คำถามทบทวนปรมัตถธรรม ๖
อ.กฤษณา คำถามมีว่า โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ใช่หรือไม่
ผู้ฟัง ใช่
อ.กฤษณา เพราะเหตุใด
ผู้ฟัง ไม่ทราบ
อ.กฤษณา ถูกไหม ตอบว่า ใช่
อ.สมพร ปัญหาบอกว่า โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ใช่หรือไม่ โสภณจิตต้องประกอบด้วย วิบาก ๑ กุศล ๑ กิริยา ๑ สามอย่าง ไม่ใช่เฉพาะกุศลอย่างเดียวพูดถึงโสภณจิต ก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทั้งกุศล ทั้งวิบาก ทั้งกิริยา มีทั้ง ๓ อย่าง
อ.กฤษณา เพราะฉะนั้นโสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ก็ต้องไม่ใช่ ใช่ไหม เพราะว่าโสภณจิต
อ.สมพร ไม่ได้เป็นกุศลอย่างเดียว
อ.กฤษณา ไม่ได้เป็นกุศลอย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญที่สุด การศึกษาพระธรรม หลงลืมไม่ได้ สังเกตดูส่วนมากบางทีก็เข้าใจ แต่ลืม แต่ข้อที่จะทำให้เราลืมไม่ได้ก็คือว่า คำพูดที่ต่างกัน ถ้าพูดว่าเป็นกุศล หมายความถึง ชาติกุศลเท่านั้น แต่ถ้าใช้คำว่าโสภณ คนนี้เปลี่ยนแล้ว ใช่ไหม ไม่ได้มุ่งหมายแต่เฉพาะกุศลอย่างเดียว แต่รวมกุศลก็ได้ กุศลวิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าใช้คำว่าโสภณ เราต้องคิดกว้างๆ แล้ว ว่าเขาไม่ได้มุ่งหมายแต่เฉพาะกุศล แต่รวมถึงวิบาก และกิริยา ที่เป็นฝ่ายดีเท่านั้น แต่ถ้าเจาะจงกุศล จะไม่รวมวิบาก จะไม่รวมกิริยา
อ.กฤษณา แต่สำหรับคำถามที่โสภณจิตทุกดวงเป็นกุศล ใช่หรือไม่ ต้องตอบ ไม่ใช่ เพราะว่าโสภณจิต มีทั้งกุศล มีทั้งวิบาก และกิริยา ไม่มีอกุศลอย่างเดียว ข้อต่อไปถามว่า สเหตุกจิต เป็นโสภณหรืออโสภณ
ผู้ฟัง เป็นทั้งโสภณ และอโสภณ
อ.กฤษณา เพราะเหตุใด
ผู้ฟัง เพราะมีทั้งที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล
อ.กฤษณา ขอท่านอาจารย์สมพรช่วยเฉลยด้วย
อ.สมพร ก่อนอื่นคำว่า สเหตุกจิต จิตที่มีเหตุ คำว่ามีเหตุ อย่างอกุศลก็มีเหตุ กุศลก็มีเหตุ อกุศลก็มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นเหตุ กุศล ก็มีอโลภะ อโทสะ อโมหะ จิตที่มีเหตุหนึ่งก็เรียกว่าสเหตุกะ เป็นทั้งอกุศลก็ได้ กุศลก็ได้ แล้วแต่ถ้าพูดกลางๆ สเหตุกะ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ก็ต้องมุ่งถึงอย่างนี้ เพราะว่าอกุศลก็มีเหตุ กุศลก็มีเหตุ
อ.กฤษณา ขอบพระคุณนะคะ ข้อต่อไปถามว่า ทวิเหตุกจิต คือ จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เป็นโสภณหรืออโสภณ
ผู้ฟัง อโสภณ
อ.กฤษณา ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์เฉลยปัญหาด้วย
ท่านอาจารย์ คำว่า ทวิเหตุกจิต หมายความถึง จิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เหตุ เพราะฉะนั้นจิตที่ประกอบด้วยเหตุ ๒ เหตุ เป็นอกุศลก็มี เป็นกุศลก็มี หรือว่าเป็นวิบากก็มี เป็นกิริยาก็มี เพราะฉะนั้นก็จะทราบได้ว่า ที่เป็นอกุศล ๒ เหตุนั้น ได้แก่ โลภมูลจิต ซึ่งประกอบด้วยโมหเจตสิก และโลภเจตสิก จึงเป็น ๒ เหตุ และโทสมูลจิต ก็ประกอบด้วย ๒ เหตุ คือ ประกอบด้วยโมหเจตสิกกับโทสเจตสิก ทางฝ่ายโสภณ เช่น กามาวจรกุศล ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ก็ต้องประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ และเวลาที่เป็นวิบาก เป็นกิริยา ก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นที่เป็นอกุศลก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นวิบากก็มี ที่เป็นกิริยาก็มี
