เห็นอาหารแต่ไม่ได้ลิ้มรส
ผู้ฟัง ผมอยากจะถามเรื่องชาติ ชาติจริงๆ หมายถึงเกิด ใช่ไหมคะ ที่ว่าชาติ หมายถึงเกิด ใช่ไหมครับ และการเกิดของจิตก็เกิดดับสืบต่อตลอดเวลา แต่ว่าท่านจำแนกเป็นจิตมีชาติเป็นกุศล อกุศล วิบาก แล้วก็กิริยา อันนั้นก็คงเป็นการเกิดเหมือนกัน แต่เป็นการเกิดตามปัจจัยของปัญญาที่เกิดขึ้น แต่ว่าที่เกิดดับสืบต่ออยู่ตลอดเวลา จะเรียกว่าเป็นชาติได้หรือเปล่าครับ และก็เหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้จำแนกจิต เจตสิก รูปออกมา ที่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ความจริงมันก็เป็นการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก รูป ทั้ง๓ อย่าง แต่ว่าความยึดถือความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทำให้เรามองไม่เห็นสภาพธรรม เหตุปัจจัยอะไร ซึ่งกระผมคิดว่า แค่ฟังอย่างเดียวคงไม่พอ คงจะต้องอ่าน ต้องศึกษาด้วย แล้วกระผมขอฟังแนวทางจากท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ท่านได้ศึกษาพระธรรมอย่างไร ถึงเข้าใจแตกฉานมาก เพราะว่าบางสิ่งที่เราคิดว่ารู้ แต่ว่าเราฟังแล้ว เรายังไม่รู้อีกมากมาย ในสิ่งเหล่านี้เป็นต้น ว่าศึกษาอย่างไร ทำอย่างไร ที่จะเข้าใจให้ลึกซึ้ง ชัดเจน มั่นใจได้ อย่างที่ท่านอาจารย์ประพฤติปฏิบัติอยู่ กราบขอบพระคุณครับ
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วการศึกษาธรรมเพื่อเข้าใจเท่านั้น คือ ไม่ใช่เพื่อต้องการอย่างอื่นเลย นอกจากเข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่ได้ยินหรือกำลังฟังธรรมในขณะนี้ ถ้าไม่เข้าใจก็ถาม ฟัง สุ จิ ปุ ลิ ฟังแล้วก็คิด แล้วก็พิจารณา ถ้าไม่เข้าใจถามได้เลย เพราะว่าถ้ามีคำตอบ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไตร่ตรอง เมื่อเข้าใจขึ้นก็จำได้ โดยที่ว่าจะไม่มีการสับสน ข้อสำคัญก็คือว่า ต้องศึกษาตามลำดับจริงๆ อย่าข้ามขั้น เพราะว่าโดยมากบางคนใจร้อน พอพูดเรื่องจิต ก็อยากจะรู้เรื่องนิพพาน หรืออะไรอย่างนี้ ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งควรจะได้เข้าใจตามลำดับจริงๆ แล้วก็ไม่สับสน เช่น จิต เจตสิก รูป นิพพาน ต้องทราบจริงๆ ว่า ปรมัตถธรรมมีเพียง ๔ อย่าง แต่ว่าสามารถที่จะแยกออกมากมาย เต็มตามพระไตรปิฎก โดยนัยต่างๆ เพราะเหตุว่าจิตก็มีหลายประเภท เจตสิกก็มีเยอะ แล้วก็เมื่อเกิดกับจิตประเภทหนึ่งก็ยังจำแนกออกไปเป็นความต่างโดยอีกหลายนัยได้ เช่นโลภะ ไม่ใช่แต่เฉพาะทางตา ทางหูก็มี ทางจมูกก็มี ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็มี แล้วก็มีหลายระดับขั้นด้วย
และอีกประการหนึ่ง การศึกษาธรรม ถ้าไม่เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เหมือนกับคนที่เห็นอาหารอยู่ตรงหน้า แต่ว่าไม่ได้ลิ้มรส เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า รสอาหารจริงๆ เป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่ได้ฟังคำ เรื่องเครื่องปรุงต่างๆ วิธีปรุงต่างๆ แต่แม้กระนั้นก็ฟังไปตลอด ไม่มีโอกาสที่จะลิ้มรสเลย
