บูชา บวงสรวง เซ่นสรวง ไหว้เจ้า


    อ.ธิดารัตน์ ในอัฏฐสาลินีใช้คำว่า “นัตถิ ยิฏฐัง” การบูชาไม่มีผล หมายความว่าการบูชาใหญ่เรียกว่า “ยิฏฐัง” วิบากของการบูชาไม่มี คือข้อนี้เขายึดถือว่าการบูชายัญไม่มีผล

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นความเห็นผิด ที่คุณธิดารัตน์กำลังกล่าวถึงเป็นข้อความในอัฏฐสาลินีซึ่งแสดงถึงความเห็นผิดว่ามีประการใดบ้าง อันนี้ก็เป็นความเห็นผิด ประการที่หนึ่งประการหนึ่งที่ว่าการบูชาไม่มีผล เพราะฉะนั้นเรากำลังพูดถึงความหมายของคำว่า “บูชา” กับ “บวงสรวง”

    อ.ธิดารัตน์ อย่างอีกข้อหนึ่ง คำว่า “บวงสรวง” ภาษาบาลีใช้คำว่า “หุตัง” การบวงสรวง ความว่ากิริยาที่บูชา และนำของมาให้เพื่อมงคลซึ่งเป็นมงคลกิริยาที่เขาได้กระทำไม่มีผล อันนี้ก็คือความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ถ้าจะดูข้อความโดยรวมต่อไปอีกก็คงมี รวมทั้งคำว่า “ยัญ” ก็มีข้อความในพระไตรปิฎกด้วย แต่ที่นี่เราก็คงจะกล่าวถึงสองคำที่กำลังเป็นปัญหาว่าผู้ที่เชื่อว่าการบูชาไม่มีผลหรือการบวงสรวงไม่มีผลก็เป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็ต้องมีผลคือกุศลวิบาก จะเข้าใจว่าไม่มีผลไม่ได้ แต่ทีนี้มีความต่างกันของคำสองคำที่เราได้ยินคือคำว่า “บูชา” กับคำว่า “บวงสรวง” ซึ่งภาษาบาลีก็แยกกันเป็นสองศัพท์คือ “ยิฏฐัง” กับ “หุตัง

    อ.สมพร คำว่า “บูชา” มุ่งถึงบูชาพระรัตนตรัย บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมพระสงฆ์ เขาเรียกว่าพระรัตนตรัย คำว่า “บวงสรวง” เป็นคำที่พวกพราหมณ์บูชาเทวดา เพราะฉะนั้นคำว่า “หุตัง” แปลว่าบูชาเหมือนกันแต่บูชาพระรัตนตรัย

    อ.กุลวิไล มีในส่วนของนิยตมิจฉาทิฏฐิสาม ที่ท่านแสดงถึงความเห็นผิดที่ดิ่งแนบแน่นสามอย่างมีอกิริยทิฏฐิความเห็นว่าไม่เป็นอันทำ ซึ่งอันนี้คิดว่าน่าจะสอดคล้องกับหุตังที่เป็นการบวงสรวงที่ว่าผลวิบากของกิริยามงคลนั้นไม่มีผล

    ท่านอาจารย์ ก็แล้วแต่ว่ามั่นคงขนาดไหนหรือเป็นแต่เพียงความคิดที่ไม่มั่นคงยังไม่เป็นความเห็นที่เชื่อปักใจ ถ้าได้ฟังคำอธิบายหรืออะไรก็อาจจะเข้าใจขึ้นได้ แต่ถ้าคิดเองแล้วมั่นคงอย่างนั้นเอง ก็ต้องเป็นการเห็นว่าการกระทำนั้นไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล

    อ.กุลวิไล แล้วก็มี “อเหตุกทิฏฐิ” ความเห็นว่าไม่มีเหตุ ส่วนอันที่สามก็คือ นัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีผล ซึ่งก็เหมือนกับคำที่ว่าการบูชาไม่มีผล “นัตถิ ยิฏฐัง” ใกล้เคียงกับนัตถิกทิฏฐิ ความเห็นว่าไม่มีผล อันนี้ก็คือในความเห็นผิด ๓ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ความเห็นผิดก็เห็นผิดจากความเป็นจริง ทีนี้เราได้กล่าวถึงบูชากับบวงสรวง เข้าใจชัดเจนที่จะไม่กล่าวถึงอีกหรือเปล่า หรือว่ายังมีสิ่งที่ควรพิจารณา เพราะว่าภาษาบาลีก็มีสองคำ ไม่ใช่คำเดียว แต่สำหรับการบูชาเราจะเห็นได้ว่า เวลาก่อนที่เราจะได้สนทนาธรรม เรามีการกล่าวคำนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย เป็นการบูชาในพระคุณของพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้นความหมายอันนี้ก็ตรง เวลาที่มีการบูชาในคุณความดี บูชาอะไรก็ได้ จะกว้างจนไปถึงบูชาในคุณความดีของเทพของพรหมของอะไรก็ได้ แต่ขณะนั้นไม่ใช่ความเห็นผิดเข้าใจผิด ต้องเป็นการระลึกถึงคุณที่จะทำให้ถึงความเป็นเทวดา หรือว่าที่จะทำให้ถึงความเป็นพรหมในรูปพรหมภูมิต่างๆ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่เป็นการกระทำที่ทำโดยความหลงผิด แต่เป็นความเห็นถูกที่รู้ว่าผู้มีคุณไม่ว่าจะเป็นใครควรแก่การบูชา เช่น มารดา บิดา คนที่บูชาบิดามารดา แล้วเราจะบอกว่าเขาเห็นผิดได้ไหม ไม่ได้แน่นอน เพราะฉะนั้นก็คือการบูชาในคุณความดีไม่ว่าจะเป็นมารดาบิดา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระรัตนตรัยหรือว่าบุคคลใดก็ตามที่มีคุณความดี ขณะนั้นกุศลจิตที่นอบน้อมก็เป็นการนอบน้อมในคุณความดี คือไม่ดูหมิ่น ไม่ลบหลู่ ไม่เหยียดหยาม แต่ว่าการบูชาเป็นการบูชาในคุณความดีของบุคคลนั้น

