ไม่ใช่เราไปพิสูจน์


    ผู้ฟัง ผมคิดว่า การที่ได้ศึกษา ได้ฟัง ได้สนทนากันมา ก็คงจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์ของการที่จะรู้เรื่องจิตประเภทต่างๆ มากๆ ก็เพื่อที่จะให้สามารถรู้ความจริงว่า ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าชื่อว่า จิตเป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ แค่นี้เป็นบทนำ เป็นมาติกา หรือเป็นแม่บท หรือเป็นหัวข้อก็ได้ แต่ว่าถ้าไม่กล่าวถึงเรื่องจิตประเภทต่างๆ ประกอบ ทำอย่างไรถึงจะเห็นจริงๆ ว่า จิตเป็นแต่เพียงธาตุชนิดหนึ่งซึ่งเป็นธาตุที่สามารถที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ฟังท่านอาจารย์พูดก็ ที่บอกว่าให้รักษาจิต บางท่านก็บอกว่า ให้รักษาใจ บางท่านก็บอกว่า ให้รักษาจิต แต่กระผมคิดว่าจิตกับใจ ถ้าเราศึกษาเราจะรู้ว่า มันต่างกันแน่นอน แล้วจิตเห็น จิตได้ยินนั้นก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง ที่ว่าจิต ๔ ชาตินั้น กระผมคิดว่าคงจะเป็นใจ ใช่ไหม ครับอาจารย์ จิต กุศล หรืออกุศล วิบาก หรือกิริยา คงจะไม่ใช่จิตที่เห็น ได้ยิน แต่ว่าจะต้องเป็นใจเท่านั้น ใช่ไหมครับ ถึงจะเรียกว่าเป็นวิบาก กิริยา

    ท่านอาจารย์ ภาษาบาลีไม่มีคำว่า “ใจ” ภาษาไทย ใช้คำว่า “จิต” ซึ่งเอามาจากภาษาบาลี หมายความถึงใจ เพราะฉะนั้นจะใช้คำว่า จิต ใจ มนัส มโน หมายความถึงสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เป็นเรื่องของการที่ใช้คำหลายๆ คำ แล้วภาษาไทยเราก็ใช้ควบไปเลย “จิตใจ” ถ้าจิตไม่รู้เรื่อง ก็ใช้ใจเข้าไปด้วย ก็แสดงให้เห็นว่าเราใช้คำในภาษาบาลี แล้วเราก็ตามด้วยภาษาไทย เพื่อที่จะให้เขาใจความหมายนั้น เสด็จไป เสด็จมา ก็เป็นคำที่ประกอบคำที่เราไม่รู้ ให้เข้าใจว่าหมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง ก็นี้แหละครับ ความยากก็อยู่ที่ตรงนี้ สับสนว่าอะไรแน่

    ท่านอาจารย์ แต่อยากให้เปลี่ยนความคิดที่ว่า ไม่อยากจะจำภาษาบาลี ไม่อยากจะรู้เรื่องมาก เพราะบางท่านที่กล่าวเมื่อกี้ บอกว่าอยากจะพิสูจน์ โดยที่ไม่อยากจะจำอะไรทั้งนั้น แต่อยากจะพิสูจน์ความจริง ขณะนั้นด้วยความเป็นตัวตน ซึ่งไม่มีทางสำเร็จ

    เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่ศึกษาให้เป็นความเข้าใจเรื่องความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมโดยถ่องแท้ จะไม่มีเครื่องประกอบที่จะทำให้เกิดความเข้าใจว่า สภาพของจิตเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร ระลึกรู้เป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยการศึกษาทั้งหมด เพื่อที่จะได้ค่อยๆ เกิดความรู้ว่า ขณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏอย่างนี้ แล้วไม่เคยรู้เลย เคยแต่ฟังเรื่องของสภาพธรรม เคยแต่ฟังเรื่องของจิต

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราที่กำลังจะไปพิสูจน์ เพราะเราฟังมาว่ามีจิต ก็จะมีตัวตนซึ่งเป็นเราไปพิสูจน์ ขณะนั้นไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญา เป็นตัวเรา ไม่มีทางที่จะเอาตัวเราออกได้เลย แต่พระธรรมทั้งหมดแสดงความละเอียดของความเป็นอนัตตาของทั้งจิต เจตสิก รูป ขณะที่คิดอย่างนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ใช้คำว่าเป็นจิตชนิดหนึ่งก็ได้ ต้องรู้อย่างนี้จนกระทั่งเป็นสัญญา ความจำ ที่มั่นคงจริงๆ ในลักษณะของจิตประเภทต่างๆ ในวันหนึ่งๆ ว่า เป็นแต่เพียงจิตชนิดต่างๆ ถ้ามีการระลึกได้อย่างนี้ สัมมาสติก็จะมีการระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรม โดยไม่ใช่เราจะไปพิสูจน์


    หมายเลข 9247
    14 ส.ค. 2567