คำถามทบทวนปรมัตถธรรม ๒
ท่านอาจารย์ มาถึงคำว่า อเหตุกะกับสเหตุกะ อเหตุกะ หมายความถึง สภาพธรรมใดก็ตาม ที่มีเจตสิก ๖ ดวง ๑ใน ๖ หรือ ๒ หรือ ๓ ก็ได้ เกิดร่วมด้วย สภาพธรรมนั้นชื่อว่าสเหตุกะ สภาพธรรมใดก็ตาม ที่ไม่มีเจตสิก ๖ เกิดร่วมด้วยเลย สภาพธรรมนั้นเป็นอเหตุกะ เจตสิกที่เป็นอเหตุกะ มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เจตสิกที่เป็นอเหตุกะ มี เจตสิกที่เป็นสเหตุกะ มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มี เพราะเหตุว่าเจตสิกที่เกิดร่วมกับเหตุก็มี เจตสิกที่ไม่เกิดร่วมกับเหตุก็มี แต่เรายังไปไม่ถึง ใช่ไหม
ผู้ฟัง รู้สึกอาจจะผ่านมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่า ยังจำกันได้หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ฟังดูเหมือนไม่ค่อยสนุก แต่ตามความเป็นจริง ทำให้เราเข้าใจ และไม่ลืม จิตใดที่ไม่เกิดร่วมด้วยกับเหตุ จิตนั้นเป็นอเหตุกจิต เพราะฉะนั้นเจตสิกทั้งหมด ที่เกิดร่วมกับอเหตุกจิต ก็เป็นอเหตุกเจตสิกด้วย หมายความว่าทั้งจิต และเจตสิก สภาพธรรมใด ไม่ได้บอกแต่เฉพาะจิตอย่างเดียว แต่ว่าขณะใดที่จิตเกิด ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้งนั้น ทุกขณะไป จะมีจิตเกิดโดยไม่มีเจตสิกเกิดไม่มีเลย
เพราะฉะนั้นขณะใดที่จิตไม่มีเจตสิก ๖ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย เจตสิกอื่นๆ ที่เกิดกับจิตนั้น ก็ย่อมไม่มีเจตสิก ๖ ดวงนี้เกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นทั้งจิต และเจตสิก ไม่ใช่จิตอย่างเดียว จิต และเจตสิกเป็นอเหตุกะ จิตเห็น มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้นจิตเห็น เป็นอเหตุกะหรือสเหตุกะ คุณทศพร
ผู้ฟัง เป็นอเหตุกจิต
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ามีเจตสิกที่ไม่ใช่เหตุเกิดร่วมด้วย ถ้าจิตใดมีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตนั้นบางทีเรียกชื่อได้ตามเหตุ เช่น จิตใดมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ชื่อว่า โลภมูลจิต จิตใดมีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็ชื่อว่าโทสมูลจิต จิตใดมีแต่โมหเจตสิกอย่างเดียว ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ เกิดร่วมด้วย จิตนั้นก็เป็นโมหมูลจิต นี่เป็นฝ่ายอกุศล อกุศลจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย มีไหม คุณวรรณี
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วย จิตนั้นจะเป็นอกุศลจิตไม่ได้ ต้องมีอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะว่าเหตุมี ๖ เป็นอกุศลเหตุ ๓ และก็เป็นโสภณเหตุ ๓
ผู้ฟัง จิต เจตสิก ใช่หรือไม่
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วก็ดับ
ผู้ฟัง เกิดแล้วก็ดับ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ๗ ดวงนั้น กับเจตสิกที่เกิดกับจิตมากกว่า ๗ ดวงนั้น
ท่านอาจารย์ เพราะความต่างกันของสภาพธรรมหรือธาตุ ธาตุที่เป็นรูปไม่ใช่มีธาตุเดียว มีหลายธาตุ ใช่ไหม ฉันใด นามธาตุก็ไม่ได้มีชนิดเดียว หรือประเภทเดียว นามธาตุก็มีหลายธาตุ ฉันนั้น เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละธาตุ ซึ่งเป็นจิตก็จะต้องประกอบด้วยธาตุ ซึ่งเป็นเจตสิกตามสมควรแต่ลักษณะของจิตประเภทนั้นๆ เพราะตามความเป็นจริงแล้ว เมื่อสภาพธรรมไม่ใช่ตัวตน จะใช้คำว่าธรรม หรือจะใช้คำว่าธาตุก็ได้
เพราะฉะนั้นเจตสิกก็เป็นแต่ละธาตุด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อนามธาตุชนิดนี้ ต่างกับนามธาตุชนิดอื่น เพราะเจตสิกซึ่งเป็นนามธาตุที่เกิดร่วมกัน ต่างกัน ตามประเภทของธาตุนั้นๆ ในทางธรรม ไม่มีที่จะถามว่าทำไม เพราะว่าไม่มีใครทำ
ผู้ฟัง ไม่มีใครทำ
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทำ จึงไม่มีทำไม แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็รู้ตามความเป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งเป็นนามธาตุ ถ้าใช้คำว่า นามธาตุ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครปรุงแต่ง เมื่อใช้คำว่า รูปธาตุ ก็ไม่มีใครทำ ไม่มีใครสร้าง แต่เมื่อธาตุนั้นๆ เป็นอย่างไร ก็ศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจธาตุนั้นๆ ตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ครับ