คำถามทบทวนปรมัตถธรรม ๓


    อ.กฤษณา ข้อต่อไป ขอเรียนถามคุณกิมรสนะคะ ว่า วิญญาณขันธ์ เป็นเหตุหรือนเหตุ

    ผู้ฟัง วิญญาณขันธ์ เป็นนเหตุ

    อ.กฤษณา เป็น นเหตุ เหตุ ๖ เป็นขันธ์อะไรคะ

    ผู้ฟัง เป็น สังขารขันธ์

    อ.กฤษณา ท่านอาจารย์สมพร เหตุ ๖ เป็นสังขารขันธ์ ใช่หรือไม่

    อ.สมพร เหตุ ๖ คือ โลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เมื่อจัดเป็นขันธ์ ก็เรียกว่าสังขารขันธ์

    อ.กฤษณา โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ เป็นอัพยากตเหตุ หรือไม่

    ผู้ฟัง ไม่ เป็นอกุศลเหตุ

    อ.กฤษณา เพราะอะไรถึงไม่เป็น อัพยากตเหตุ

    ผู้ฟัง เพราะไม่เกิดกับวิบากจิต และกิริยาจิต

    อ.กฤษณา ถูก ใช่ไหมคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเป็นอกุศลเหตุ ถ้าเป็นอกุศลเหตุแล้ว จะไม่เกิดกับจิตชาติอื่นเลย ต้องเกิดกับอกุศลจิตอย่างเดียว

    อ.กฤษณา ข้อต่อไปจึงมีคำถาม เรียนถามว่า อโมหเหตุ เป็นชาติอะไร คุณวลัยภรณ์บอกว่าเป็นกุศลชาติ แล้วคุณวรรณี คิดว่าถูกไหม

    ผู้ฟัง เป็นปัญญา ก็เป็นกุศล

    อ.กฤษณา นอกจากกุศลชาติแล้ว เป็นชาติอื่นอีกไหม ขอเรียนเชิญอาจารย์เฉลยปัญหา

    ท่านอาจารย์ เมื่อสักครู่มีท่านหนึ่งตอบแล้ว ว่าเป็นโสภณ เพราะฉะนั้นเป็นวิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ กุศลก็ได้ เพราะว่าเป็นโสภณ

    อ.กฤษณา ตกลงว่า ๓ ชาติ

    ท่านอาจารย์ หลงไม่ได้ ลืมไม่ได้ ศึกษาธรรมต้องจำ เข้าใจ และละเอียด

    อ.กฤษณา ข้อต่อไป จึงมีคำถามเรียนถามว่า ธรรมชาติที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นเหตุหรือเป็นนเหตุ สภาพธรรมชาติที่ไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง เป็นเหตุหรือนเหตุ

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นโมหะ หรือว่าเป็นอวิชชา

    อ.กฤษณา เป็นโมหเหตุ ข้อต่อไป จึงเรียนถามว่า โมหเหตุเกิดพร้อมกับโทมนัสเวทนา ได้หรือไม่

    ผู้ฟัง ได้

    อ.กฤษณา ได้ แล้วโมหเหตุเกิดพร้อมกับทุกขเวทนา โดยนัยของเวทนา ๕ ได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    อ.กฤษณา ไม่ได้ อยากจะขอเรียนท่านอาจารย์ช่วยเฉลยว่า ทำไมถึงได้ ทำไมถึงไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบมีใครจะตอบก่อนไหม คำตอบถูกแล้ว แต่ไม่ทราบมีใครจะตอบอธิบายไหมว่าทำไมไม่ได้ โดยนัยของเวทนา ๕ แยกกายกับใจ เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงทุกขเวทนาแล้ว หมายความถึง ทุกข์กายวิญญาณ ซึ่งเป็นวิบากจิต เพราะฉะนั้นจะเกิดร่วมด้วยไม่ได้

    อ.กฤษณา ขอบคุณค่ะ ข้อต่อไป จะเรียนถามว่า โสภณเหตุ ประกอบกับจิตในภูมิใดได้บ้าง

    ผู้ฟัง กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิ อรูปาวจรภูมิ โลกุตรภูมิ

    อ.กฤษณา ต่อไป โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตจิต เป็นจิตที่มีเหตุประกอบกี่เหตุ

    ผู้ฟัง สองเหตุ ใช่ไหม เมื่อสักครู่ก็บอกว่ามีโลภะ โลภเหตุ แล้วมีอีกหนึ่งเหตุคือ โมหะกับโลภทิฏฐิคตวิปปยุต

