รู้ด้วยสติ
ผู้ฟัง บุคคลผู้ขอทาน บางคนขอเพราะความจน แต่บางคนก็ขอเพราะถูกบังคับ ซึ่งการให้ทานของแต่ละคน บางทีก็ให้ด้วยความสงสาร บางทีก็ให้ด้วยความรำคาญ ซึ่งอันนี้ ผมว่ากุศลจิตที่เกิดจากการให้ ควรจะต่างกัน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่มีแต่กุศลจิต อกุศลจิตก็มีด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น คือความรำคาญก็เป็นอกุศล ก็มี ไม่ใช่ไม่มี เพราะฉะนั้น เวลาที่ความรำคาญเกิดเป็นอกุศลก็ต้องเป็นอกุศล เวลาที่กุศลจิตเกิดก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีสติสัมปชัญญะจริงๆ จะไปถามใครคนนั้น คนอื่นบอกไม่ได้ ถึงตัวเองก็บอกไม่ได้ ถ้าสติปัฏฐานหรือว่าสติสัมปชัญญะไม่เกิด แต่ถ้าสติสัมปชัญญะเกิด จะรู้เฉพาะความจริงของสิ่งที่สติกำลังระลึก สิ่งที่หมดไปแล้วก็ไม่สามารถจะรู้ได้
เพราะฉะนั้น นี่แสดงให้เห็นความรวดเร็วของจิตว่า ขณะนี้ที่ทั้งเห็น ทั้งได้ยิน ทั้งฟังธรรม ทั้งคิดนึกทุกอย่าง ถ้าสังเกตจริงๆ จะเห็นสภาพของจิตหลายชนิด หลายประเภท ซึ่งสลับกัน อาจจะมีความรำคาญเล็กๆ หรืออะไรก็ได้ ทั้งๆ ที่กำลังฟังธรรม หรือว่าอาจจะมีความง่วง หรืออะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น อกุศลจิตกับกุศลจิต สลับกับวิบากจิต กิริยาจิต ทั้ง ๔ ชาติอยู่ตลอดเวลา อย่างรวดเร็วมาก
เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงต้องลำดับจริงๆ ต้องรู้ว่า กำลังศึกษาเรื่องราวของจิต กำลังเป็นเรื่องราว แต่ว่าถ้าขณะนี้สติระลึกลักษณะของจิต จึงจะทราบความจริงว่าจิต ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล แล้วเวลาที่เกิดโทสะ รู้ว่าเป็นอกุศล แต่เวลาที่ไม่เป็นโทสะ อย่างอื่นอาจจะรู้ยาก เช่น โลภะ ตื่นมาจะรู้หรือว่ามีโลภะแล้ว เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่กุศล แล้วก็ไม่ใช่โทสะ หรือไม่ใช่โมหมูลจิต ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต
เพราะฉะนั้นจึงมีคำว่า “แต่” หมายความว่าที่จะรู้ได้จริงๆ ต้องเป็นการศึกษา แล้วก็มีความเข้าใจขั้นการศึกษาพอที่สติจะระลึกแล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้นอีก เพราะเหตุว่า ในขณะที่สติเกิด จะให้รู้ว่า เป็นอกุศลจิต บางคนชำนาญชื่อ พอเห็นดอกไม้สวยๆ บอกแล้ว โลภะๆ เรียกชื่อ แต่ว่าขณะนั้นไม่ได้รู้ลักษณะสภาพจิตที่ติดข้อง ก่อนเห็นดอกไม้สวย มีโลภะหรือเปล่า กำลังเดินเล่นอยู่ในสวน ยังไม่เห็นดอกไม้สวยที่ถูกใจ แต่กำลังเดินด้วยความพอใจ เป็นโลภะหรือเปล่า แต่ไม่ได้รู้สึกเลย แต่ว่าพอเห็นดอกไม้สวยๆ เรียกชื่อถูกว่า โลภะ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเรียกชื่อ หรือว่ารู้ลักษณะของโลภะ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นไม่ใช่ไปรู้ลักษณะของกุศลจิตหรืออกุศลจิต แต่ต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วเราใช้ชื่อตลอดเวลา โดยที่ไม่รู้ว่าจิตเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นโลภะขณะนั้นก็เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น เรียกชื่อถูก แต่ว่าไม่รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมของโลภะ
ผู้ฟัง แต่เขาก็มีอยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ คือ ไม่มีใครเลยนอกจากสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่าง