เพราะอวิชชาและการสั่งสม


    ผู้ฟัง อันนี้อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ในเมื่ออกุศลจิตเป็นจิตที่เป็นเหตุแล้วก็เป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์ แต่เขาเกิดง่าย แล้วเกิดบ่อยในชีวิตประจำวัน เพราะอะไรคะ อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นของธรรมดา สิ่งที่ดีก็ต้องยากกว่าสิ่งที่ไม่ดี

    ผู้ฟัง แต่ทำไมถึงได้เกิดบ่อยแล้วเกิดมากๆ ด้วย เกิดเร็วด้วย ในชีวิตประจำวัน ทำไมมันถึงยาก ทำไมมันถึงง่าย

    ท่านอาจารย์ เพราะอวิชชา วิชชากับอวิชชาต่างกัน อวิชชาคือความไม่รู้ เมื่อมีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะนั้นก็มีเหตุที่จะให้เกิดโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ หรืออกุศลอื่นๆ และอวิชชาคือไม่รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าไม่มีอะไรเลย เมื่อมีความไม่รู้ ก็ต้องหมายความว่าไม่รู้อะไร ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เช่น จิต อย่างนี้ ทั้งๆ ที่มีอยู่ น่าสนใจ น่ารู้ เพราะเหตุว่าทุกคนยึดถือจิตว่าเป็นเรา แต่ว่าจิตเองไม่ใช่ของใครเลยทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แม้เจตสิกอื่นๆ แค่นี้ก็เป็นความไม่รู้มหาศาล เรียกว่ามหาศาลจริงๆ เพราะเหตุว่าเคยยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนมานานแสนนานทีเดียว เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าทำไมอกุศลจิตเกิดบ่อย ก็เพราะเหตุว่ามีความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์อีกนิด ติดใจคำว่า “ยาก” ทำความดีทำยาก แต่ทีนี้คำว่าความดีนี่ ถ้าเผื่อเป็นพวกเราซึ่งเรียนพระอภิธรรม เราก็รู้ว่า ทาน ศีล ภาวนา มันจะเกิดกุศล ที่นี้คนนอก บางทีเขาก็ไม่รู้ เขาก็นึกว่า สิ่งที่เขาทำเป็นความดี อันนี้จะตัดสินอย่างไร

    ท่านอาจารย์ คือไม่มีตัวตนที่จะไปตัดสิน แม้แต่ว่าคนที่ว่าดี ก็มีอกุศลจิตเกิด ไม่ใช่หมายความว่า จะดีไปตลอดกาล เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ แล้วใน ๑ ขณะนั้นเกิดเป็นอะไร ซึ่งภาษาบาลีใช้คำว่า ชาติ หรือ ชา- ติ ซึ่งมี ๔ อย่าง เราคงจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องวิบาก ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม และกิริยาจิต จะพูดแต่กุศลจิต และอกุศลจิตก่อน แสดงให้เห็นว่า ถ้ายังไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ต้องมีกุศลจิต หรืออกุศลจิต ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้เกิดวิบาก คือ ผล เพราะฉะนั้นก็ไม่ใช่หมายความว่า ทุกคน จะเป็นผู้ประมาทว่าดีแล้ว หรือว่าถ้าใครจะชมสักคนว่า ช่างดีเหลือเกิน ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่จะหลงในคำชมนั้น เพราะเหตุว่าคนนั้นก็ยังมีอกุศลจิตอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่รู้ขณะจิตจริงๆ ว่า แล้วแต่เหตุปัจจัยที่จะทำให้จิตที่เกิดขึ้นนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศลชั่วกาลหนึ่งๆ คือชั่วขณะหนึ่งๆ เท่านั้น

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สมพร เมื่อกี้บอกว่า อกุศลจิตเกิดมาจากการสะสม เพราะฉะนั้นในทำนองเดียวกันกุศลจิตก็เกิดจากการสะสมด้วย ถ้าสมมติว่า คนนอกซึ่งอาจจะเป็นคำถามเดียวกันกับที่ถามอาจารย์สุจินต์ว่า คนนอกเขาไม่ได้เรียน เขาก็จะออกมาไม่ชัดว่า ถ้ากุศลจิตจะเกิด จะต้องมีทาน ศีล ภาวนาได้ ๓ อย่าง อันนี้ถ้าหากว่าเขาจะทำความดี คือมีกุศลจิต เขาจะตัดสินได้อย่างไร

