ธรรม กับ อธรรม เหมือนกันหรือต่างกัน


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๕


    ผู้ฟัง ธรรม กับ อธรรม เหมือนกันหรือต่างกัน

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน คือว่า พระธรรมคือคำสอนเรื่องธรรม

    ผู้ฟัง ... ธรรมเป็นสภาวะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอนค่ะ

    ผู้ฟัง ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นจริงตามลักษณะของสภาพธรรมนั้น ซึ่งใครก็เปลี่ยนลักษณะนั้นไม่ได้ อย่างแข็ง จะเปลี่ยนให้เป็นกลิ่น หรือเป็นเสียงไม่ได้ ทันที่ที่แข็งปรากฏ ลักษณะของแข็งเป็นแข็ง เสียงก็ไม่ใช่แข็ง เพราะฉะนั้น เสียง ๑ แข็ง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ แสดงความเป็นธาตุหรือธรรมแต่ละอย่างอยู่แล้วว่า ต่างกันเป็นแต่ละอย่างจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ที่ตัวเรา นามธรรมก็มาก รูปธรรมก็เยอะ แต่เพราะความไม่รู้เลยรวมเป็นเราหมด แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่า ทุกอย่างที่เกิดปรากฏ แสนสั้น เกิด และดับทันที ต่อเมื่อใดประจักษ์อย่างนี้ หรือว่ามีใครสอนให้เข้าใจอย่างนี้ เราก็จะรู้ได้ว่า การสอนอย่างนี้ต้องจากการประจักษ์แจ้ง เพราะว่าตามความจริง เห็นกับได้ยินจะเป็นขณะเดียวกันพร้อมกันไม่ได้ เป็นธาตุหรือเป็นธรรมอย่างเดียวกันไม่ได้ เพราะว่าขณะที่เห็นจะไม่มีการได้ยินเสียงใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็มีสภาพของนามธรรม หรือที่เราใช้คำว่า “จิต” กำลังเห็น กำลังรู้ว่า มีสิ่งใดที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตา เวลาที่เสียงปรากฏ เสียงก็เป็นรูปธรรม แต่ว่าปรากฏกับสภาพที่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นนามธรรม

    ผู้ฟัง แล้วความยินดีเกิดขึ้นกับทุกคน มีปัญหาที่ว่า คือทุกคนก็ได้ยินได้ฟัง แล้วก็มีความรู้สึกว่าเข้าใจ ถึงเวลาที่ปฏิบัติ เราก็ใช้ไม่ได้ อย่างเช่นคำว่า ได้ยิน ก็สักแต่ว่าได้ยิน จะทำอย่างไรที่จะให้เข้าใจว่า สักแต่ว่าได้ยิน อาจารย์คงจะตอบว่า ใช้ปัญญา

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ไม่ควรจะใช้คำว่า “ใช้” ต้องอบรมให้เกิดขึ้นให้มีขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วจะทำอย่างไร บางครั้งเราก็รู้

    ท่านอาจารย์ ค่ะ รู้แค่ไหน หรืออะไร พอหรือยัง

    ผู้ฟัง คือรู้ว่าเวลาที่เราได้ยินได้ฟังมาแล้ว ทำให้เราโกรธ หรือว่าให้เราเกลียด อย่างนี้ใช่ไหม ถ้าหากว่าเราจะทำจิตให้สักแต่ว่าได้ยิน หรือว่าฟังเฉยๆ ทีนี้ปัญหาของคนเราที่ทำให้เกิดอาการ ทำให้เกิดทุกข์ ทีนี้อาจารย์จะมีวิธีสกัดได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่เข้าใจคำว่า “อนัตตา” ต้องเข้าใจคำนี้จริงๆ โดยมากคำถามเป็นเรื่องทำทั้งหมดเลย ทำอย่างไร ทำอย่างไร ทำอย่างไร แต่จริงๆ แล้วต้องเข้าใจอย่างไรว่า เป็นอนัตตาจริงๆ มีวิธีไหนที่จะเข้าใจคำนี้โดยถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแต่เราคิดว่าเป็นอนัตตา เราเข้าใจแล้ว ยังไม่แล้วเลย เพราะว่าขณะที่เห็นเป็นอนัตตาหรือเปล่า ขณะที่ได้ยินเป็นอนัตตาหรือเปล่า กำลังโกรธเป็นอนัตตาหรือเปล่า กำลังไม่โกรธเป็นอนัตตาหรือเปล่า ถ้าเราไม่เข้าใจคำนี้จริงๆ จะมีตัวเราจะทำ

