ฟังเพื่อให้ถึงความเป็นอนัตตา


    ผู้ฟัง สักกายทิฏฐิ สำคัญตนเองผิด

    ท่านอาจารย์ เข้าใจว่าสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันเป็นเรา เป็นตัวตน เข้าใจผิด ว่าสภาพนั้นเป็นเรา เห็นเป็นเรา คิดนึกเป็นเรา สุขเป็นเรา โลภะเป็นเรา กุศลเป็นเราได้ยินคำว่าอะไรก็เข้าใจคำนั้น เช่นได้ยินคำว่า "ทิฏฐิ" คือความเห็นผิด ก็จะรู้ได้ว่าขณะนั้น มีความเห็นผิดหรือเปล่า ถ้าไม่มีก็คือว่า เป็นโลภะประเภทที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย มีมานะความสำคัญตนไหม ถ้าไม่มีก็คือ ไม่พ้นจากอกุศลที่ส่วนใหญ่เป็นโลภะ ถ้าขณะนั้นไม่ใช่กุศล ก็สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น ใช่ไหม ความต่างของทิฏฐิ ความต่างของมานะ ความต่างของกำลังของโลภะ ซึ่งเป็นโลภะ บางครั้งก็มีกำลัง บางครั้งก็ไม่มีกำลัง

    ก็คงจะเป็นการสนทนา เพื่อที่จะให้เราเข้าใจจริงๆ ว่า สิ่งที่เราได้จากการฟังพระธรรมตลอดชีวิตของเรา จะติดตามไปชาติต่อไปได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าเรื่องของธรรมเป็นเรื่องของกุศล แต่แม้แต่คำว่า “กุศล” ก็ยากที่จะเห็นลักษณะของกุศล เราพูดได้ ว่าจิตต่างกันเป็นกุศลจิต และอกุศลจิต ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนรู้ในความหมาย แต่ลักษณะแท้ๆ ของจิตในขณะนี้ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ยังรู้ไม่ได้ ใช่ไหม แต่ถ้าโดยการฟังเราทราบว่า สภาพของกุศลจิตก็เป็นลักษณะที่เบาสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่กระสับกระส่าย ขณะนี้พอจะรู้ไหม ว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล เพราะว่าเราฟังเรื่องชื่อมาโดยตลอด ใช่ไหม โดยชาติ โดยเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย โดยเหตุ โดยอะไร แต่ขณะนี้เอง จิตเป็นกุศลหรือเป็นอกุศลก็ยากที่จะรู้

    เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่ฟังเพื่อให้เข้าถึงความเป็นอนัตตา ยังไงๆ ก็ต้องไปถึงความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าสภาพธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล แต่กว่าจะถึงความเข้าใจที่มั่นคง ก็ต้องอาศัยการฟังแล้วฟังอีก ไม่ว่าจะโดยนัยต่างๆ แต่ไม่ใช่เพื่อจะให้ไปจำชื่อ หรือให้ไปพยายามไปคิดว่าอันนี้เกิดจากอันนั้น อย่างนั้นอย่างนี้โดยการที่ว่า ขณะนั้น เบาสบายหรือเปล่า หรือว่ากำลังเดือดร้อน นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้ขณะที่กำลังฟังธรรม ก็จะมีทั้งกุศลจิต และอกุศลจิตเกิดสลับกัน โลภะความติดข้องยากที่จะพรากไปได้ จะแทรกอยู่ทุกอย่าง แม้แต่ในการที่จะศึกษาธรรมหรือฟังธรรม บางคนก็อยากจนกระทั่งขณะนั้นไม่สบายใจเลย เพราะว่าเห็นว่าตัวเองยังไม่ได้รู้อะไร ยังจำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ แต่นั่นไม่ใช่ การฟัง เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสิ่งที่กำลังปรากฏ แม้ว่าจะโดยละเอียด แต่ให้เป็นความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 133


    หมายเลข 9194
    28 ส.ค. 2567