    อ.สมพร ตัดสินอยู่ที่ใจของเราขณะนี้ว่า ใจของเราสั่งสมอะไรมา สั่งสมอะไรมามาก สิ่งนั้นก็เกิดได้ง่าย เพราะอาศัยที่มีอยู่ ที่มีอยู่ เช่นกิเลสที่จะเกิดขึ้น ก็เพราะว่ามันมีอยู่ แล้วเราก็สั่งสมเพิ่มเติมๆ ๆ มากมาย จนกระทั่งเมื่อเห็นครั้งหนึ่ง กิเลสก็อาศัยการเห็นเกิดขึ้น ได้ยินครั้งหนึ่ง กิเลสก็อาศัยการเห็นเกิดขึ้น เพราะอำนาจที่เราสั่งสมไว้มากเหลือเกิน มันมีอยู่ แต่ถ้าเราไม่สั่งสมให้มันเกิดบ่อยๆ สั่งสมกุศล กุศลได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ส่วนมากกิเลสเกิดได้ง่ายสำหรับคนทั่วไป เพราะการสั่งสมไว้มากเข้า มากเข้าๆ แล้วอะไรจะเกิด สิ่งที่สั่งสมไว้นั่นแหละ ก็อาศัยปัจจัยภายนอกเกิดขึ้น มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้นมันก็เกิดขึ้น เพราะมีมากนั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ยังติดใจนิดหนึ่ง ที่คุณสุรีย์ใช้คำว่า ตัดสิน ทำไมต้องตัดสิน

    ผู้ฟัง คือหมายความว่า ดิฉันก็ไม่ทราบว่า จะใช้คำว่าอะไร คือหมายความว่า ตัวเขาบอกว่า เขาทำความดีแล้ว คำว่าความดีของเขา เอาอะไรเป็นเครื่องวัด

    ท่านอาจารย์ คือ เขาว่า ใครว่าไม่สำคัญ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ก็เป็นอย่างนั้น ถ้ากุศลจิตเกิด ใครบอกว่าไม่ดี ก็ช่วยไม่ได้ ในเมื่อคนนั้นคิดว่า สิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าสภาพธรรมเปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่มีการตัดสินเลย ขณะนี้สภาพธรรมเป็นอย่างไร ปัญญารู้สภาพธรรมตรงลักษณะนั้นตามความเป็นจริง รู้ความจริง แต่ไม่ใช่ตัดสิน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นความรู้ถูก กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ที่เราเรียนธรรม ก็เพื่อที่จะให้เกิดปัญญาความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อเราจะได้รู้ว่าสภาพธรรมที่เป็นกุศลจริงๆ นั้นคืออย่างไร แล้วที่เป็นอกุศลนั้นคืออย่างไร เพื่อรู้ แต่ว่าไม่ใช่เพื่อที่จะไปตัดสิน ใครจะว่าคนนั้นทำดี แต่ความจริงการกระทำนั้นเป็นอกุศลจิต ก็ต้องเป็นอกุศลจิต

    ผู้ฟัง อันนี้ก็คือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วก็เกิดบ่อยโดยเฉพาะอกุศล ทั้งๆ ที่เราเรียนมา ทราบมาว่า มันมี ทาน ศีล ภาวนา ที่เป็นกุศล แต่มันก็ไม่ค่อยจะไปตรงนั้นเลย มันจะไม่ใช่ทาน มันจะไม่ใช่ศีล ไม่ใช่ภาวนา แล้วถ้าเผื่อคนที่เขาไม่ได้เรียน แล้วเขาจะรู้ได้อย่างไรว่า อันนี้เป็นกุศล อันนี้เป็นอกุศล ซึ่งประเดี๋ยว เราก็คงไปเรื่องของทิฏฐิ

    ท่านอาจารย์ ถึงเขาไม่รู้แต่ถ้ากุศลจิต เกิดเขาให้ทาน

    ผู้ฟัง หมายความว่ากุศลจิตเกิดโดยที่เขาไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็นต้องรู้ คนละเรื่อง มีเหตุปัจจัยให้ที่จะให้กุศลจิตเกิด กุศลจิตก็เกิด


    หมายเลข 9268
    21 ส.ค. 2567