อ.กฤษณา อีกคำถามหนึ่ง กามาวจรจิตประเภทใด ไม่เป็นอโสภณจิต
ผู้ฟัง ชาติกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา ไม่ทราบว่าถูกต้องไหม
อ.กฤษณา จะถูกหรือไม่ ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์เฉลยปัญหา
ท่านอาจารย์ ถ้าพูดถึง โสภณกับอโสภณ ทางฝ่ายกามาวจรจิต ตัดอโสภณจิต ๓๐ ออก ที่เหลือก็ต้องเป็นโสภณจิต ๒๔ ดวง
อ.กฤษณา เพราะฉะนั้นกามาวจรจิต ประเภทที่ไม่เป็นอโสภณจิต ก็คือ เป็นโสภณจิต ก็ได้แก่ กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ข้อต่อไปถามว่า อโมหเหตุประกอบกับโสภณจิต หรืออโสภณจิต เพราะเหตุใด
ผู้ฟัง อโมหะ ก็เป็นปัญญา ปัญญาเป็นโสภณเจตสิก โสภณเจตสิกก็ต้องประกอบกับจิตที่เป็นโสภณ
อ.กฤษณา ข้อไปถามว่า โลกุตรธรรม ไม่เป็นโสภณธรรม มีหรือไม่ ได้แก่อะไร
ผู้ฟัง โลกุตรธรรมก็มี มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑
อ.กฤษณา ถ้าเช่นนั้น โลกุตรธรรมที่ไม่เป็นโสภณธรรม มีไหม
ผู้ฟัง มี คือ นิพพาน
อ.กฤษณา ทำไมตอบว่า นิพพาน
ผู้ฟัง นิพพาน ไม่ได้รวมกับโสภณเจตสิก นิพพานเป็นปรมัตถธรรม ที่ไม่ใช่เจตสิก ไม่มีสภาพรู้อะไร จะเป็นโสภณไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้จัดไว้เป็นโสภณ ถูกไหม
อ.กฤษณา จะถูกหรือไม่ ขอเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์เฉลยปัญหา
ท่านอาจารย์ โลกุตรธรรมมี ๙ คือ โลกุตรจิต ๘ แล้วก็นิพพาน ๑ จริงๆ แล้วพระนิพพาน หรือนิพพานเป็นโลกุตรธรรม แต่จิตที่รู้แจ้งนิพพาน แล้วดับกิเลส หรือว่าเป็นสภาพของจิตที่ดับกิเลสแล้ว มีนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นโลกุตรจิต เพราะฉะนั้นโลกุตรธรรม ๙ ได้แก่ นิพพาน ๑ และโลกุตรมรรค คือ โสตาปัตติมัคค์ สกทาคามีมัคค์ อนาคามิมัคค์ อรหัตตมัคค์ เป็นโลกุตรกุศลจิต มีนิพพานเป็นอารมณ์ และดับกิเลส จึงเป็นมัคคจิต ส่วนโลกุตรวิบาก ซึ่งเป็นผล ได้แก่ โสตาปัตติผล สกทาคามิผลจิต อนาคามิผลจิต และอรหัตตผล เป็นโลกุตรจิต ซึ่งมีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสภาพที่ดับกิเลสแล้ว เป็นผลต่อจากโลกุตรกุศลจิต จึงชื่อว่าโลกุตรธรรมด้วย เพราะเหตุว่ามีนิพพานเป็นอารมณ์
เพราะฉะนั้นโลกุตรธรรมทั้งหมด มี ๙ คือ โลกุตรจิต ๘ และนิพพาน ๑ ที่นิพพานไม่เป็นโสภณธรรม เพราะเหตุว่า นิพพานไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แต่ว่าเฉพาะจิต และเจตสิก ซึ่งมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่านั้น จึงจะเป็นโสภณธรรมหรือว่าโสภณจิตได้ ต้นไม้จะไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย จะเป็นอโสภณ หรืออโสภณก็ไม่ได้ นิพพานก็ไม่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย เพราะเหตุว่านิพพานไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้นจะเป็นโสภณหรืออโสภณไม่ได้
สำหรับจิต มีเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นโสภณจิตได้ และจิตที่ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงเป็นอโสภณ