    ผู้ฟัง อนัตตาคือหมายถึงไม่ใช่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตัวตน อัตตาแปลว่าตัวตน ปฏิเสธโดยใช้คำว่า อะ ถ้าเป็นคำนามก็ใช้คำว่า นะ

    ผู้ฟัง อนัตตาเป็นสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ในพระพุทธศาสนาที่ต่างกับศาสนาอื่น คือสอนให้รู้ความจริงว่า ทุกอย่างเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ของใคร ไม่เป็นใคร เป็นธรรมแต่ละอย่างเท่านั้นจริงๆ แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยด้วย ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยทั้งสิ้น ไม่ว่ารูปธรรมหรือนามธรรม ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เราจะเกิดอะไรคะ ติดข้อง ถ้าเราเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ จะให้ติดข้องก็ไม่ได้ ไม่ชอบเลยสิ่งนี้ ไม่ต้องการเลย หนีไปไกลๆ ไม่ต้องการ เพราะฉะนั้น แม้แต่ความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของเรา

    เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่คิดเรื่องทำ แต่ไม่คิดเรื่องฟังธรรมให้เข้าใจ เพราะว่าเข้าใจเท่าไรยังไม่พอเลย บางคนบอกว่าใช้สติ บางคนก็บอกว่าใช้ปัญญา แต่ในพระพุทธศาสนาชี้ให้เห็นความจริงว่า ปัญญามีหรือเปล่าที่จะใช้ สติมีหรือเปล่าที่จะใช้ ก็เป็นเรื่องเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องทำ ฟังให้เข้าใจว่า เป็นอนัตตา แค่นี้ ตลอดชีวิตไป

    ปัญญาคือความเห็นถูก แน่นอนค่ะ ถ้าเราไม่ฟังเลย เราจะเอาปัญญามาจากไหน เพราะฉะนั้น บางคนเขาบอกใช้ปัญญา เขาลืมคิดว่ายังไม่มีปัญญา ถ้าเราตอบคนที่บอกว่าเราให้ใช้ปัญญา เราบอกว่าเรายังไม่มี ถูกหรือผิดคะ เขาต้องให้เรามีปัญญาก่อน โดยการให้ฟังให้เข้าใจ ความเข้าใจ ในภาษาไทย ใช้คำว่า “เข้าใจ” คำว่าเข้าใจไม่มีในภาษาบาลีเลย ภาษาบาลีไม่มีคำว่าเข้าใจ แต่ภาษาบาลีมีคำว่าปัญญา รู้ทั่ว รู้ถูกต้องตามความเป็นจริง รู้แค่นิดเดียว ไม่พอ ต้องรู้จริง ทุกอย่างต้องประจักษ์แจ้ง

    เพราะฉะนั้น ปัญญาจะมีหลายระดับขั้น ถ้าเราเป็นคนที่รู้จักธรรม รู้จักตัวเอง แล้วก็มีคนเขาตื่นเต้น เขาก็บอกว่า ไปหาคนนั้นสิ เขาสามารถที่จะหยิบเงินหยิบทอง แก้วแหวนเงินทองนาฬิกา คว้ามาจากอากาศได้ ให้เรา ซึ่งคนส่วนใหญ่จะตื่นเต้นว่า ทำไมเขาทำได้ แต่ถ้าเราไปหาคนนั้นแล้วบอกว่า เราไม่สนใจเลยแก้วแหวนเงินทอง ติดมานานแล้ว ขอให้แสดงวิธีหรือสอนให้เราเลิกติด เลิกต้องการแก้วแหวนเงินทองได้ไหม เขาจะตอบเราว่าอย่างไรคะ เขาจะสอนไหม เขามีวิธีอะไรที่จะบอกเรา เพราะวิธีของเขาเป็นแต่เรื่องติด แต่ไม่ใช่ให้เกิดปัญญาของเราเอง แต่พระธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด ให้คนฟังพิจารณาให้เข้าใจ เข้าใจเมื่อไร นั่นคือปัญญาเริ่มเกิด พอเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น ปัญญาก็เจริญขึ้น ตอนนี้จะใช้คำภาษาบาลีได้ถูกต้องว่า “ปัญญา” แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจเลย แล้วยังไม่รู้ว่า ปัญญาคืออะไร ใช้คำว่าปัญญาโดยไม่รู้ว่าคำที่ใช้ เข้าใจหรือเปล่า แล้วเป็นปัญญาหรือเปล่า แต่ก็ใช้คำนั้นเสียแล้ว โดยไม่รู้

    เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาสอนให้คนที่เหมือนคนตาบอด เป็นคนตาดี สามารถที่จะเห็น หรือเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริงได้


    หมายเลข 9293
    21 ส.ค. 2567