กุศลฌาน - อกุศลฌาน ๑


    ผู้ฟัง อ่านหนังสือของท่านอาจารย์สุจินต์ ท่านใช้คำว่า ฌาน ก็หมายถึง จิตที่พ้นกามอารมณ์ อยากจะให้อาจารย์อธิบายนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ อยากจะพูดถึงทั่วๆ ไป ที่เราเข้าใจคำว่า ฌาน หรือใช้คำว่าฌาน ทั่วไปใช้คำว่า ฌาน ในความหมายไหน คุณสุรีย์ พอจะบอกได้ไหม

    ผู้ฟัง ในความหมายที่เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ คือคน ไม่ใช่คนวัด ยังไม่เคยเข้าวัดเลย แล้วได้ยินคำว่า ฌาน เขาจะคิดว่าอย่างไร หลับตาแล้วหลับเลย หรือว่าอย่างไรที่ว่า ฌาน ที่โดยคนทั่วๆ ไปที่เข้าใจ เพราะฉะนั้นก็คิดเอาโดยอาการว่า ถ้าเป็นในลักษณะที่นั่งนิ่งๆ เฉยๆ หมายความว่า เราก็เรียกว่าคนนั้นไม่รับรู้อะไรหมด เขากำลังเข้าฌาน แต่ก็มีสองอย่าง ใช่ไหม คือ ถ้าคนหลับ บางคนก็บอกว่าคนนี้กำลังเข้าฌาน แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นคำล้อเลียนก็ได้ ใช่ไหม สำหรับคนที่นั่งเฉยๆ แต่ตามหลักวิชาการจริงๆ ถ้าจะพูดถึงฌานโดยศัพท์

    อ.สมพร ตามศัพท์ แปลว่า เพ่ง เพ่งหรือเผา

    ท่านอาจารย์ เป็นกุศลก็ได้ เป็นอกุศลก็ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้นก่อนอื่นให้ทราบว่า ที่จะว่าเป็นฌาน ได้แก่ เจตสิกอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เข้าใจจริงๆ บนกระดานนี้ก็มีวิตกเจตสิก ๑ วิจารเจตสิก และก็ปีติเจตสิก สุขนี่คือโสมนัสเวทนา แล้วก็เอกัคคตาเจตสิก แต่นี่เป็นฝ่ายกุศล ฝ่ายอกุศลก็มี

    อ.สมพร อกุศลฌาน มีในพระสูตร คือ พระอานนท์กล่าวกับพราหมณ์ พราหมณ์ก็บอกว่า พระอานนท์คงจะเพ่งฌานอยู่เป็นนิจ พระอานนท์ก็ตอบว่า ฌาน ที่เป็นอกุศลก็มี พระอริยทั้งหลายไม่เพ่งฌานที่เป็นอกุศล ฌานที่เป็นอกุศล คืออะไร ก็คือ นิวรณ์ ๕ กามฉันทะ เพ่ง และพิจารณาโดยนิวรณ์ เหมือนอย่างคำว่า อภิชฌาวิสมโลภะหรือกามฉันทะ เพ่งเหมือนงูที่จะกินเขียด เพ่ง คอยจ้อง หรือเราจ้อง ต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็คือ การเพ่งเหมือนกัน ประกอบเพ่งนั้น คือ อะไร เพ่ง คือ วิตก ตรึก เพ่ง จ้อง วิตกวิจาร ก็มีองค์ แต่มันเป็นอกุศล เรียกว่าอกุศลฌาน ในพระสูตรมีเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้นก่อนอื่น ให้เข้าใจคำว่า ฌาน เพราะว่าถ้าเข้าใจว่าฌานเป็นฝ่ายดีอย่างเดียว พอไปเจออกุศลฌานทีหลัง ก็จะเกิดสับสนว่า เป็นไปได้อย่างไร ที่มีอกุศลฌาน ความจริงฌาน ก็ได้แก่ เจตสิกที่กล่าวแล้ว วิตกเจตสิก วิจารเจตสิก ปีติเจตสิก เอกัคคตาเจตสิก แล้วก็เวทนาอีก ๓ อย่างคืออุเบกขาเวทนา โสมนัสเวทนา โทมนัสเวทนา ล้วนเป็นองค์ของฌาน หรือว่าเป็นฌานปัจจัย

    เพราะฉะนั้นฌาน ถ้าเป็นฝ่ายอกุศล ถ้ามีกำลังหรือเผา หรือเพ่งธรรม เมื่อมีองค์ของฌานก็เป็นฌานได้ แต่ว่าเป็นอกุศลฌาน เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงฌาน แล้วก็บอกว่ามีแต่ฝ่ายกุศล คนที่ได้ศึกษาแล้ว ก็จะกล่าวว่าไม่ใช่มีแต่กุศลเท่านั้น อกุศลฌานก็มี เพราะฉะนั้นก็กล่าวถึงองค์ของฌาน ที่เป็นอกุศลได้ แต่สำหรับที่จะกล่าวถึงในวันนี้ คุณสุรีย์หมายความถึงเฉพาะ ฌานที่เป็นกุศล ซึ่งได้แก่ สภาพของจิตที่ตั้งมั่นคง ประกอบด้วยองค์ของฌาน จนกระทั่งจิตสงบเป็นขั้นๆ จนถึงขั้นที่กล่าวว่า เป็นอัปปนาสมาธิ จึงจะเป็นฌานจิต ถ้ายังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ก็ยังไม่ใช่ฌานจิต แสดงว่าสมาธิมีหลายขั้น