    แต่สำหรับอีกคำหนึ่งคือคำว่า “บวงสรวง” จะเห็นได้ว่าเราก็ใช้อีกคำหนึ่งด้วย ซึ่งไม่ทราบว่าภาษาบาลีจะแปลเหมือนกันหรือเปล่า ที่เราใช้คำว่า “เซ่นสรวง” กับ “บวงสรวง” จะมีคำว่าเซ่นสรวงด้วยหรือเปล่า แต่ถ้าแปลก็คือการใช้ภาษาเท่านั้นเองว่าหมายความถึงคำนี้ในภาษาบาลีจะหมายความถึงการกระทำ ความประพฤติ หรือความเป็นไปในภาษาต่างๆ ได้กี่คำ แต่ความต่างกันก็คือว่าเวลาที่เราบูชา เราน้อมระลึกถึงความดีของบุคคลที่เราบูชา เรากล่าวได้เลยว่าบูชา บางคนเขาก็เอามาพูดภาษาธรรมดาใช่ไหม บูชาใคร ต่ำจนกระทั่งถึงคนที่เขาบูชามีความผูกพัน มีความรักใคร่ แต่ว่าบูชาไม่ใช่เพียงแค่รักเท่านั้น ก็เป็นเรื่องของภาษา แต่จริงๆ แล้วบูชาก็คือเป็นความนอบน้อมในคุณความดีต่อคุณความดีที่มีในบุคคลนั้น

    สำหรับการบูชาเราก็คงไม่จำกัดเพียงแค่ว่ามีการระลึกถึงคุณยังมีการกระทำด้วยใช่ไหม เช่นอย่างที่เราจัดดอกไม้บูชา เราก็ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำนอบน้อม หรือว่าเราอาจจะมีสิ่งอื่นเป็นการบูชาก็ได้ เพราะเหตุว่าในครั้งโน้นบุคคลที่ไม่ว่าจะมีทรัพย์สมบัติใดก็นำมาบูชาพระรัตนตรัย เป็นการกระทำด้วยความเคารพบูชา แต่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการบูชาแบบระลึกถึงคุณเท่านั้น ยังมีการกระทำด้วย เพราะฉะนั้นจึงมีอีกคำหนึ่งว่า “การเซ่นสรวง” ซึ่งอย่างที่ท่านอาจารย์สมพรท่านกล่าวว่าพวกพราหมณ์ในสมัยโน้น

    พุทธศาสนาเราก็เพิ่งจะมีหลังจากที่มีศาสนาพราหมณ์ เพราะฉะนั้นความประพฤติเป็นไปของพวกพราหมณ์ ซึ่งเขาไม่ได้เข้าใจในเรื่องของพุทธศาสนาเลย แต่ว่าการที่เขามีการกระทำกิริยามงคล มีการบูชากราบไหว้ผู้ที่เขาเข้าใจเช่นพวกพรหมพวกพรหามณ์ต่างๆ แม้ว่าเขาจะไม่มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก หรือบางคนแม้ในยุคนี้ก็อาจจะบูชาด้วยความหวังใช่ไหม มาลัยเจ็ดสี ต้องบูชาที่นั่นที่นี่ ผู้นั้นเข้าใจว่าเป็นพรหม เข้าใจเองทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วก็ทำด้วยความต้องการผล นั่นก็แสดงให้เห็นว่าถูกไหมที่จะหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วก็คิดว่าเพียงสิ่งนั้นก็จะนำมาซึ่งผลได้ เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แล้วก็เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก จะต้องพิจารณาถึงจิตในขณะที่กระทำขณะนั้นว่ามีความเห็นถูกหรือว่ามีความเห็นผิด เป็นการเคารพบูชาจริงๆ เป็นการทำกิริยามงคล มีความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรบูชา หรือว่าเป็นแต่เพียงทำไปด้วยความหวังว่าถ้าทำอย่างนั้นแล้วผลที่ดีก็จะเกิดขึ้น อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก

    อ.กุลวิไล ที่ว่าการบวงสรวงก็เป็นการทำกิริยามงคล ซึ่งอย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่าบุคคลที่ควรบูชาคุณของมารดา แน่นอนเขาต้องมีความเห็นถูก แต่ถ้าหากเราไม่รู้ความจริงแล้วเราทำการบูชา ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเป็นความคลาดเคลื่อนจากสภาพธรรมที่เป็นจริงไหมเช่น บูชาบิดามารดาโดยการที่ไม่ได้ระลึกถึงคุณ แต่ไปต้องการที่ให้บิดามารดาปกป้อง แต่ถ้าเป็นการบูชาที่เป็นกิริยามงคลที่มีความเข้าใจถูกด้วยแม้มีการตั้งอาหารเซ่นสรวงอย่างนี้ แต่ก็เป็นการที่ทำกิริยามงคลที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องคือระลึกถึงคุณของมารดา อันนี้ก็จะเป็นความเห็นถูกใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นเรื่องของการเซ่นสรวงในสมัยโบราณ ก็จะมีนางพรหามณีที่บูชาพรหมด้วยเนยใส ด้วยข้าวปายาสด้วยอะไรก็ตามการที่เชื่ออย่างนั้น แต่สำหรับผู้ที่บูชาพระรัตนตรัย บางคนก็บูชาด้วยสมบัติที่มี อย่างบางท่านก็มอบกำไลทองหรือว่าแหวนเพชรอะไรก็แล้วแต่เป็นการบูชาตั้งแต่ในอดีตจนกระทั่งถึงแม้ที่ๆ มีพระบรมสารีริกธาตุ ก็จะมีผู้ที่บูชาด้วยวัตถุสิ่งของด้วยอาการกิริยาที่นอบน้อม

    เพราะฉะนั้นคำว่า “บวงสรวง” เราจะหมายถึงการกระทำที่เป็นไปด้วยความนอบน้อม ไม่ใช่เพียงแต่กล่าวคำบูชาเท่านั้น ทีนี้ก็แล้วแต่จิตของบุคคลนั้นจะนอบน้อมสักการะด้วยสิ่งใด การกระทำกิริยามงคลที่นอบน้อมนั้นก็คือการบวงสรวง แต่ทีนี้ยุคของเราสมัยนี้จะเห็นการเซ่นสรวง หรือว่าบวงสรวง หรือจะใช้คำอะไร หรือไม่ใช้คำอะไรเลย บางคนอาจจะใช้คำว่า “ไหว้เจ้า” คือหมายความถึงไหว้เทพ แต่ว่าการไหว้จะไหว้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะอาจจะเข้าใจว่าเทพนั้นมีฤทธิ์ เซียนกี่องค์ก็ตามแต่ มีชื่อต่างๆ มีฤทธิ์ต่างๆ ก็เข้าใจว่าจะปกป้องคุ้มครอง อันนั้นก็แสดงให้เห็นว่ามีความหวัง แต่ว่าบูชาในคุณความดี หรือเปล่า เพราะว่าจริงๆ แล้วก่อนที่เราจะบูชาคุณความดีของใคร ก็ต้องหมายความว่าเรารู้คุณความดีนั้นแน่นอน ไม่ใช่ว่าเขากล่าวว่า แล้วเราก็พลอยๆ ตามไป

    แต่ว่าความจริงแล้วบุคคลนั้นมีความดีสมควรที่เราจะไหว้จริงๆ หรือเปล่า ถ้าสมมติว่าเป็นไปในลักษณะนั้นก็คือว่าเราไม่ได้บูชาในคุณความดี เพราะเราไม่รู้คุณความดีของบุคคลนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่เรารู้จักคุณความดีของบุคคลนั้นเช่นพระรัตนตรัย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือผู้ที่มีความเห็นถูก พระอรหันต์ทั้งหลายที่ท่านได้กระทำการสังคายนาสืบทอดมาถึงเรา อันนี้เราก็บูชาในคุณความดีของความเห็นถูก การกระทำที่เป็นประโยชน์ที่ถูก เพราะฉะนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นเป็นกุศลจิตหรือเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่เพียงแต่จะดูกิริยาอาการภายนอก แต่เรื่องไหว้เจ้าก็คงจะมีปัญหาด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการแสดงความเคารพในบรรพบุรุษซึ่งเป็นประเพณีธรรมเนียมซึ่งสืบต่อกันมา แต่ว่าประเพณีธรรมเนียมที่ทำสืบต่อกันมา จะทำด้วยความเห็นที่ถูกต้อง หรือว่าจะทำตามธรรมเนียมโดยที่ยังไม่ได้มีความเห็นที่ถูกต้อง นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาพระธรรมแล้วก็จะเข้าใจสภาพจิตในขณะนั้นว่าเป็นกุศลหรือเปล่า แล้วเวลาที่จะมีการบูชาๆ ในอะไร และบุคคลนั้นสมควรแก่การบูชาจริงๆ หรือไม่

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 126


    หมายเลข 9127
    26 ม.ค. 2567