ศึกษาเรื่องจิตเพื่อรู้จักจิต


    ผู้ฟัง ดิฉันเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ต่อนะคะ จุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษาเรื่องจิตปรมัตถ์ ควรจะเป็นอย่างไร เรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เพราะว่ามีจิตตลอดเวลา ไม่มีใครเลยซึ่งเกิดมาแล้วจะไม่มีจิต แต่ว่าสิ่งที่อยู่ใกล้ หรือสิ่งที่มี ถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า ลักษณะของจิตนั้นเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่าเคยเป็นตัวตน หรือว่าเคยเป็นเรามาตั้งแต่เกิด อย่างขณะนี้เองกำลังเห็น ทั้งๆ ที่ได้ศึกษามาแล้วว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล แล้วจิตก็เป็นสภาพที่เป็นปรมัตถธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ พูดอย่างนี้นาน แล้วก็บ่อย แล้วก็ทุกคนก็คงจะพูดตามได้ แต่ว่าการที่จะเริ่มเข้าใจในขณะที่กำลังเห็นจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่ฟัง แล้วก็เห็นก็เห็นไป ฟังก็ฟังไป แต่ขณะนี้ที่กำลังเห็นที่จะรู้ว่า ขณะนี้เองเป็นธาตุรู้ชนิดหนึ่งที่กำลังเห็น เพื่อจุดประสงค์อันนี้ ไม่ว่าใครจะศึกษาปริยัติธรรมมาตั้งแต่ในชาติก่อนไหนๆ หรือว่าแม้ในชาตินี้เอง จะเรียนจบกี่ปริจเฉทก็ตาม หรือว่าจะอ่านพระไตรปิฎกอรรถกถาแล้วก็ตาม แต่ว่าถ้าไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังมีจริงในขณะนี้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะเป็นธาตุ หรือเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม และนามธรรมที่เป็นใหญ่ เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ก็คือ จิต ซึ่งจิตจะไม่มีหน้าที่อื่นเลยสักอย่างเดียว คือ ไม่จำ ไม่รู้สึก ไม่ดี ไม่ชั่ว แต่ว่าเป็นธาตุรู้ ซึ่งลักษณะของธาตุรู้จะรู้อย่างเดียว แต่ว่าสามารถที่จะรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ แต่ว่าลักษณะตัวเองของจิตแท้ๆ เป็นสภาพรู้ หรือเป็นธาตุรู้ ซึ่งในขณะที่กำลังเห็น ถ้าสามารถที่จะแยกขาด รู้ชัดในลักษณะซึ่งเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏได้ นั่นคือปัญญาซึ่งเกิดจากการฟัง จนกระทั่งมีความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้สติเกิดระลึกได้ว่า ขณะนี้ที่เห็น ตรงกับที่ได้ศึกษาตามความเป็นจริงว่า มีธาตุรู้ ซึ่งธาตุรู้ขณะนี้กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นทางหู ทางจมูก ก็โดยนัยเดียวกัน

    ผู้ฟัง ในกรณีที่จิตมีสภาพรู้

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพรู้แต่เพียงอย่างเดียว จิตไม่จำ

    ผู้ฟัง แล้วอะไรจำได้ครับ

    ท่านอาจารย์ สัญญาเจตสิก เพราะฉะนั้น ต้องแยกออก เวลาที่ศึกษาธรรมต้องทราบว่า จิตปรมัตถ์อย่างหนึ่ง เจตสิกปรมัตถ์อย่างหนึ่ง รูปปรมัตถ์อย่างหนึ่ง นิพพานปรมัตถ์อย่างหนึ่ง มิฉะนั้นก็จะต้องปะปน แต่ว่าก่อนอื่นต้องแยกลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมออก เพราะเหตุว่าพอเราศึกษาเริ่มเข้าใจ เราก็ยังไม่เห็นความต่างกันของจิตกับเจตสิก เพราะว่าเวลาที่จิตเกิดจะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วเวลาที่เจตสิกประเภทใดปรากฏลักษณะ เช่น ความรู้สึก ขณะนั้นลักษณะของจิตแทบจะไม่ปรากฏเลย แม้ว่าจิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งเจตสิกอื่นๆ ไม่มีลักษณะอย่างนี้ ลักษณะของเจตสิกไม่ใช่มนินทรีย์ เช่นลักษณะของเวทนา ความรู้สึก เป็นอุเบกขินทรีย์ ถ้าเป็นความรู้สึกเฉยๆ เป็นสุขินทรีย์ ถ้าเป็นความรู้สึกเป็นสุข เป็นโสมนัสสินทรีย์ ถ้าเป็นความรู้สึกดีใจ หรือว่าเป็นโทมนัสสินทรีย์ เวลาที่เป็นทุกข์ โทมนัส ขณะนั้นจะไม่เห็นลักษณะของจิต เพราะเหตุว่าแม้ว่าสภาพธรรมที่จะมีความเป็นใหญ่ถึง ๒๒ อย่าง คือ อินทรีย์ ๒๒ แต่ก็ต้องแยกออกเป็นแต่ละอย่างว่า สำหรับจิตมีลักษณะที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งอารมณ์ที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง


    หมายเลข 9267
    21 ส.ค. 2567