    ผู้ฟัง ที่เรียกว่าพ้นจากกามอารมณ์นี้ หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าในกามาวจรภูมิ คือ ระดับจิตของกามาวจรนี้ เป็นฌานไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเป็นอกุศลได้ไหม อกุศลฌาน

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้เรากำลังจะกล่าวถึงกุศลฌาน เพราะฉะนั้นถ้าฝ่ายอกุศลฌานก็มี อย่างที่กล่าวแล้ว ไม่ใช่มีแต่กุศลฌาน เพราะฉะนั้นก็ตัดฝ่ายอกุศลฌานไป จะกล่าวถึงแต่เฉพาะกุศลฌาน ซึ่งหมายความถึงกุศลจิต ที่อาศัยกามาวจรกุศล แต่ว่ามีการที่จะระลึกรู้ลักษณะของอารมณ์ ที่ทำให้จิตสงบเป็นกุศล มั่นคงขึ้น จนกระทั่งความสงบนั้นปราณีต และก็ปรากฏเป็นสมาธิขั้นต่างๆ จนกระทั่งถึงขั้นที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ เท่านั้นที่จะเรียกว่าฌานจิต แต่ก่อนที่จะเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นจิตระดับขั้นกามาวจรจิต แม้ว่าจิตจะสงบขึ้น สงบขึ้น แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ ก็ยังไม่ใช่ที่เรียกว่า ฌานจิต

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สุจินต์ สำหรับกามาวจรกุศลจิต มี ๘ ดวง ใช่ไหม ทีนี้ดวงไหนที่จะต้องเป็นบาทของฌาน หรือว่าจะต้องอบรมให้ถึงตรงนั้น แล้วถึงจะขึ้นฌานได้

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นคงจะต้องพูดถึงระดับขั้นของกุศล ที่เป็นกามาวจรจิต ยังไม่ต้องคิดถึงดวงก็ได้ ให้ทราบว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญกุศล อีกระดับหนึ่ง ที่จะให้ถึงขั้นรูปาวจร อัปปนาสมาธิ ซึ่งเราใช้คำว่าฌานจิต ไม่ใช่กุศลระดับขั้นทาน ขั้นศีล ที่เรากระทำกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่ต้องเป็นผู้ที่มีปัญญา เห็นโทษว่าในวันหนึ่งๆ แม้ว่าเราจะมีโอกาสทำกุศลบ้าง แต่ก็น้อยมาก

    เพราะฉะนั้นวันหนึ่งๆ ก็มีแต่อกุศลทั้งนั้นเลย เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่เห็นโทษอย่างนี้ แล้วก็มีปัญญา ที่สามารถจะประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ที่รู้ความต่างกันของจิต ซึ่งเป็นกุศล และอกุศล จึงสามารถที่จะเจริญภาวนา ที่เป็นสมถภาวนา หรือแม้วิปัสสนาภาวนาได้ ถ้าไม่มีปัญญา เป็นเพียงกุศลที่เป็นขั้นระดับของทาน ศีลในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป ก็ไม่ถึงฌานจิต ไม่ถึงโลกุตรจิตแน่

    เพราะฉะนั้นต้องเป็นผู้ที่มีกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญาพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะมิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้น จิตเป็นอกุศล เป็นนิวรณ์ประเภทหนึ่งประเภทใด ถ้าไม่ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ ก็ละนิวรณ์ในขณะนั้นไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นนิวรณ์ หรือว่าเป็นธรรมที่กั้นไม่ให้กุศลมั่นคงขึ้น

    คำถามข้อต้นที่ว่า ความต่างกันของจิตระดับกามาวจรจิต กับรูปาวจรจิต ก็คือว่า เวลาที่เป็นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นกุศลฌาน ขณะนั้นที่ว่าพ้นจากกามเพราะเหตุว่า ไม่รับรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะว่าตามธรรมดาของเรา ที่มีตาจะไม่ให้เห็นก็ไม่ได้ ที่มีหูก็ต้องได้ยิน ที่มีจมูกก็ต้องได้กลิ่น แต่ว่าถ้าในขณะนั้น จิตเป็นความสงบระดับขั้นอัปปนาสมาธิ ที่เป็นฌานจิต จะไม่มีการรู้อารมณ์ที่เป็นกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น จะมีแต่เฉพาะอารมณ์ของฌานจิต ที่ทำให้จิตมั่นคง สงบ แน่วแน่ และก็ไม่รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ


    หมายเลข 9256
    19 ก.ย. 2567