โลกียะ - โลกุตระ


    ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์ช่วยกรุณาอธิบาย คำว่า โลกียปัญญา ซึ่งเป็นของปุถุชน และโลกุตตรปัญญาซึ่งเป็นของพระอริยเจ้า

    ท่านอาจารย์ คือธรรมเป็นเรื่องที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยการตรัสรู้ ซึ่งใช้ภาษาบาลี ซึ่งเราต้องพยายามเข้าใจให้ถูกต้องในพยัญชนะที่ใช้ ไม่ใช่ความเข้าใจเดิมของเรา แม้แต่คำว่า โลกียะ กับ โลกุตตระ และโลกียปัญญาหรือโลกุตตรปัญญา ถ้าเป็นโลกียปัญญา ก็หมายความว่า ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่เกิดกับมรรคจิตหรือโลกุตตรจิต แต่ขณะใดก็ตามที่เป็นปัญญาที่เกิดกับโลกุตตรจิต ขณะนั้นก็เป็นโลกุตตรปัญญา

    ผู้ฟัง ก็หมายความว่า ถ้าเป็นโลกียปัญญา ก็คือ ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นมรรคหรือเป็นผล

    ท่านอาจารย์ ปัญญาที่ไม่ได้เกิดกับโลกุตตรจิต

    ผู้ฟัง โลกียจิตล่ะคะ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นจิตซึ่งไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ โดยดับกิเลส หรือโดยกิเลสดับแล้วซึ่งได้แก่ มรรคจิต ผลจิต ๘ ดวง นอกจากนั้นแล้วก็เป็นโลกียจิต

    อ.กฤษณา สภาพธรรมที่เกิดดับก็คือเป็นโลก แล้วก็เป็นโลกียะด้วย มีคำว่าโลกียะด้วย ก็มาสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นโลกียจิต ก็เป็นจิตที่เนื่องด้วยการเกิดดับ แล้วทีนี้โลกุตตรจิตก็เกิดดับ ทำไมจึงไม่เรียกว่าโลกียะ เพราะว่าตัวสภาพของโลกุตตรจิตเอง ก็เกิดดับแล้ว ทำไมไม่เรียกโลกุตตรจิตว่าโลกียจิตด้วย สงสัย ขอท่านอาจารย์สุจินต์ กรุณาอธิบายให้กระจ่างนิด

    ท่านอาจารย์ คือถ้าพูดถึงโลกียจิตกับโลกุตตรจิต จะแสดงให้เห็นว่า จิตต่างกันเป็น ๒ ประเภท ลักษณะของจิตเป็นสภาพที่ต้องเกิดดับแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นโลกียจิตหรือโลกุตตรจิตก็เกิดดับ ไม่ใช่ว่าโลกุตตรจิตแล้วไม่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก เกิดดับเป็นสภาพที่เกิดดับ แต่จำแนกจิตให้เห็นว่า จิตทั้งหมดต่างกันออกได้อีกนัยหนึ่ง คือ โดยประเภทที่เป็นโลกุตตระ เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ อันนี้เพราะมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่สภาพของโลกุตตรจิตก็ยังต้องเกิดดับอยู่ ไมใช่ว่าเมื่อมีนิพพานเป็นอารมณ์แล้วจะไม่เกิดดับ แต่ที่มีฐานะเป็นโลกุตตรจิต เพราะเหตุว่ามีนิพพานซึ่งเป็นสภาพซึ่งไม่ใช่โลกเป็นอารมณ์ เวลาที่เป็นโลกุตตรจิต เนื่องด้วยอารมณ์ที่เป็นโลก ได้ไหมคะ ยังเนื่องกับโลกอยู่ เวลาที่เป็นโลกียจิต

    อ.กฤษณา โลกียจิตคือจิตเนื่องด้วยอารมณ์ที่เป็นโลก

    ท่านอาจารย์ แต่เวลาที่เป็นโลกุตตรจิตนี้ไม่เนื่องกับสภาพธรรมที่เกิดดับ

    อ.กฤษณา จะมาเกี่ยวกับเกิดดับอย่างไรคะ โลกียจิต

    ท่านอาจารย์ โลกุตตรจิตเป็นจิตซึ่งต้องเกิดดับ แต่เนื่องจากมีอารมณ์ที่ไม่เกิดดับ คือโลกุตตระเป็นอารมณ์ ที่เราจะจำแนกจิตให้เห็นว่า จิตต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ จิตที่ มีโลกุตตรเป็นอารมณ์ มีนิพพานเป็นอารมณ์ กับจิตที่ไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์ จะพูดอย่างนี้ก็ได้ ให้ยาวๆ อย่างนี้ หรือว่าจะพูดสั้นๆ ตามแบบภาษาบาลีก็ใช้ได้ ใช้คำว่าโลกียจิตก็ได้ โลกุตตรจิตก็ได้ เพราะฉะนั้น ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ลึกซึ้ง แล้วก็ละเอียดด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะมีคำแปลคำเดียว แต่ว่าเราต้องเข้าใจถึงอรรถด้วย แม้คำนี้จะมี อิยะ เข้ามาหรืออะไรก็ตาม แต่หมายความถึงจิตที่ประเภทไหน

    อ.กฤษณา ถ้าอย่างนั้น เข้าใจอย่างนี้ได้ไหม โลกุตตรจิตก็คือจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ที่ไม่เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ สั้นๆ ที่จะเข้าใจได้ก็คือ จิตที่มีนิพพานเป็นอารมณ์แล้วดับกิเลส หรือดับกิเลสแล้ว ต้องเติมด้วย เพราะว่ามุ่งหมายเฉพาะจิต ๘ ดวง แม้ว่าจิตอื่น เช่น มหากุศลญาณสัมปยุตต์ก็ดี หรือ มหากิริยาญาณสัมปยุตต์ก็ดี มีนิพพานเป็นอารมณ์ได้ แต่ไม่ใช่มรรคจิต ผลจิต จึงไม่เป็นโลกุตตรจิต ๘ ดวง

    อ.กฤษณา ตรงนี้เข้าใจว่า เป็นโลกุตตรจิตมีนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าตรงที่ไม่เข้าใจก็คือ ไปสัมพันธ์ กับคำว่า เกิดดับ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องไปสัมพันธ์ ให้ทราบว่าจำแนกจิตเป็น ๒ อย่าง แล้วโดยภาษาบาลี อาจารย์สมพรท่านอนุญาตใช้ได้ ท่านเป็นผู้รู้ภาษาบาลี เพราะฉะนั้น ท่านใช้คำว่า โลกียจิตได้ โลกุตตรจิตได้ ในพระไตรปิฎกก็มี ในอรรถกถาก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ใช่เป็นผู้ที่บัญญัติคำ ที่ว่าถ้าใช้ในความหมายนี้ จะต้องแปลอย่างนี้ หรือจะต้องแปลว่าอย่างนี้ แต่หมายความให้เข้าใจรู้ว่า ถ้าเป็นโลกียจิต ก็คือ ไม่มีนิพพานเป็นอารมณ์โดยฐานะซึ่งไม่ได้ดับกิเลสหรือดับกิเลสแล้ว

    อ.สมพร คำว่า โลกียะ กับ โลกุตตระ คือ ความหมายถ้าเป็นโลกุตตระ โลกะ บวกกับ อุตตร เรียกว่า โลกุตตร แต่ในอภิธัมมัตถสังคหะ พระอนุรุทธาจารย์ท่านเรียกจิตดวงนี้ว่า อนุตรจิต จิตนี้มีจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ชื่อว่า โลกุตตระ ท่านกล่าวไว้ พระอนุรุทธาจารย์ แล้วอดีตอาจารย์อธิบายบอกว่า ท่านกล่าวจิตดวงนี้ว่า ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า เรียกว่า อนุตรจิต อนุตรจิตนี้แหละท่านเรียกว่า โลกุตตระ โลกะ อุตตระ อุตตระแปลว่าสูงสุด อุตตระ บางที แปลว่า ข้างขึ้น ก็หมายความว่าสูงกว่าจิตปกติธรรมดา ท่านกล่าวอธิบายอย่างนี้บอกว่า จิตอันยอดเยี่ยมมี ๘ ดวง ท่านเรียกจิตยอดเยี่ยมนี้ อนุตรจิต ว่า โลกุตตรจิต ๘ ท่านกล่าวอย่างนี้


    หมายเลข 9265
    14 ส.ค. 2567