มีกี่ใจ
ท่านอาจารย์ วันนี้มีกี่ใจ
ผู้ฟัง ใจเดียวค่ะ
ท่านอาจารย์ ฟังดูเหมือนดีใช่ไหมคะ มีใจเดียว แต่ความจริง จริงๆ มีกี่ใจ ที่ว่าใจเดียว ใจไหน
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็มีมากมายค่ะ
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ ลองกล่าวซิคะว่ามีอะไรบ้างที่มากมาย เดี๋ยวนี้มีใจไหมคะ
ผู้ฟัง มีใจได้ยิน
ท่านอาจารย์ มีใจที่ได้ยิน ๑ แล้วมีใจอะไรอีก
ผู้ฟัง เห็น
ท่านอาจารย์ ถูกต้องค่ะ มีใจที่เห็น แต่วันนี้คงไม่มีแค่ใจได้ยินกับใจเห็น ใจอะไรอีก ใจดีหรือใจร้าย ที่พูดกัน คนนี้ใจดี ใจร้าย ต้องเป็นลักษณะของใจ แต่พูดโดยไม่รู้ใช่ไหมคะ แต่ตอนนี้รู้แล้ว สภาพที่รู้ เกิดขึ้นแล้วต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้เลย แล้วแต่สภาพนั้นจะรู้อะไร ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันที่พิสูจน์ได้ เห็นได้ว่า รู้ได้ว่า เวลามีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น
เพราะฉะนั้น สภาพที่เห็นเป็นธาตุรู้ ใช้คำว่า “จิต” ก็ได้ ใช้คำว่า “ใจ” ก็ได้ เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง เป็นของใครหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ใช่ค่ะ
ท่านอาจารย์ บังคับบัญชาไม่ให้เกิดขึ้นได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่ให้หมดไปได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราแน่ๆ ไม่ใช่ใครแน่ๆ แต่เป็นธาตุหรือสภาพนั้นเท่านั้นที่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างอื่น นี่คือความหมายของคำว่า “ธรรม” ในภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษามคธี แต่ภาษาอื่นๆ ก็แล้วแต่จะใช้ ภาษาไทยก็บอกว่า สิ่งที่มีจริง
เพราะฉะนั้น เราพูดถึงสิ่งที่มีจริงให้คนไทยสามารถเข้าใจ โดยไม่ต้องใช้ภาษาอื่นเลย เพราะมีสิ่งที่มีจริงแล้วไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริง จึงเริ่มสนทนากันเพื่อให้เริ่มเข้าใจความจริง จะได้มีปัญญาเป็นที่พึ่ง คือ ความรู้ถูกต้อง ถ้าคนอื่นมาบอกเราว่า ให้ไปทำใจ เรารู้เลยว่า คนนั้นรู้หรือเปล่าว่า ใจคืออะไร เห็นไหมคะ
เพราะฉะนั้น มีที่พึ่งหรือยัง เพราะสามารถรู้ว่า อะไรถูก อะไรผิด ไม่ใช่เขาให้เราทำใจ เราก็ทำใหญ่เลย แต่ไม่รู้ว่า ใจเป็นอะไร และจะทำได้อย่างไร เพราะไม่มีใครทำใจได้เลย ใจที่โกรธจะทำไหม ไม่มีใครอยากโกรธ แต่โกรธเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น ใครๆ ก็ทำใจอะไรๆ ก็ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดแล้วด้วยตามเหตุตามปัจจัย
มีใจอีกเยอะที่จะเกิด แต่ยังไม่เกิด เพราะไม่มีปัจจัยที่จะทำให้ใจนั้นๆ เกิด แต่ใจที่เกิดแล้วในอดีตที่ผ่านมา แม้ในขณะนี้บังคับไม่ให้เกิดก็ไม่ได้ เพราะมีปัจจัยที่จะเกิดแล้ว วันนี้มีกี่ใจ
ผู้ฟัง หลายใจค่ะ
ท่านอาจารย์ หลากหลายใจ ยังเหลือสักใจไหมคะ
ผู้ฟัง เหลือที่กำลังรับรู้ กำลังได้ยินอยู่
ท่านอาจารย์ หมดแล้วหรือยัง
ผู้ฟัง หมดแล้ว
ท่านอาจารย์ หมดแล้ว ก็ไม่เหลืออีกแล้ว
นี่คือความเป็นจริง เป็นอย่างนี้ ไม่เป็นอย่างอื่นเลย เพราะฉะนั้น มีสาระอะไรไหมคะ เพียงเกิดมาเห็น ต้องเห็น ไม่เห็นไม่ได้ เกิดมาต้องได้ยิน ไม่ได้ยินก็ไม่ได้ เพราะถึงเวลาที่ต้องได้ยิน ใครจะไปทำให้ได้ยินเกิดก็ไม่ได้เลย นอกจากมีปัจจัยที่สมควรที่จะเกื้อกูลอุปการะทำให้ในประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น
วันหนึ่งๆ ใช้คำว่า “จิต” หรือใช้คำว่า “ใจ” ภาษาไทยเราใช้คำไหน ใช้คำว่า “ใจ” แต่ภาษาบาลี อีกชาติหนึ่ง ๒,๕๐๐ กว่าปี ณ ดินแดนหนึ่ง หรือ ณ บัดนี้ก็ตามแต่ ไกลจากประเทศถิ่นนี้ มีคำว่า “ใจ” ไหม ไม่มี
เพราะฉะนั้น ที่แห่งหนึ่งใช้คำว่า “จิต” ใช้มานานแล้วด้วย ใช้มากว่า ๒,๕๐๐ กว่าปี จิตตะ หมายถึงธาตุรู้ สภาพรู้ แล้วแต่ภาษาไหนจะใช้คำอะไร ก็หมายความถึงสภาพนั้นแหละ
เพราะฉะนั้น สำหรับคนไทยก็ใช้คำว่า “ใจ” วันหนึ่งๆ ก็ไม่เห็นใครพูดถึงจิต ใช่ไหมคะ นอกจากจะมาประกอบกับใจว่า จิตใจ แต่ธรรมดาเราก็พูดถึง “ใจ” แต่ความหมายก็อย่างเดียวกัน หมายถึงสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่างสักนิดเดียวก็ไม่มี จะหวานสักหน่อย จะแข็งสักนิดหนึ่ง ไม่ได้เลย ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น ลองคิดถึงภาวะของความจริงของธาตุนั้นๆ ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น แต่มี ใช่ไหมคะธาตุนั้นจะมืดหรือจะสว่าง
กำลังมีใจ สว่างหรือมืด ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น เป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้เท่านั้นเอง เกิดขึ้นเห็น เกิดขึ้นได้ยิน เกิดขึ้นได้กลิ่น เกิดขึ้นลิ้มรส เกิดขึ้นคิด เกิดขึ้นแล้วแต่ รู้สิ่งที่แข็งหรือคิดเรื่องราวต่างๆ สภาพที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ ที่กำลังคิด หรือกำลังเห็น มืดหรือสว่าง
ผู้ฟัง มืดค่ะ
ท่านอาจารย์ มืด เก่งนะคะ เพราะว่าสิ่งที่สว่างไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย