ชาติของจิต
ผู้ฟัง การซักอาจารย์ รู้สึกว่า บางครั้งเหมือนกับว่าจะไปทดสอบอะไร คนฟังมีความรู้สึกว่า เราจะไปเหมือนกับว่า จะถามเพื่ออยากจะลองภูมิ อะไรทำนองนั้น หรือว่าเป็นการถามในลักษณะที่ว่า อีกอย่างก็กลัวว่า เดี๋ยวทำไมไม่ค่อยรู้เรื่อง ถามอยู่เรื่อยเลย อะไรอย่างนี้ครับ
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า ถามเพื่อให้ได้เหตุผล ถ้าอย่างมีคนจะบอกให้ดิฉันปฏิบัติธรรม ดิฉันก็จะต้องถามว่า ปฏิบัติคืออะไร ธรรมคืออะไร ไม่ใช่บอกให้ปฏิบัติธรรม ดิฉันก็ไปเลย ไปปฏิบัติธรรม อย่างนั้นไม่ได้ นี่คือไม่พิจารณา ไม่ซักถามให้เข้าใจ ไม่เป็นความเข้าใจของตัวเอง
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องฟัง หรือเรื่องใดๆ ก็ตามทั้งสิ้น ผู้ที่มีปัญญาจะมีความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย ชื่อว่าทำไปโดยไม่มีปัญญา ซึ่งการศึกษาธรรมจะไม่ใช่โดยลักษณะนั้น ไม่ใช่พึ่งคนอื่น โดยที่ว่าไม่เข้าใจ แต่เชื่อ แต่พึ่งโดยการที่ว่า ผู้นั้นสามารถจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจของเราเองไหม
ไม่ทราบคุณเสกสรรเข้าใจเรื่องชาติ ๔ หรือยังคะ หรือยังสงสัยอยู่ จิต เจตสิกมีชาติ ทุกขณะที่เกิดขึ้น เป็นอย่างหนึ่งอย่างใด
ผู้ฟัง จิตที่ว่าเป็นชาติอกุศล หรือกุศล หรือวิบาก กิริยา ก็พอจะเข้าใจครับ ว่า
ท่านอาจารย์ หมายความว่าจิตเกิดทีละ ๑ ขณะ แล้วขณะหนึ่งที่เกิดนั้นเป็นอะไร ที่ใช้คำว่าเป็นอะไร คือ ชาติเป็นชาติอะไร เพราะฉะนั้นต้องบอกได้เลยว่า ขณะนี้จิตที่เกิดขึ้น เป็นชาติอะไร ต้องมีชาติประจำตัวจิตทุกดวง ทุกขณะจิต
ผู้ฟัง กล่าวโดยสรุปก็คือว่า ลักษณะของจิตที่เกิดขึ้นนั้น เราต้องรู้จักลักษณะของกุศลว่าเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่าจิตมีชาติ จิตที่ไม่มีชาติเลย มีไหม ไม่มี ถ้าดิฉันถามครั้งที่ ๓ จิตที่ไม่มีชาติเลย มีไหม ไม่มี ถ้าถามถึง ๓ ครั้ง แล้วคราวหน้า อย่าลืม
ผู้ฟัง หนูไม่ถามถึงชาติ หนูยังข้องใจเรื่องปัญจทวาราวัชชนจิต
ท่านอาจารย์ เป็นจิตใช่ไหมคะ ปัญจทวาราวัชชนะ ชาติอะไร
ผู้ฟัง เป็นชาติกิริยา
ท่านอาจารย์ อันนี้แสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องรู้ หมายความว่าไม่ว่าจะพูดเรื่องจิตอะไร แม้แต่จิตที่จะถาม ที่จะสงสัย อย่าข้ามเรื่องชาติ ถ้าถามกลับว่า เป็นชาติอะไร ต้องตอบให้ได้ว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก หรือเป็นกิริยา ตอนนี้คุณสุพรรณีตอบถูกต้อง ซึ่งทุกคนก็คงจะทบทวนไปด้วยว่า กำลังพูดถึงจิตดวงหนึ่งซึ่งเป็นชาติกิริยา ชื่อว่า ปัญจทวาราวัชชนจิต ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คงไม่ยาก ใช่ไหมคะ ปัญจทวาราวัชชนจิต คำที่แปลกหูก็คือ วัชชนะ เพราะว่า ปัญจ ก็ทราบ ๕ ทวาร ทวารา ก็ทราบ ทวาร ๕ แล้วก็ อาวัชชนะ ปัญจทวาราวัชชนจิต
