ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา รู้ จำ หรือพูดตาม
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้เวลาที่เรามาฟังธรรมก็เหมือนกับการอบรมเจริญกุศลฝ่ายดี อาจจะประกอบด้วยปัญญาบ้างๆ เล็กๆ น้อย จนกระทั่งค่อยๆ มั่นคงขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นสามารถจะมีสติระลึกรู้สภาพธรรมได้ อย่างนี้เวลาที่อกุศลจิตเกิดแล้วก็มีสติสามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมขณะนั้นอาจจะเป็นลักษณะโกรธบ้างหรือว่าโลภะบ้าง รู้ตัว มีสติระลึกอย่างนี้ กุศลนั้นก็หยุดไป จะเรียกว่ายังไงคะ
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องเรียก จะเรียกอยู่เรื่อยเลย จริงๆ แล้วมีคำที่เราได้ยินบ่อย ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท ใช่ไหม ก็เข้าใจกันว่าปริยัติคือการเรียน จะเรียนบาลีหรือว่าจะเรียนพระธรรมหรืออะไรก็ตาม หรือแม้เรียนภาษาบาลี ก็ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อที่จะเข้าใจข้อความที่ทรงแสดงธรรมเป็นภาษาบาลีให้ถูกต้อง ต้องรู้จุดประสงค์ของการเรียนด้วย แต่ถ้าเข้าใจคำแปล แต่ว่าไม่เข้าถึงความเข้าใจอรรถ คือลักษณะของสภาพธรรม จะถึงการปฏิปัตติได้ไหม จะชื่อว่าปริยัติได้ไหม
เพราะว่าถ้าเป็นปริยัติคือความเข้าใจธรรมตามที่ทรงแสดง จะนำไปสู่ปฏิปัตติ และปฏิปัตตินั้นก็จะนำไปสู่ปฏิเวท นี่จึงจะเป็นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท เพราะฉะนั้นถ้าเราฟังแต่เราไม่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม อย่างเมื่อวานนี้ที่สนทนากัน ท่านผู้นั้นก็บอกว่า ปฏิบัติกับปริยัติอะไรจะดีกว่ากัน ท่านก็เข้าใจว่าปฏิบัติต้องดีกว่าปริยัติ ใช่ไหม แต่ถ้าไม่รู้ ว่าปฏิบัติคืออะไร และไม่เข้าใจหนทางว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องคืออะไร จะปฏิบัติได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นไม่ใช่เพียงแต่ได้ข้อความตอนหนึ่งตอนใด แล้วก็คิด แล้วก็ยึดถือข้อความนั้น แต่ต้องเข้าใจโดยตลอด โดยถ่องแท้แล้วก็ประกอบกันซึ่งจะไม่ขัดแย้งกันด้วย เพราะฉะนั้นปริยัติจริงๆ ไม่ใช่เป็นการที่เรารู้จำนวน รู้คำ แต่ต้องเป็นการที่ฟังแล้ว ปริยัติเป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้นขณะนี้ มีสิ่งที่กำลังปรากฏ และปริยัติก็แสดงไว้ว่าสิ่งที่มีๆ สองอย่าง คือนามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่ขณะอื่นเลย แต่เป็นในขณะนี้ สภาพที่มีเกิดขึ้นปรากฏ แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม เพราะว่าไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่ว่าถ้ามีแต่เฉพาะรูปธรรมเท่านั้นไม่มีนามธรรมเลย ก็ไม่มีการเดือดร้อนใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าใครจะไปยับยั้งนามธาตุไม่ให้เกิด เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นธาตุเช่นเดียวกับรูปธาตุ ไปบังคับไม่ได้ที่จะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ที่จะดับหรือไม่ให้ดับ แต่ว่าธาตุนั้นๆ ก็มีลักษณะอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราอาจจะเข้าใจเพียงรูปธาตุโดยที่ไม่รู้ว่าแท้ที่จริงแล้วก็มีธาตุอีกชนิดหนึ่งคือนามธาตุซึ่งต่างกับรูปธาตุ ถ้าขณะนี้มีอย่างนั้นแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจ นั่นคือปริยัติ ซึ่งจะนำไปสู่ปฏิปัตติคือไม่ใช่รู้เพียงแค่ขั้นฟัง แต่สามารถที่จะรู้ลักษณะจริงๆ ตามที่ได้ฟังว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิด แล้วก็ดับ จนกระทั่งถึงสภาวธรรมที่เป็นนิพพานธาตุก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้เมื่ออบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดดับ แล้วก็คลายความติดข้อง ในสังขารนิมิตทั้งหลาย ในสังขารธรรมทั้งหลาย เมื่อไหร่ ปัญญาสมบูรณ์ด้วยวิปัสสนาญาณก็ถึงกาลที่จะเห็นนิพพาน ใช้คำว่า “ เห็น ” หรือใช้คำว่า“ ประจักษ์แจ้ง ” ก็ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ไม่ได้มีลักษณะของนิพพานให้เห็น แต่ต้องเป็นปัญญาที่อบรมแล้ว เพราะฉะนั้นก็จะเข้าใจความหมายของ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวท ความหมายของอนุสัยกิเลส ปริยุฏฐานกิเลส วีติกกมกิเลส เพราะว่าได้ดับอนุสัยกิเลสด้วยความรู้ที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของนิพพานได้
ถ้าได้ยินคำอะไร อย่าเพิ่งคิดว่าเข้าใจแล้ว แต่ถ้าเข้าใจจริงๆ ก็คือเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าธรรมมีจริง พระธรรมก็คือธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริง เพื่อที่จะให้บุคคลอื่นได้เข้าถึงอรรถ และลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง ถ้ากล่าวว่า “ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล” ก็พูดง่าย แต่ผู้นั้นต้องเป็นผู้ตรง รู้แค่ไหน หรือจำมา หรือพูดตาม
ที่มา ...