อ.กฤษณา ถ้าอย่างนั้นที่ว่ารูปที่ดีงาม คือ รูปที่สวยๆ งามๆ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ เราก็พูดได้ว่า เป็นรูปที่ดีงาม แต่ถ้าจะพูดว่ารูปที่ดีงามนั้น เป็นโสภณไม่ได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะต้องทราบว่า รูปที่ดีงาม หมายความว่า รูปที่น่าพอใจ
อ.กฤษณา อย่างคนสวยๆ นี้ก็น่าพอใจ
ท่านอาจารย์ แต่รูปไม่รู้ตัวเลย
อ.กฤษณา ไม่รู้ตัวเลย
ท่านอาจารย์ รูปไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นถึงรูปจะสวย จะผ่องใส จะน่าดู ใครจะรัก จะติดใจ จะประเมินราคาสักเท่าไร เช่น แหวนเพชรก็ตามแต่ แต่รูปธรรมไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้นสำหรับเจตสิก ซึ่งเป็นโสภณเป็นธรรมฝ่ายดี จะเกิดเฉพาะกับจิตเท่านั้น จะไม่เกิดกับรูป
อ.กฤษณา เพราะฉะนั้นจะสรุปได้ไหมว่า สภาพธรรมอะไรก็ตาม ที่ไม่รู้อะไรเลย คือ รูปธรรม และนิพพานธรรม คือ นิพพานแม้ว่าจะเป็นนามธรรมแต่ก็ไม่รู้อะไรเลย เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย จะมาพูดว่าเป็นโสภณหรืออโสภณไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
อ.กฤษณา ก็คงจะต้องเป็นความเข้าใจที่มั่นคง ในเรื่องโสภณ และอโสภณ ตามที่ท่านวิทยากรได้กรุณาอธิบาย ข้อต่อไปถามว่า สัญญาขันธ์เป็นโสภณหรืออโสภณ
ผู้ฟัง เป็นทั้ง ๒ อย่าง สัญญานี้ประกอบกับจิตทุกดวง ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเป็นโสภณจิตหรืออโสภณจิต ก็จะเป็นเจตสิกที่ประกอบกับโสภณหรืออโสภณ ก็เป็นทั้ง ๒ อย่าง
อ.กฤษณา ขอท่านอาจารย์สุจินต์อธิบาย
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่โดยมากเรามักจะเผลอ ใช้คำที่ติดปากว่าทั้ง ๒ อย่าง ความจริงเป็นโสภณก็ได้เป็นอโสภณก็ได้ ไม่ใช่พร้อมกัน
อ.กฤษณา ขออีกคำถามหนึ่ง โสภณธรรมเป็นขันธ์อะไรบ้าง
ผู้ฟัง ขันธ์ ๔ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อ.กฤษณา ข้อต่อไปถามว่า วิญญาณขันธ์ที่เป็นอโสภณ มีอะไรบ้าง
ผู้ฟัง ต้องกราบขอคำอธิบายด้วย เพื่อจะได้แจ่มแจ้ง
อ.กฤษณา เรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์
ท่านอาจารย์ ที่จริงถ้าไม่อยากจะจำมากๆ จำน้อยๆ ก็ได้ คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง และอเหตุกจิต ๑๘ ดวงเท่านั้น จบ หมายความว่า มีอโสภณจิต ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นวิญญาณขันธ์ เพราะจะใช้จิตหรือจะใช้วิญญาณขันธ์ก็ได้ ก็มีอโสภณ ๓๐ ดวงเท่านั้น จำไว้ได้เลย ใน ๘๙ ดวงเอาออก ๓๐ ดวง นอกจากนั้นเป็นโสภณหมด
ผู้ฟัง ผมไปติดอยู่ที่อเหตุกจิต ๑๘ ดวงแค่นั้น
ท่านอาจารย์ เอามารวมด้วย คือ ไม่ใช่แต่เฉพาะอกุศลจิต ๑๒ ที่เป็นอโสภณ เพราะว่าโดยมากคนเข้าใจแน่นอนว่า อกุศลจิต เป็นอโสภณจิต ใช่ไหม แต่นอกจากอกุศลจิต ๑๒ ดวงแล้ว ยังมีจิตที่เป็นอโสภณด้วย โดยความหมายที่ว่า ไม่มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยอีก ๑๘ ดวง เพราะฉะนั้นอเหตุกจิต ๑๘ ดวง เป็นอโสภณด้วย เพราะฉะนั้นวิญญาณขันธ์ ที่เป็นอโสภณ ก็ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ และอย่าลืมอเหตุกจิต ๑๘ รวมเป็นอโสภณจิต ๓๐ จะใช้คำว่าอโสภณวิญญาณขันธ์ ๓๐ ก็ได้