ศึกษาธรรมเพื่อละหรือเปล่า


    ผู้ฟัง ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุนิพพานนี่ถือว่ามีโลภะไหม

    ท่านอาจารย์ มีความเห็นถูกในนิพพานหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี อย่างพระโสดาบันปรารถนาจะบรรลุพระอรหันต์อย่างนี้ ถือว่ามีโลภะไหม

    ท่านอาจารย์ จะเป็นใครก็ตาม ขณะใดที่จิตติดข้องเกิดขึ้น ขณะนั้นต้องเป็นโลภมูลจิต

    ผู้ฟัง อย่างพระโสดาบันปรารถนาจะบรรลุพระอรหันต์ ถือว่าอาศัยโลภะละโลภะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังมีโลภะอยู่หรือเปล่า แล้วอะไรจะละโลภะได้ (ปัญญา)

    อ.ธิดารัตน์ เพราะมีโลภะ มีตัณหาอยู่ จึงต้องมาศึกษาธรรม ศึกษาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา และเข้าใจลักษณะของโลภะหรือมานะตามความเป็นจริงก่อน ถึงจะไปถึงขั้นที่ละได้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะขณะที่เข้าใจว่าต้องศึกษาก่อนนั่นก็คือปัญญา

    อ.ธิดารัตน์ เพราะฉะนั้นท่านอาจารย์จึงกล่าวมุ่งถึงปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาก็คือไม่มีโอกาสที่จะรู้เลยว่าตัวเองมีกิเลสหรือว่ามีโลภะ มีมานะ

    ท่านอาจารย์ ก็ลองพิจารณาด้วยตัวเอง คนที่ว่าจะอาศัยโลภะละโลภะ ถ้าเข้าใจผิดจะทำอะไร

    อ.ธิดารัตน์ ถ้าหากว่ามีความเห็นผิดแล้วก็ไม่รู้ก็เป็นไปตามอำนาจโลภะ ก็ยิ่งเพิ่มโลภะอีกระดับหนึ่งขึ้นไปอีก

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นเพียงพยัญชนะ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ที่ได้ผ่านข้อความใดๆ ก็ตามในพระไตรปิฎก นิรุตติปฏิสัมภิทา คือการสามารถเข้าถึงอรรถของโวหารนั้น ไม่ใช่โดยรูปพยัญชนะ ว่าพยัญชนะนี้เป็นประธาน และอะไรๆ อย่างนั้น นั่นก็เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ไม่คลาดเคลื่อน ที่จะรู้ว่าประโยคนั้นผิดถูกอย่างไร แต่ยิ่งกว่านั้นก็คือ อรรถ ของโวหารนั้นหมายความว่าอะไร เพราะมิฉะนั้นแล้วถ้าเป็นผู้ที่ถือพยัญชนะ แล้วก็ไปนั่งคิดว่า จะอาศัยโลภะละโลภะนี่เราจะทำยังไงดี เราจะมีโลภะมากๆ จะได้ละโลภะหรืออย่างไร นั่นก็แสดงว่าไม่ได้เข้าใจในอรรถของโวหาร ใช่ไหม เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่ลึกซึ้งมาก

    อย่าง พระวินัย ลึกซึ้ง โดยกิจ ใครจะรู้ว่ากิจใดสมควรแก่ภิกษุในธรรมวินัย ถ้าไม่ทรงบัญญัติไว้ ว่าแม้แต่เพียงกิเลสเพียงเล็กน้อยที่จะล่วงออกไปทางกาย ทางวาจา ก็จะนำมาซึ่งโทษมากมาย ไม่สามารถที่จะทำให้ถึงการดับกิเลสได้ แต่กลับจะทำให้กิเลสทั้งหลายนี่เจริญขึ้น เพราะฉะนั้นอย่างคฤหัสถ์นี่ก็อาจจะไม่เข้าใจ เพราะคิดว่าน่าจะทำได้สำหรับพระภิกษุที่จะทำกิจนั้นบ้าง กิจนี้บ้าง แต่โดย พระสัพพัญญุตญาณ ก็ทรงทราบว่ากิจใดเหมาะสมต่อการที่จะทรงเพศภิกษุในพระธรรมวินัย นี่คือความลึกซึ้งของพระวินัย

    ส่วนความลึกซึ้งของ พระสูตร จะเห็นได้ว่า ถ้าอ่านโดยที่ไม่มีพื้นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเลย จะเข้าใจผิด เพราะว่าพยัญชนะในพระสูตรแต่ละสูตรก็แสดงถึงว่า ผู้ที่ได้อ่านเข้าใจแล้วคือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้น ไม่ใช่ว่าคนที่ไม่มีความรู้เลย ก็จะไปถือข้อความในพระสูตรตามใจชอบ นั่นก็แสดงให้เห็นว่า อรรถของพระสูตรลึกซึ้งมาก

    และสำหรับ พระอภิธรรม คือธรรมที่ละเอียดยิ่งที่จะทำให้ผู้ฟังมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูก ลึกซึ้งโดยสภาวะ เพราะว่าแม้เราจะกล่าวคำว่า" รูปธรรมกับนามธรรม " ไม่ใช่ตัวตน เราพูดตามได้ ไม่ใช่ตัวตน แต่ว่าไม่ใช่ตัวตน คืออะไร ก็จะต้องมีการเข้าถึงโดยการแทงตลอดในการเรียนด้วย และก็แทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมต่อไป ถ้าไม่มีการแทงตลอดในการเรียน ก็ผิดเลย ไม่สามารถที่จะมีความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมได้ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง

    ถ้าศึกษาแล้วก็จะเข้าใจว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ที่เลิศกว่าบุคคลใดๆ ทั้งในโลกมนุษย์ และในทุกโลก เพราะเหตุด้วยทรงมีพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ แม้ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ความละเอียดของธรรม ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เพราะว่าเป็น เรื่องละ อย่างละเอียดมาก ต้องมีการรอบคอบ และระมัดระวังจริงๆ ว่า ขณะที่เราศึกษาธรรมเพื่อละหรือเปล่า หรือว่าเพื่ออะไร ถ้าตั้งตนไว้ผิดหรือว่าความเพียรผิด ไม่ใช่ความเพียรที่ถูกต้อง ก็ไม่สามารถที่จะได้ประโยชน์จากการศึกษาธรรมด้วย


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 136


    หมายเลข 9230
    29 ส.ค. 2567