    อ.กฤษณา ข้อต่อไปถามว่า โมหเจตสิกที่ประกอบในโมหมูลจิต เป็นสเหตุกะหรืออเหตุกะ

    ผู้ฟัง เป็นอเหตุกะ เพราะว่าไม่นับตัวเอง ตัวเองเป็นเหตุอยู่แล้ว

    อ.กฤษณา อาจารย์กรุณาย้ำอีกทีได้ไหม อธิบายอีกครั้ง

    ท่านอาจารย์ โมหมูลจิต มีเหตุ คือ โมหเจตสิก เกิดร่วมด้วยเพียงเหตุเดียว จึงไม่ใช่โลภมูลจิต ไม่ใช่โทสมูลจิต เพราะฉะนั้นเมื่อโมหเจตสิก เกิดร่วมกับจิตนั้น ทำให้จิตนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย คือ ไม่มีโลภเหตุหรือว่าโทสเหตุเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดกับโมหะ เจตสิกอื่นๆ และจิต เป็นเอกเหตุกะ หมายความว่า มีเหตุเกิดร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ต้องเป็นสเหตุกะ

    ผู้ฟัง ตัวโมหเจตสิกเอง เป็นอเหตุกะ

    ท่านอาจารย์ แต่เฉพาะโมหเจตสิกเท่านั้น ที่ไม่มีเหตุอื่นเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้นเจตสิกอื่นเป็นสเหตุกะ แต่โมหเจตสิกในจิตนั้นเป็นอเหตุกะ

    อ.กฤษณา ข้อต่อไปจึงมีคำถาม เรียนถามว่า จิตอะไร หมายถึงว่า จิตประเภทใดเป็นเอกเหตุกจิต หมายถึง จิตที่มีเหตุประกอบเหตุเดียว

    ผู้ฟัง จิต ใช่หรือไม่

    อ.กฤษณา จิต

    ผู้ฟัง โมหมูลจิต

    อ.กฤษณา โมหมูลจิต เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่ามีโมหเจตสิก ประกอบเพียงเหตุเดียว

    อ.กฤษณา อเหตุกจิต เป็นจิตภูมิใด

    ผู้ฟัง กามาวจรภูมิ

    อ.กฤษณา ท่านอาจารย์สมพร กรุณาอธิบายเกี่ยวกับภูมิของอเหตุกจิต

    อ.สมพร อเหตุกจิต แปลว่า จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ กามาวจรภูมิ ก็มี เช่น จักขุวิญญาณ ในรูปาวจรภูมิ นอกจากว่าเป็นพรหม เช่นว่าเป็นพรหม มีจักขุวิญญาณ ซึ่งเป็นอเหตุกจิตด้วย ภูมิ ถ้ากล่าวถึงภพ ที่เกิดของจิต ที่เกิดของสัตว์ในกามภูมิ ที่เกิดของสัตว์ในรูปภูมิ อรูปภูมิ ก็ต้องมีด้วย มี เว้นแต่อรูปาวจรภูมิบางอย่าง บางอย่างไม่มีจักขุวิญญาณ ไม่มีโสตวิญญาณ แต่มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกจิตยังมีอยู่ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็คงเว้นโลกุตรภูมิไม่มี ในกามภูมิเราเห็นง่าย เช่น จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ เป็นอเหตุกจิต

    อ.กฤษณา เพราะฉะนั้นอเหตุกจิต เป็นจิตกามาวจรภูมิ ขอบพระคุณค่ะ ข้อต่อไป จะมีคำถามเรียนถามว่า เหตุอะไรบ้างในเหตุ ๖ ที่ไม่ประกอบกับปฏิฆสัมปยุตจิต ปฏิฆสัมปยุตจิตเคยสนทนาผ่านมาแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง มีอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ และโลภเหตุ

    อ.กฤษณา ขอท่านอาจารย์ช่วยเฉลย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะเหตุว่าปฏิฆสัมปยุต ได้แก่ โทสมูลจิต ๒ ดวง ซึ่งจะต้องมี โมหเหตุกับโทสเหตุเท่านั้น เพราะฉะนั้นก็ต้องฝ่ายโสภณเหตุ ไม่เกิดร่วมด้วยกับอกุศลจิต อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหะ ได้แก่ ปัญญา ไม่เกิดร่วมด้วย พร้อมกันนั้นก็ไม่มีโลภเจตสิก ซึ่งเป็นโลภเหตุเกิดด้วย เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต

