ตน-หลอกให้เห็นว่าเหมือนเที่ยง


    ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์ช่วยขยายความว่า ความสำคัญตน คำว่า ตน นี้หมายถึงสักกายทิฏฐิหรือเปล่า เพราะว่าพระโสดาบันนี่ก็สามารถละทิฏฐิได้แล้วยังไม่สามารถละมานะได้ แต่คำว่า ตน นี้หมายถึงอะไร

    อ.วิชัย ก็ต้องแยกระหว่างความเห็นผิดที่เป็นสักกายทิฏฐิ คือเห็นว่านั่นเป็นตัวตนของเรา กับคำว่านั่นเป็นเรา ท่านพระโสดาบันสามารถละความสำคัญตนว่า เรา กับบุคคลอื่น อันนี้ก็เห็นถึงลักษณะของ ตน ที่เป็นเรื่องของความเห็นผิด ที่เห็นว่าขันธ์ ๕ นี่ว่าเป็นตัวตนของเรากับคำว่า เป็นเรา ซึ่งเป็นลักษณะของมานะ ก็มีความต่างกัน เพราะเหตุว่าพระโสดาบันสามารถละมานะ ความสำคัญที่ไม่ถูกต้อง เช่น ละได้ว่าเรานี่สูงกว่าเขา แต่ก็จะไม่เห็นว่าเราต่ำกว่าเขาหรือว่าเสมอเขา จะมีความสำคัญตนที่ตรงตามความเป็นจริงสำหรับพระอริยบุคคล แต่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลก็สามารถมีความสำคัญตนที่ต่างออกไปได้ อย่างเช่นสูงกว่า อาจจะมีความสำคัญว่าต่ำกว่าหรือว่าเสมอกว่าได้ ดังนั้นคำว่า ตน ก็หมายถึง เรา ที่ไม่ใช่ในลักษณะของสักกายทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้ต้องการทราบว่า มานะ คืออะไร เป็นตนอะไร ใช่ไหม มานะ คือถ้าโดยความเป็นตนก็คือ เป็นมานะๆ เป็นอื่นไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นเวลาที่มีความเป็นตนจะรู้ความต่างของเป็นตนด้วยโลภะ ความติดข้อง หรือว่าเป็นตนด้วยความเห็นผิดว่ามีเรา หรือว่าเป็นตนด้วยความสำคัญตน เพราะฉะนั้นถ้ากล่าวว่าได้แก่สภาพธรรมอะไร

    ความสำคัญตนหรือมานะก็ได้แก่มานะเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริงซึ่งไม่ใช่โลภะ และก็ไม่ใช่ทิฏฐิด้วย ถ้าเป็นทิฏฐิก็คือมีความเห็นยึดถือว่าสิ่งนั้นเป็นเราหรือว่าเป็นตน มีความเห็นผิดในสิ่งที่มี ว่าเป็นตัวตนหรือเป็นเรา นั่นคือความเห็น แต่ถึงแม้ว่าจะได้รู้แจ้งในอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลก็ยังมีโลภะ แล้วก็ยังมีมานะด้วย แต่มานะก็ไม่ใช่โลภะ

    โลภะ ก็คือ ความที่เป็นตนโดยความติดข้อง อย่างเราอย่างนี้ ไม่ใช่คนอื่น เราก็ติดในสิ่งที่เรามี แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนจริงๆ ซึ่งไม่เกิดดับ เพราะเหตุว่าได้รู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ประจักษ์แจ้งความเกิดดับ แม้สัญญาความจำว่าเป็นอัตตสัญญาก็ไม่มี แต่ยังมี สุขสัญญา กับ ศุภสัญญา ยังมีความว่าเรางาม หรือว่าเป็นสุข แต่ว่าไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด เพราะเหตุว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้น และก็รู้ความจริงว่าสิ่งนั้นก็เป็นแต่เพียงแต่สภาพธรรม ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป แต่ยังมีความติดข้องในความเป็นเราด้วยความสุขหรือว่าด้วยความงาม แต่ขณะนั้นไม่ใช่ด้วยมานะ เพราะฉะนั้นแม้ว่าจะไม่มีการเห็นผิดยึดถือสภาพธรรมเพราะประจักษ์แจ้งก็จริง แต่กิเลสที่สะสมมานานมากซึ่งยังไม่ได้ดับ ก็มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้น มีความสำคัญ ในความเป็นเรา ด้วยมานะ เช่น เป็นพระโสดาบัน หรือว่าเป็นผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม หรือว่ามีการรู้ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่พระสกทาคามี หรือพระสกทาคามีก็ไม่ใช่พระอนาคามี ไม่ใช่พระอรหันต์ แต่ว่ารู้ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้นจะเห็นความละเอียดของความสำคัญตนว่า ในอรูปพรหมภูมิเป็นอรูปพรหมบุคคล ก็ไม่ได้ดับมานะเป็นสมุจเฉท ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้นเวลาที่จะเกิดที่ไหนอย่างไรก็ตาม เกิดมีความสำคัญในความเป็นเรา แต่ไม่ใช่ด้วยความเห็นผิด ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของความสำคัญหรือว่า " เรา " ด้วยมานะ

    พอที่จะเห็นความต่างของเจตสิก ๓ ประเภท โลภะ คือตัณหา เป็นเราด้วยตัณหา เป็นเราด้วยมานะ เป็นเราด้วยทิฏฐิ ก็เป็นเรื่องละเอียด แต่จริงๆ ก็เป็นอย่างนั้น วันนี้ ที่ว่าเป็นเราเป็นยังไงบ้าง แข็งแรงดี ไม่ได้เห็นผิด เพียงแต่ว่าแข็งแรงดี และก็มีความสำคัญตนไหม แข็งแรงดีเท่านั้นในสุขภาพ หรือว่าเราแข็งแรงกว่าคนอื่นก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้สึกว่าวันนี้เราแข็งแรง ก็ไม่มีมานะ เป็นแต่เพียงความพอใจ ในเราที่แข็งแรง ขณะนั้นก็เป็นโลภะ แต่ใครก็ตามที่ยังไม่ได้ดับการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก็จะมีการที่ เมื่อยังไม่ประจักษ์ว่าสภาพธรรมเป็นธรรม ในบางกาล ก็จะมีการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตน แต่ว่าในวันหนึ่งจริงๆ ลองคิดดูว่า โลภะส่วนใหญ่ของแต่ละคนเป็นไปในอะไร ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ โดยไม่ได้คิดอะไร แต่ก็ติดเสียแล้ว ใช่ไหม ไม่ได้คิดเรื่องเป็นสิ่งที่เที่ยงหรืออะไรเลย แต่พอใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ และขณะนั้นถ้าไม่มีความรู้สึกสำคัญ ตน ขณะนั้นก็คือโลภะที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็มีมาก

    เพราะฉะนั้นธรรม เป็นสภาพธรรมที่ละเอียด แล้วก็เกิดดับเร็วที่สุด ถ้าเราเพียงแต่ศึกษา เราก็จะเป็นการเพียงการรู้เรื่องราวของสภาพธรรมซึ่งขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงนิมิต เหมือนถูกหลอก เพราะเหตุว่า สภาพธรรมใดที่ปรากฏขณะนี้ดับแล้วทั้งหมด แต่ก็ปรากฏเสมือนว่ายังมีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นกว่าจะรู้ความจริงว่า อะไรหลอกให้เห็นว่าเหมือนเที่ยง ไม่ได้ดับเลย ก็คือการเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วของสภาพธรรมนั่นเอง พอที่จะเห็นความต่างไหม


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 135


    หมายเลข 9222
    29 ส.ค. 2567