มีรากเป็นพิษ มียอดหวาน
ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สมพรว่า ความโกรธซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวานหมายความว่าอย่างไร
อ.สมพร รากขมก็หมายความว่า กำเนิดเติมของมันเป็นอกุศล ทำให้ไม่น่าปรารถนา เช่นเราประทุษร้ายคนอื่น ทำสมใจแล้ว โทสะเกิดขึ้นแล้ว ก็ด้วยอำนาจโทสะ เราเกิดมีความพอใจขึ้นมา หรือว่าพอใจก็เหมือนว่ายินดีพอใจ เพราะอาศัยโทสะซึ่งก็ทำมาแล้ว เบื้องต้นเป็นของไม่ดี เรียกว่า มีรากเป็นพิษ ก็โทสะเป็นพิษอยู่แล้ว เมื่อกระทำประทุษร้ายคนอื่น เบียดเบียนคนอื่นได้สมใจแล้วมีความพอใจ เรียกว่าสุดท้ายคือยอด เรียกว่าสุดท้าย พอใจเกิดขึ้นได้ เรียกว่ายอดหวาน อาศัยความสำเร็จที่กระทำนั้นเป็นปัจจัย
ผู้ฟัง ตัวสะใจนี้โลภะ ใช่ไหมคะอาจารย์
ท่านอาจารย์ ก็ต้องชอบ ใช่ไหมคะ ถึงได้สะใจ
ผู้ฟัง ก็คงจะเป็นอกุศลทั้ง ๒ อย่าง
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์สมพรมีข้อคิดเห็นอะไรเพิ่มเติมไหมคะ ฆ่าความโกรธเสียได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธเสียได้จึงไม่เศร้าโศก
อ.สมพร ลองพิจารณา ความโกรธให้โทษอย่างไร ทำให้จิตเรากระสับกระส่าย เร่าร้อน ความโกรธ ก็คือ โทสะซึ่งเป็นเจตสิก โทสะไม่ใช่จิต ทำจิตให้ปั่นป่วนด้วย เจตสิกคือความโกรธ นอนไม่หลับ แล้วเบียดเบียนรูปร่างกายให้เปลี่ยนแปลง ทำให้รูปของเราไม่น่าดู เดินก็ไม่น่าดู นั่งก็ไม่น่าดู นอนก็ไม่น่าดู แถมคนอื่นดูเราก็ยังรังเกียจ ด้วยอำนาจโทสะ แต่เมื่อเราระงับโทสะ กำจัดโทสะไปได้ ความสุขก็เกิดขึ้น แม้จะยืนก็น่าดู จะเดิน จะนั่ง แม้ดูหน้าก็ผ่องใส เพราะฉะนั้น จึงให้กำจัดความโกรธเสียจะได้เป็นสุข
ผู้ฟัง กราบเรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ที่ว่าโทสะมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน ยอดหวานหมายถึงเป็นโลภะหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ พอใจค่ะ คนที่โกรธ จริงๆ แล้วมีความรู้สึกพอใจอยู่ด้วยหรือเปล่า อันนี้ยังไม่ต้องพูดถึงยอดหวาน พูดถึงเพียงแต่ว่าชั่วขณะที่โกรธ บางคนรู้สึกว่าน่าต้องโกรธ จำเป็นต้องโกรธ หรือได้ยินข่าวที่ใครประพฤติไม่ดี อาจจะมีการชักชวนให้โกรธ มีความพอใจที่จะโกรธ มีฉันทเจตสิกเกิดร่วมกับโทสเจตสิก
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแม้แต่สิ่งซึ่งไม่ดี มีโทษ แต่แม้กระนั้นก็ยังมีสภาพเจตสิกซึ่งพอใจในลักษณะของอกุศลนั้น โลภะเกิด ชอบ ทุกคนต้องบอกว่าชอบโลภะ โทสะเกิดก็เช่นเดียวกัน ต้องโกรธ ทุกคนบอกอย่างนี้ แต่จริงๆ แล้วนี่ไม่ใช่พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถ้าพิจารณาละเอียดจริงๆ ข้อที่ว่าฆ่าความโกรธ ก็ต้องเกี่ยวกับยอดหวาน เพราะเหตุว่าเป็นข้อความเดียวกัน เพราะฉะนั้น ท่านที่สมใจ สะใจ เวลาที่มีความโกรธแล้วก็รู้สึกพอใจที่คนอื่นได้รับโทษ หรือว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้รู้สึกว่า สมควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ดูรู้สึกเหมือนว่านั่นเป็นยอดหวาน คือเป็นสิ่งที่เราพอใจที่จะให้เกิดอย่างนั้น แต่เป็นทุกข์ ขณะที่กำลังสะใจ อย่าคิดว่า เป็นกุศล
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นไม่รู้ตัวเลยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าถ้าเราไม่มีความโกรธเสียเลย เราไม่ต้องมาคิดเรื่องสะใจ เราไม่ต้องให้ใครมารับผลที่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าคนใดทำกรรมใดก็ต้องได้รับกรรมนั้น ไม่ต้องมีคนอื่นไปหวังร้าย เพราะเหตุว่าถ้าคนนั้นทำดี เขาย่อมได้ดีเป็นผล ถ้าเขาทำสิ่งที่ไม่ดี เขาก็ได้รับผลที่ไม่ดีเป็นผล ไม่ใช่เรื่องใครจะไปจัดการ หรือเป็นเจ้าโลก หรือว่าทำอะไรเลยสักอย่าง
เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจจริงๆ ว่า ขณะที่สะใจหรือว่ามียอดหวาน ขณะนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่แน่นอน ไม่พ้นจากทุกข์ เพราะเหตุว่าเรื่องของการที่ไม่พอใจ ไม่ใช่มีเรื่องเดียว วันนี้อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่พอใจเรื่องนี้ พรุ่งนี้อ่านอีกมีเรื่องใหม่อีกที่ไม่พอใจ แล้วก็สืบเนื่องกันด้วย วันนี้อาจจะมียอดหวานที่รู้สึกสะใจจากความไม่พอใจของหนังสือพิมพ์ ฉบับเมื่อวานนี้ พอมาถึงวันนี้มีเหตุใหม่ที่ไม่ชอบ แล้วก็คอยความสะใจข้างหน้า เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีวันที่พ้นไปจากทุกข์ได้ จนกว่าจะฆ่าความโกรธเสียได้ คือไม่ต้องมีความโกรธ แล้วจะได้ไม่ต้องคอยความสะใจหรือยอดหวาน แล้วก็จะไม่เป็นทุกข์ด้วย
ก็อย่าชวนใคร ไปหวังอะไร ที่จะให้เกิดอะไร ที่จะต้องสะใจหรือสมใจ เพราะว่านั่นเป็นอกุศลจิต