    อ.กฤษณา ขอบพระคุณนะคะ

    ท่านอาจารย์ ในอรูปพรหมภูมิ มีกามาวจรจิตไหม

    อ.สมพร กามาวจรจิต ต้องมีแน่ เพราะว่าพวกกิเลสที่ยังละไม่ได้ แต่ว่าถ้ากามาวจรจิต ยังประกอบด้วยเหตุอยู่ มีโลภเหตุ เว้นโทสะ โลภะกับโมหะ มีได้ โทสะไม่มีในอรูปาวจรภูมิ โทสะถูกระงับไว้ไม่เกิดขึ้น แต่ว่ากามาวจรจิตอีกพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นอเหตุกะ ก็เกิดได้ในอรูปพรหมภูมิ ลองพิจารณาได้อะไร จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ เป็นกามาวจรจิต เปรียบเหมือนช้างใหญ่ จิตดวงนี้ มหาคช ช้างใหญ่ เป็นจิตดวงหนึ่งที่เกิดได้ทุกภพภูมิ ท่านว่าอย่างนั้น มโนทวาราวัชชนจิต จิตดวงนี้เปรียบอุปมาด้วยสัพพัญญุตญาณ ท่านเปรียบเท่านั้นเอง แต่สัพพัญญุตญาณ เกิดได้

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามนิดหนึ่งครับ ผมคิดว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกัน คำว่าอเหตุกจิต หมายถึง จิตที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ นั่นเราเข้าใจกันแบบง่ายๆ ว่าไม่มีทั้งกุศล และอกุศล

    ท่านอาจารย์ ต้องพูดถึงเหตุ หมายความว่า ไม่มีเหตุ ๖ ให้ชัดลงไป

    ผู้ฟัง เมื่อไม่มีเหตุ ๖ ก็เข้าใจว่าเป็นกามาวจรจิตหรือเปล่า ก็ต้องถามอีก

    ท่านอาจารย์ เอาประเด็นนี้ก่อน ว่าอเหตุกจิต เป็นกามาวจรจิตหรือเปล่า เพราะอะไร ทำไมจึงเป็นกามาวจรจิต

    ผู้ฟัง ทำไมจึงเป็นกามาวจรจิต ขอบคุณครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบก่อนว่า กาม ได้แก่อะไร กาม ที่เป็นอารมณ์ ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อเหตุกจิต ๑๐ ดวง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นอกจากนั้นจิตอื่นๆ ก็เนื่องกับรูปเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้นจึงต้องเป็นกามาวจรจิต

    ผู้ฟัง เพราะว่าเกิดในกามภูมิ ใช่ไหม ถึงต้องเป็นกามาวจรจิต

    ท่านอาจารย์ เพราะมีรูป เสียง กลิ่น รส ไม่ว่าจะไปเกิดบนรูปพรหมภูมิ จักขุวิญญาณของรูปพรหมบุคคลมี แต่จักขุวิญญาณเป็นกามาวจรจิต จักขุวิญญาณของรูปพรหม ไม่ใช่เป็นรูปาวจรจิต แต่โดยระดับภูมิของจิตแล้ว จิตเห็น ไม่ว่าจะเป็นจิตเห็นของมนุษย์ ของสัตว์ในอบายภูมิ สัตว์เดรัจฉาน นรกเปรต อสูรกาย หรือเป็นเทพ หรือเป็นพรหม จักขุวิญญาณต้องเป็นกามาวจรจิต เพราะเหตุว่ามีสีเป็นอารมณ์ โสตวิญญาณก็เป็นกามาวจรจิต เพราะว่ามีเสียงเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าคงเข้าใจแจ่มแจ้ง ว่าทำไมพรหม จึงเป็นกามาวจรจิต ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นรูปพรหมภูมิ ยังมีการเห็น เพราะฉะนั้นจักขุวิญญาณของรูปพรหมบุคคล จักขุวิญญาณนั้นไม่เปลี่ยน เป็นกามาวจรจิต จิตเป็นภูมิใด ก็เป็นภูมินั้น ใครจะไปเปลี่ยนภูมิ หรือเปลี่ยนชาติของจิตไม่ได้เลย


    หมายเลข 9252
    22 ก.ย. 2567