จิตหลากหลายตามการสะสมและการปรุงแต่ง
ผู้ฟัง มานะ ในที่นี้หมายถึงขยันหรือแข่งดี และอยากจะขอแสดงความคิดเห็นว่า มีพระสูตรหนึ่งในพระไตรปิฎกสอนว่า ให้ใช้มานะละมานะ ให้ใช้ตัณหาละตัณหา ความคิดเห็น ก็คือว่าน่าจะสอนให้เด็กมีความเข้าใจกุศล และอกุศล และมีตัณหาในการที่จะละอกุศล แล้วก็มีตัณหาในการที่เจริญกุศล ไม่ทราบความคิดเห็นนี้ ถูกต้องไหม
ท่านอาจารย์ ความจริงก็คือความจริง เพราะฉะนั้นใครจะเข้าใจว่ามานะเป็นสิ่งที่ดี เขาคงจะได้ยินคำว่า มานะ ในภาษาไทยแล้วคิดว่าต้องเป็นผู้ที่อดทน และก็บากบั่น ขยันหลายๆ อย่างเพื่อที่จะได้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือว่ายังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งในพระพุทธศาสนาพระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า มานะ หมายความถึงสภาพที่สำคัญตน ก็อาจจะมีอาการกิริยาที่แสดงออกมาให้เห็น ความหยิ่ง ความทะนงตน ดีหรือไม่ดี (ไม่ดี) เมื่อไม่ดีก็ต้องเป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่นอน และก็เป็นสิ่งซึ่งพระอรหันต์เท่านั้นที่จะดับได้เป็นสมุจเฉท นี่ก็แสดงให้เห็นว่า รากของมานะก็ลึกเท่าๆ กับอวิชชา และโลภะ ซึ่งแม้แต่ขณะที่เราจะอยู่ที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเลือกสถานที่ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ ก็มีความสำคัญตนได้ ถ้ามีความรู้สึกที่มี เรา แล้วก็ มีความสำคัญ เพราะฉะนั้นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ ก็เพื่อที่จะให้เห็นโทษแม้ของอกุศลเพียงน้อย
เมื่อกี้นี้เรากล่าวถึงเด็ก ที่ต้องมีการอบรมสั่งสอน แต่ผู้ที่สั่งสอนๆ ด้วยจิตประเภทไหน ด้วยโลภะ ด้วยมานะ หรือว่า ด้วยความเห็นผิดก็แล้วแต่ ถ้าเป็นผู้ที่มีความเห็นผิดในเรื่องของสภาพธรรมก็สอนไปในความเห็นผิดนั้นๆ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่มีความเมตตามีความหวังดีจริงๆ ก็จะต้องเป็นผู้ที่รู้จักเด็กคนนั้นพอสมควร แล้วก็รู้ว่าเขาสามารถที่จะค่อยๆ รับ ไม่ใช่รับทันทีอย่างที่เราต้องการ แต่ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้นในความรู้สึกของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย เราเป็นเด็กโง่หรือเปล่า หรือว่าเราเป็นเด็กฉลาด หรือว่าเราเป็นเด็กดีสอนง่ายสอนอะไรก็เข้าใจเลย ทำได้เลย ปฏิบัติได้เลย มีปัญญาเกิดขึ้นได้เลย ฉันใด ก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมด ความหลากหลายของสภาพของจิตมากมายนับไม่ถ้วน ไม่ต้องกล่าวถึงจำนวนของบุคคล ไม่ว่าในโลกมนุษย์ หรือว่าในอบายภูมิ หรือว่าในสวรรค์ แม้แต่จิตของเราในวันหนึ่ง ก็หลากหลายตามการสะสม ตามการปรุงแต่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราจะช่วยใครจริงๆ ก็ขอให้เรามีความรู้ความเข้าใจจริงๆ และก็จริงๆ แล้วก็คือว่า อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมใดเป็นกุศล ธรรมใดเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นสำหรับเรื่องมานะ ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้องว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี และก็ไม่มีใครชอบคนที่หยิ่ง คนที่ทะนง คนที่มีความสำคัญตน คนที่ก้าวร้าว ทุกคนก็มองเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ฉันใด เพราะฉะนั้นก็คือว่า สอนตัวเองแล้วก็สอนคนอื่นด้วยความอดทน ที่จะให้เป็นไปตามที่เรามีความหวังดี และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ธรรมทั้งหมด ถ้าเป็นฝ่ายกุศลต้องอดทน และก็ต้องพร้อมด้วยกุศลอื่นๆ ประกอบกันด้วย เช่น ไม่ใช่มีแต่ความหวังดีแต่ต้องมีเมตตาจริงๆ ไม่ใช่ว่าหวังดีแล้วก็สอนด้วยโทสะ อย่างนั้นขณะนั้นเขาอาจจะได้ประโยชน์แต่เราเสียประโยชน์ ใช่ไหม เพราะว่าขณะนั้นเกิดโทสะ ก็เป็นเรื่องที่ยากถ้าจะคิดถึง แต่ว่าถ้าจะคิดถึงพระมหากรุณาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดยิ่ง และก็ไม่มีผิดเลยสักคำเดียว เราก็จะค่อยๆ ไตร่ตรอง และแก้ตัวของเรา และก็สามารถที่จะช่วยคนอื่นได้ถ้าเรามีความเห็นที่ถูกต้องขึ้น แต่ต้องพร้อมที่จะรับฟัง เพราะว่าถ้าเราคิดถึง เรา กับ พระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเป็นเด็กแค่ไหน ไม่รู้แค่ไหน โง่หรือฉลาดแค่ไหน เพราะฉะนั้น คนอื่น ซึ่งยังไม่เคยฟังธรรมเลย เราก็ต้องพิจารณาว่าเขาจะค่อยๆ เข้าใจธรรมได้อย่างไร นี่จึงจะเป็นการหวังดีจริงๆ ค่อยๆ อดทนที่จะให้เขาเข้าใจถูก
ที่มา ...