลจิตแล้ว ก็มีเหตุเกิดร่วมด้วย ๑ เหตุ คือโลภเจตสิก แต่ถ้าพูดถึงเจตสิกอื่น นอกจากเจตสิก ๒ ดวงนี้แล้ว จะมีเหตุเกิดร่วมด้วย ๒ เหตุ เมื่อกี้นี้ โลภเจตสิกในโลภมูลจิตเป็นสเหตุกหรืออเหตุก สเหตุก
ผู้ฟัง อันนี้เป็นเจตสิกที่เป็นเหตุ ที่เป็นอเหตุกเจตสิกหรือสเหตุกะ ทีนี้อยากจะเรียนถามอาจารย์ให้ตัวอย่างเจตสิกที่เป็น นเหตุ เช่น ผัสสะ เป็นอเหตุกะ หรือสเหตุกะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเกิดกับอเหตุกจิตก็เป็นอเหตุกเจตสิก ถ้าเกิดกับสเหตุจิต ก็ต้องเป็นสเหตุกเจตสิก เพราะเหตุว่าถ้าเกิดกับจิตที่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ผัสสะ เวทนา สัญญา เจตสิกอื่นๆ ก็ต้องประกอบร่วมกับเจตสิกซึ่งเป็นเหตุนั้น
ผู้ฟัง ถ้าเขาเกิดกับอเหตุกจิต ก็เป็นอเหตุกะ เขาเกิดกับ สเหตุจิต ก็เป็น สเหตุกเจตสิก
อยากจะให้อาจารย์อธิบาย อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ยกตัวอย่างนิดเดียวว่า ทำไมเขาเป็นอเหตุกะ
ท่านอาจารย์ อเหตุกะ ๑๘ ดวงถ้าเปิดดูในหนังสือ ก็คงจะทราบว่าเป็นวิบาก ๑๕ ดวง เป็นกิริยาจิต ๓ ดวง ซึ่งถ้าจำแนกอย่างนี้แล้วก็คงจะจำง่าย หมายความว่าไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าเป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตต้องมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่ว่านี่เป็นวิบากจิต และกิริยาจิตประเภทที่ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย
ต่อไปจะทราบว่ากรรมที่ได้กระทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ตาม เป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก แล้วก็มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย แต่ว่าเมื่อกรรมที่ได้กระทำแล้ว สำเร็จแล้ว มีกำลังที่จะให้เกิดผล ผลที่เกิดไม่ประกอบด้วยเหตุ เรียกว่า อเหตุกวิบาก จำพวกหนึ่ง แล้วก็ยังมีวิบากซึ่งประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดีที่เป็นเหตุอีก เรียกว่า สเหตุกะ แต่เราก็คงจะต้องค่อยๆ ไปตามลำดับ แต่ให้ทราบเหตุผลว่า กรรมที่ได้กระทำแล้ว ตัวเหตุ ตัวกุศลจิตหรืออกุศลจิตนั้น มีเจตสิกที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วยจริง แต่เวลาที่จะให้ผล ไม่จำเป็นต้องมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย กรรมนั้นก็สามารถที่จะทำให้วิบากจิตเกิดได้แล้ว
เพราะฉะนั้นมีวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม และอกุศลกรรมที่ไม่ประกอบ ด้วยเหตุที่ชื่อว่า อเหตุกวิบากจิต นี่เป็นประเภทหนึ่ง เราจะเรียนเรื่องผลของกรรมซึ่งไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นวิบากประเภทที่เป็นอเหตุกะ ซึ่งได้แก่ วิบาก ๑๕ ดวง เป็นกุศลวิบาก ๘ ดวง เป็นอกุศลวิบาก ๗ ดวง
เวลาที่ใช้คำว่า อกุศลวิบาก ๗ ไม่จำเป็นต้องใช้คำว่า อเหตุกอกุศลวิบาก เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นอกุศลวิบากเมื่อไร อย่างไรก็ตาม จะมีเพียง ๗ ดวงเท่านั้น แล้วก็ไม่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย จะต้องเป็นอเหตุกะ คือ จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุอย่างเดียวที่เป็นผลของอกุศลกรรม จิตเห็นสิ่งที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบากจิต จิตได้ยินเสียงที่ไม่ดี ขณะนั้นเป็นอกุศลวิบากจิต ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี กระทบสัมผัสสิ่งที่ไม่ดี นี่ ๕ แล้ว เหลืออีก ๒ ยังไม่ต้องกล่าวถึง ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง อเหตุกจิต ๑๘ ดวง ดวงสุดท้าย ก็คือ สมมติว่าเป็นกุศลจิตสันตีรณกุศลจิตนำเกิด แปลว่าการปฏิสนธิ เกิดด้วยอเหตุกจิต ใช่ไหมคะ การเกิดของเรา เพราะว่าจุตินี้อันอื่นมันดับหมดทุกอย่าง
ท่านอาจารย์ คือดวงสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้ายของอะไร ของอเหตุกจิต หรือของวิบากจิต เพราะว่าอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นวิบาก ๑๕ ดวง แล้วก็เป็นกิริยา ๓ ดวง
ผู้ฟัง ใช่ แต่ว่าเราจะปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ พูดถึงดวงไหนคะ
ผู้ฟัง ดวงไหนก็ตาม แต่ว่าเป็นอเหตุกจิตใช่ไหมคะ อาจารย์ ที่จะนำเราปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ คุณสุพรรณีหมายความถึงว่า อกุศลกรรมจะให้ผลทำให้ปฏิสนธิ ในเมื่อ อกุศลวิบาก มี ๗ ดวง ดวงไหนทำกิจปฏิสนธิหรือคะ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิในอบายภูมิดวงเดียว เกิดเป็นช้าง เป็นมด เป็นนก เป็นปลา ปฏิสนธิจิตเป็น อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เพราะเหตุว่าสำหรับอกุศลวิบาก ๗ ดวง จักขุวิญญาณ ๑ โสตวิญญาณ ๑ ฆานวิญญาณ ๑ ชิวหาวิญญาณ ๑ กายวิญญาณ ๑ ทุกคนต้องรู้แล้วไม่ลืม แต่พิเศษอีก ๒ คือ สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก ๑ ซึ่งเกิดต่อจากปัญจวิญญาณนี้ และเมื่อดับไปแล้ว อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากก็เกิดต่อ
เพราะฉะนั้นใน ๗ ดวงที่จะทำกิจปฏิสนธิได้ คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก เท่านั้น
ผู้ฟัง แล้วอาจารย์คะ แล้วผู้ที่ปฏิสนธิด้วยติเหตุกะ เขาเอาอันไหนมาปฏิสนธิ
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นผลของกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา นี่เรากำลังพูดถึงอเหตุกะ ซึ่งเป็นผลของกรรม ๑๕ ดวง ที่เป็นวิบาก ๑๕ ดวง ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุ แสดงให้เห็นว่า ผลของกรรม มี ๒ ประเภท ที่ประกอบด้วยเหตุ เป็นสเหตุกะก็มี ที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นอเหตุกะก็มี แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรมแล้วไม่ประกอบด้วยเหตุ ต้องเป็นอเหตุกะอย่างเดียว แล้วก็มีประเภทเพียง ๗ ดวงเท่านั้นไม่มากกว่านั้นเลย
นี่แสดงให้เห็นว่าพ้นจากอเหตุกอกุศลวิบาก ๗ ดวงนี้แล้ว จิตอื่นนอกจากนั้นเป็นโสภณหรือเป็นกุศลวิบาก
ผู้ฟัง หนูยังเข้าใจว่า อเหตุกจิตเป็นจิตที่นำเกิด
ท่านอาจารย์ เฉพาะอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากทำให้เกิดในอบายภูมิ ถ้าเป็นอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก ทำให้เกิดเป็นมนุษย์ซึ่งพิการตั้งแต่กำเนิด นี่ก็จำแนกออกไป ว่าถ้าปฏิสนธิจิตประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นโสภณเหตุก็ดีขึ้น แต่ว่าถ้าไม่ประกอบด้วยเหตุ ก็ต้องเป็นแบบไม่ดีเท่ากับที่ประกอบด้วยเหตุ