เพราะฉะนั้นให้ทราบว่า ธรรมเป็นสัจจะ เป็นความจริง เป็นสิ่งที่มีจริง และเครื่องเตือนก็คือว่า ขณะนี้เองเป็นธรรมทั้งหมด คือ การฟังธรรม ฟังคำเดียว แต่ก็ตลอดไปทั้ง ๓ ปิฎก คือ ธรรมคือธรรม ทั้ง ๓ ปิฎก หรือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ทุกอย่างถ้าเข้าใจว่า เป็นธรรมแล้วละก็ แม้ขณะนี้เอง ก็ไม่ลืมที่จะรู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แต่เราก็เริ่มที่จะเห็นทีละเล็กทีละน้อยว่า เราไม่ได้เข้าใจธรรมตัวจริงๆ ถ้าพูดเรื่องจิต มีคำอธิบายว่า เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเหมือนแข็ง แข็งก็เป็นธาตุที่มีจริง มีลักษณะแข็งฉันใด จิตซึ่งมีจริงก็เป็นธาตุรู้ หรือเป็นสภาพรู้ ซึ่งต่างจากธาตุแข็ง แล้วก็มีอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะลืมตา หลับตา เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ทั้งหมดคือธรรม ตรงนี้จะทำให้เราเริ่มเห็นอวิชชาของเราเอง ว่ามากมายสักแค่ไหน คือ ฟังเรื่องจิตก็รู้ ชื่อรู้เรื่องราวของจิต แต่ตัวจิตที่กำลังเกิดขึ้นเป็นไป เราจะต้องเริ่มรู้ความจริงว่า ยังต่างระดับ คือนั่นเป็นเพียงความเข้าใจเรื่อง แต่ว่าตัวจริงๆ ของสภาพธรรมที่เราฟังจะต้องมีปัญญาอีกขั้นหนึ่ง แล้วก็ขั้นนี้ก็ต้องอบรมเจริญจนกระทั่งสามารถประจักษ์ความจริง จนคำพูดที่ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แล้วขณะนี้เองธรรมปรากฏ ถ้าปัญญาสมบูรณ์จริงๆ จะไม่มีความสงสัยในคำพูดนี้ว่า ขณะนี้เองธรรมกำลังปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้นจุดประสงค์ของการศึกษาเพื่อให้เข้าใจจริงๆ ถึงระดับนี้ แต่ก็ต้องอาศัยการฟัง แล้วการฟังจะเห็นได้ว่า ภาษาไทยต่างกับภาษาบาลี เพราะฉะนั้นก็ทิ้งความเข้าใจที่เราเคยเข้าใจเอง แล้วเราคิดว่าเข้าใจแล้ว อย่างคำว่า สติ กับ ปัญญา คิดว่าเข้าใจแล้ว ความจริงไม่ใช่อย่างที่เราคิด เพราะว่าเป็นสภาพธรรมที่ถ้าโดยนัยของพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นภาษาบาลีแล้ว จะต้องหมายความถึงสติซึ่งเป็นโสภณธรรม เป็นธรรมฝ่ายดีเท่านั้น เกิดกับจิตที่เป็นจิตที่ดี
นี่ก็เป็นเรื่องของความละเอียด แม้แต่เรื่องของชาติที่ว่าให้ทราบว่า จิตนี้มีชาติ เจตสิกก็มีชาติ นามธรรมที่เกิดขึ้นที่เป็นสภาพรู้ มีชาติ ๔ คือ เป็นกุศล ๑ เป็นอกุศล ๑เป็นวิบาก ๑ เป็นกิริยา ๑ อยู่ที่ไหน อยู่ที่ตัวเรา เพราะฉะนั้นไม่ยากที่จะคิดที่จะเข้าใจ ที่จะพิจารณา ไม่ต้องเดินทางไปไหนเลย ไม่ต้องไปไกลแสนไกล ทุกขณะนี้ อย่างพูดเรื่องจิต ชาติคือจิตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดใน ๔ ชาติ คือ เกิดเป็นกุศล เป็นเหตุที่ดี หรือเป็นอกุศล เป็นเหตุที่ไม่ดี หรือว่าเป็นวิบาก คือไม่ใช่ตัวเหตุ แต่เป็นจิตที่เป็นผลของกุศลหรืออกุศล ชื่อว่า “วิบาก” นี่เราก็ต้องเปลี่ยนความเข้าใจในภาษาไทยของเราแล้ว เพราะว่าแต่ก่อนนี้เราคิดว่า วิบากคงจะแสนทรมาน เวลาที่มีการใช้คำว่าวิบาก แต่เดี๋ยวนี้วิบากไม่ใช่อย่างนั้น กุศลวิบาก คือ ผลของกุศล แต่ว่าเราต้องเป็นคนละเอียดที่จะรู้ว่าผลของกุศล ถ้ามีใครบอกเราว่า จิตที่เป็นผลของกุศลเฉยๆ อย่าเพิ่งคิดว่าเข้าใจแล้ว ต้องซักไปอีกว่าขณะไหน
ผู้ฟัง เป็นวิบาก ขณะไหนเป็นชาติที่เป็นวิบาก
ท่านอาจารย์ ค่ะ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด ไม่ใช่เพียงฟังแล้วคิดว่า เข้าใจๆ เข้าใจไม่พอ ต้องซักจนกระทั่งเป็นความเข้าใจจริงๆ หรือถ้าไม่มีใครจะซัก ก็ไตร่ตรองด้วยตัวเองจนกระทั่งมีความเข้าใจจริงๆ แล้วเมื่อเข้าใจแล้วจะไม่ลืม ทุกอย่างจะสอดคล้องกันหมด ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ถ้าไม่เข้าใจเรื่องชาติของจิตจริงๆ ไม่ต้องพูดเรื่องปฏิจสมุปปาท หรือไม่ต้องพูดเรื่องธรรมหมวดอื่นๆ เลย เพราะว่าเพียงขั้นต้นที่แสดงว่า จิตเกิดมาต่างกันเป็นชาติต่างๆ เราก็ยังไม่ทราบ