โมหะไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์


    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สมพรว่า โมหมูลจิตหมายถึงอะไรคะ โมหมูลจิต

    อ.สมพร โมหมูลจิตกับโมหะนั้นต่างกัน โมหมูลจิตหมายความว่าจิตที่มีโมหะเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ทีนี้โมหะนั้นเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ทีนี้เรามุ่งถึงจิต เรียกว่า โมหมูลจิต มี ๒ ดวง ดวงหนึ่งมีความสงสัย ดวงหนึ่งมีความฟุ้งซ่าน มุ่งเอาจิตที่เกิดพร้อมกับโมหะเป็นปัจจัย

    ผู้ฟัง เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ จิต คือสภาพรู้ แล้วทำไมโมหะมันไม่รู้

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพรู้อารมณ์ ทิ้งไม่ได้เลย หมายความว่า เมื่อเป็นธาตุที่รู้เกิดขึ้น ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ ก็ต้องมีอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ เจตสิกก็เป็นนามธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุที่รู้อารมณ์ แต่ว่าต่างกับจิตเพราะเหตุว่าจิตเป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ส่วนเจตสิกมีถึง ๕๒ ประเภท ก็รู้อารมณ์โดยประเภทของเจตสิกนั้นๆ เช่น ผัสสเจตสิก ต้องรู้อารมณ์ เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ แต่ไม่เป็นใหญ่ ไม่เป็นประธานอย่างจิตในการรู้แจ้งอารมณ์ สำหรับโมหเจตสิกต้องมีอารมณ์ ไม่ใช่โมหเจตสิกจะเกิดโดยไม่มีอารมณ์ เพราะเหตุว่าโมหเจตสิกเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต ดับพร้อมกับจิต ถ้าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็เกิดที่เดียวกับจิต นี่คือลักษณะของเจตสิก

    เพราะฉะนั้น เมื่อจิตเกิดขึ้นทำกิจของจิต คือ เป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ เจตสิกอื่นๆ ก็ทำหน้าที่ของตน สำหรับโมหเจตสิกแม้อารมณ์เผชิญหน้า แต่ก็ไม่รู้ลักษณะที่แท้จริงของอารมณ์นั้นตามความเป็นจริง เช่นขณะนี้เรา

    ก็พร่ำแต่พูดว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทุกคนก็ยอมรับ ตั้งแต่เกิดก็มี แต่ความเข้าใจถูกในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้ มีแค่ไหน ถ้าไม่มีการฟังเลย ไม่มีทางเลยที่จะรู้ลักษณะแท้ๆ ของอารมณ์ซึ่งกำลังปรากฏทางตา เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ซึ่งมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วลักษณะของโมหเจตสิกก็คือ สภาพที่ไม่สามารถจะรู้ความจริงของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ แม้ว่าขณะนั้นมีอารมณ์ปรากฏ

    ผู้ฟัง จิตคือสภาพรู้ แต่พอมาถึงโมหะ ถ้าเผื่อมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย กลายเป็นไม่รู้ไปแล้ว

    ท่านอาจารย์ อย่าลืมว่า ต้องมีอารมณ์ทั้ง ๒ อย่าง คือ นามธรรม ต้องเป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งที่ถูกรู้ เรียกว่า อารมณ์ เพราะฉะนั้น เมื่อมีนามธรรม คือ จิตเจตสิก ทั้งจิตเจตสิกที่เกิดร่วมกันรู้อารมณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้น โมหะเกิดกับจิต โมหะจะเกิดลอยๆ ไม่เกิดกับจิต และเจตสิกไม่ได้ เพราะฉะนั้น โมหะเกิดกับจิตใดก็รู้อารมณ์เดียวกับจิตซึ่งกำลังรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์นั้น เช่น ทางตาในขณะนี้ จิตเห็นเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนี้ไม่มีโมหะเกิดร่วมด้วยเลย เพราะเหตุว่าเป็นวิบากจิต ในขณะที่จิตเกิดขึ้นเห็น ทำกิจเห็น ไม่มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่เห็นแล้ว ไม่รู้สภาพความจริงของสิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะนั้นเป็นโมหะ มีอารมณ์ปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจได้ถูกต้อง ไม่เข้าใจลักษณะ ไม่รู้ความจริง

    ท่านอาจารย์ คือปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่มีอารมณ์ปรากฏ แต่ไม่มีความเข้าใจว่า อารมณ์นั้นเป็นอะไร ไม่สามารถที่จะเข้าใจความจริงได้ถูกต้องในสภาพที่แท้จริงของอารมณ์

    ผู้ฟัง คือรู้ไม่จริง

    ท่านอาจารย์ รู้อารมณ์เฉยๆ

    ผู้ฟัง คือรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่ารู้อารมณ์ หรือมีอารมณ์ปรากฏกับจิตที่กำลังรู้อารมณ์ แต่ไม่สามารถจะเข้าใจหรือเป็นปัญญาที่รู้ความจริงของอารมณ์นั้นได้


    หมายเลข 9288
    19 ส.ค. 2567