เพราะฉะนั้น การเรียนธรรม ไม่ใช่ว่าจะยากเกินไป เพียงสนใจสักหน่อยที่ว่า อย่าทิ้งภาษาบาลี แล้วอย่าคิดว่า ภาษาบาลีไม่ยอมฟัง ไม่ยอมจำ จะเอาแต่ความเข้าใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเหตุว่าพูดยาว ถ้าเป็นภาษาอื่น แต่ถ้าเข้าใจแล้วก็พูดสั้นๆ แม้แต่จิต ถ้าเข้าใจแล้วว่าคืออะไร เจตสิกคืออะไร ปัญจทวาราวัชชนจิตคืออะไร
ถ้าเราจะศึกษาพร้อมๆ กัน ไม่ทราบว่า มีใครไม่รู้จักจิตดวงนี้หรือเปล่าคะ ปัญจทวาราวัชชนจิต คุ้นหูหรือว่าใหม่ หรือว่าพอจะเข้าใจบ้างว่า เป็นจิตดวงหนึ่งซึ่งเป็นชาติกิริยา
ผู้ฟัง เป็นชาติกิริยา แล้วอาจารย์ก็แบ่งเป็นกุศล ๕ อกุศล ๕
ท่านอาจารย์ ไม่ถูกแล้วค่ะ เห็นไหมคะต้องตามลำดับจริงๆ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นกิริยาจิต ๑ ดวง นี่กำลังจะสับสน ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นจิต ๑ ดวง ๑ ขณะซึ่งเกิดก่อนปัญจวิญญาณ คือ เกิดก่อนจักขุวิญญาณที่กำลังเห็น เกิดก่อนโสตวิญญาณที่กำลังได้ยิน เกิดก่อนฆานวิญญาณที่ได้กลิ่น เกิดก่อนชิวหาวิญญาณที่ลิ้มรส เกิดก่อนกายวิญญาณที่รู้สิ่งที่กระทบกาย
เพราะฉะนั้นปัญจทวาราวัชชนจิตจะเกิดโดยอาศัยทวาร ๕ ทวาร แต่เกิดได้โดยอาศัยทีละ ๑ ทวาร เป็นจิตดวงเดียวไม่ใช่ ๕ ดวง เป็นชาติเดียว คือเป็นชาติกิริยา ถ้าเป็นกิริยาจิตจะเปลี่ยนเป็นกุศลไม่ได้ จะเปลี่ยนเป็นอกุศลไม่ได้ จะเปลี่ยนเป็นวิบากไม่ได้ ด้วยจิตนี้เป็นกิริยาจิตเป็นชาติกิริยาแล้ว จะเป็นชาติอื่นไม่ได้ อย่าสับสน
ปัญจทวาราวัชชนจิตไม่ใช่ปัญจวิญญาณ หรือทวิปัญจวิญญาณ นี่เป็นความละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่าคิดว่าชื่อคล้ายๆ กันก็คงเหมือนกัน หรือเป็นดวงเดียวกัน ไม่ได้เลย ธรรมเป็นเรื่องตรง เป็นเรื่องละเอียด และเป็นเรื่องที่เป็นปรมัตถธรรม คือ เปลี่ยนไม่ได้ ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นปัญจทวาราวัชชนจิต ถึงได้ถามว่าชาติอะไร ถ้าตอบว่าชาติวิบาก แล้วจะมาแบ่งเป็นกุศล อกุศลไม่ได้ เป็นชาติไหนก็เป็นชาตินั้นตลอดไป ต้องใช้คำว่าตลอดไป คือ วันนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตเป็นชาติกิริยา พรุ่งนี้ปัญจทวาราวัชชนจิตจะเป็นชาติกุศลไม่ได้
ผู้ฟัง อาจารย์คะ ปัญจวิญญาณ ตกลงก็เป็น ๑๐ ดวง ใช่ไหมคะ
ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า ทวิปัญจวิญญาณ ถ้าพูดถึง ๑๐
ผู้ฟัง แล้วก็มีกุศล อกุศล
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ ปนกันไม่ได้อีกแล้ว กุศลเป็นเหตุ กุศลวิบากเป็นผล เป็นจิตคนละดวง กุศลจิตเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยที่จะให้กุศลวิบากจิตเกิดภายหลัง อกุศลจิตเกิดแล้วดับไป เป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิดภายหลัง เพราะฉะนั้น กุศลจึงไม่ใช่กุศลวิบาก อกุศลจึงไม่ใช่อกุศลวิบาก
ด้วยเหตุนี้จิตจึงมี ๔ ชาติ กุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต