สิ่งนั้นที่เกิดแล้วดับแล้ว จะไม่กลับมาอีกเลย
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๖
ท่านอาจารย์ ถ้ามีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตเกิด ก็เหมือนเมื่อวานนี้ จิตชนิดหนึ่งดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตชนิดอื่นเกิด จิตชนิดที่เกิดใหม่ ดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ไม่ว่าจะเป็นจิตอะไรทั้งสิ้น เราจะใช้คำว่าดับ หรือ เราจะใช้คำว่าตาย เหมือนกันไหมคะ
ไม่เหมือนกันอย่างไร หมายความว่าไม่มีอีกแล้ว สิ่งที่เกิดนั้นหมดแล้ว เห็นเกิดแล้วหมดแล้ว ใช้คำว่า “ดับ” หรือ ใช้คำว่า “ตาย” เพราะฉะนั้นคำในภาษาไทย เราใช้คำเดียว แต่ภาษาบาลีใช้คำว่ามรณะ ที่เราใช้คำว่าตาย ๓ อย่าง ขณิกมรณะ ขณิกะ เขียนด้วย ข ไข่ ณ เณร สระ อิ ก ไก่ มาจากคำว่า ขณะ ขณะหนึ่งๆ ๆ ๆ ที่เราบอกว่า เราเกิดมา เป็นตัวเรา กี่ขณะนับได้ไหมคะ แสนสั้น เสี้ยววินาที เล็กกว่าขณะหนึ่งไหมคะ หรือนาทีหนึ่ง เสี้ยววินาทีเล็กกว่า ๑ วินาที ใช่ไหมคะ แต่ในเสี้ยววินาทีมีกี่ขณะ นับไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะหนึ่งที่เกิดแล้วดับไป ชื่อว่า “ขณิกมรณะ” คือไม่เหลืออีก สูญ สิ่งนั้นที่เกิดแล้วดับแล้ว จะไม่กลับมาอีกเลย
คำว่า “ตาย” ในพระพุทธศาสนา หรือคำว่า “ดับ” อย่าเข้าใจว่า ของเก่ากลับมา ไม่มีทางเลยที่จะเป็นของเก่า ไม่ว่าเป็นจิต เป็นเจตสิก หรือเป็นรูป
มีคำใหม่อีกคำ “เจตสิก” เข้าใจไว้ในตอนต้นแล้วกันว่า นามธรรมมี ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่กำลังมีให้เห็น ให้ได้ยิน ส่วนเจตสิกก็เป็นสภาพธรรมที่ต้องเกิดกับจิต แต่ไม่ใช่จิต อย่างความรู้สึก บางครั้งเราดีใจ ความรู้สึกดีใจ ไม่ใช่จิต เกิดแล้วก็หมดไป ตามเหตุตามปัจจัย แต่จิตนี้เกิดดับสืบต่อตลอด เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดตลอด เขาไม่ทำอะไรเลยนอกจากรู้ เห็นว่ามีสิ่งที่ปรากฏ ได้ยิน เสียงมีตั้งหลายเสียง จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในความต่างของเสียง เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้สิ่งที่ปรากฏ แต่จะไม่รัก ไม่ชัง ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ พวกนั้นเป็นเจตสิกซึ่งเกิดกับจิต แล้วเจตสิกก็มี ๕๒ ชนิด ทุกคนมีครบ มากบ้างน้อยบ้าง ฝ่ายดี แล้วแต่ว่าใครจะมีมาก ฝ่ายไม่ดีก็ปรากฏออกมาให้รู้ได้ว่า นี่เจตสิกไม่ดีเยอะ ทางกาย ทางวาจา ถ้าเป็นฝ่ายดี คนนี้เจตสิกดีมีเยอะ ทางกาย ทางวาจา ก็เป็นเรื่องของธรรมซึ่งละเอียด
เพราะฉะนั้น เราใช้คำในภาษาไทย บางทีทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมผิด เช่นใช้คำว่าตาย กับคำว่าดับ อย่างไฟดับ เวลาที่มีไฟเกิดขึ้นจากเชื้อไฟ พอดับแล้ว จะไม่มีไฟเกิดขึ้นตรงนั้นอีก แต่ไฟที่เกิด ที่เราเห็นสว่างอยู่ตลอด มาจากเชื้อไฟใหม่ แล้วก็ดับอีก แล้วไฟก็เกิดขึ้นกับเชื้อไฟใหม่ต่อไป
เพราะฉะนั้น คำว่าตายหรือคำว่าดับ ใช้แทนกันได้ หมายความถึงว่าสิ่งใดก็ตามที่เกิด แล้วหมดไปเลยไม่กลับมาอีก จิตขณะก่อนไม่ใช่ขณะนี้ เห็นขณะก่อนไม่ใช่ขณะนี้ ได้ยินขณะก่อนไม่ใช่ได้ยินขณะนี้ คิดขณะก่อนไม่ใช่ขณะนี้ หรือย้อนไปเมื่อวานนี้ก็ไม่ใช่วันนี้ หรือปีก่อนก็ไม่ใช่ปีนี้ ตั้งแต่เกิดก็ไม่ใช่เดี๋ยวนี้ แล้วข้างหน้าที่จะเกิดก็ไม่ใช่ขณะนี้
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมเกิดดับเร็วมากอยู่ตลอดเวลา ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะเห็นความเป็นอนัตตาจริงๆ ว่า ใครไปบังคับได้ ไม่ให้ธรรมเกิดแล้วต้องไม่ดับ เป็นไปไม่ได้เลย หรือดับแล้วไม่ให้เกิดอีกก็บังคับไม่ได้
ผู้ฟัง อาจารย์ครับ เปรียบเทียบกับตัวอย่าง ในเวลาที่โลกเราหมุนไป ก็หมุนไปแล้วก็ไม่มีทางกลับมาได้อีก เกิดขึ้นดับลง แล้วเวลาก็ต่อๆ ไปเรื่อยๆ เหมือนจิตของเราขณะที่เกิดขึ้นแล้วดับลง
ท่านอาจารย์ คือเราจะใช้ตัวอย่าง หรือโลกจะพัฒนาไปอีกมากมายสักเท่าไร ยิ่งกว่านี้อีกกี่ร้อยเท่าก็ตาม ธรรมก็เป็นธรรมอย่างนี้แหละ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ จนกว่าจะมีการประจักษ์แจ้งว่า ชั่วขณะที่สัมผัสกระทบสิ่งนี้เกิดดับ ฟังดูประหลาด ใช่ไหมคะ มีอยู่แล้วเก้าอี้ก็ตั้งอยู่ตรงนี้ นาฬิกาก็ตั้งอยู่ตรงนั้น อะไรๆ ก็มีอยู่แล้วทั้งนั้น แต่ถ้าคิดให้ลึกซึ้งจริงๆ ถ้ากระทบแล้วสิ่งนี้ไม่เกิด จะมีอะไรปรากฏไหม เราไปจำไว้ต่างหากว่า มีอยู่แล้ว แต่นั่นคือความจำ ความจำส่วนความจำ ความจริงส่วนความจริง
เพราะฉะนั้น เรามีอัตตสัญญา ทุกคนที่ไม่ใช่พระอริยบุคคล คือจำว่าเป็นเราทั้งหมด ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เห็นก็เป็นเราเห็น ได้ยินก็เป็นเราได้ยิน คิดนึกก็เป็นเราคิดนึก กำลังเสียใจก็เป็นเราเสียใจ พอกำลังดีใจก็เป็นเราดีใจ แต่ทั้งหมดอยู่ที่ไหนคะ ที่เคยดีใจอยู่ที่ไหน เสียใจที่เคยเสียใจอยู่ที่ไหน สุขกายที่เคยสบายอยู่ที่ไหน ทุกข์กายอาจจะเคยเจ็บป่วย เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน หามาให้ได้ ไม่มีใครกลับหามาได้อีกเลย สิ่งใดที่เกิดแล้วดับทันที ทันทีที่เร็วมาก
เพราะฉะนั้น กว่าจะเป็นปัญญาก่อนจะถึงพระโสดาบัน ต้องประจักษ์การเกิดดับ แต่ก่อนนั้นจะต้องมีการฟัง การเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงเห็นใครแล้ว เราก็คิดว่า คนนี้คงจะเป็นพระโสดาบัน คนนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ โดยที่ว่าเราไม่ได้ศึกษาธรรม แต่ธรรมเป็นศาสดา เป็นสรณะที่จะทำให้เราไม่เห็นผิด ไม่เข้าใจผิด ไม่ตื่นเต้นกับสิ่งซึ่งไม่สมควรกับเหตุ ถ้าปัญญาขั้นการฟังไม่มีเลย เพียงแต่ทำอย่างไร ทำอย่างไรๆ ทำไม่ใช่ปัญญา เป็นตัวตนที่อยากจะทำ และคิดว่าทำได้ แต่ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แม้แต่ฟังเรื่องของนามธรรม และรูปธรรม ก็ต้องเข้าใจแล้วในขั้นนี้ มิฉะนั้นแล้วไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมได้ สติสัมปชัญญะก็ไม่เกิด เกิดแต่เพียงสติขั้นฟัง ซึ่งสติมีหลายระดับมาก สติขั้นฟัง ก็เป็นขั้นเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งจะต้องเจริญขึ้นมากกว่านี้ เมื่อเจริญขึ้นแล้ว สติเขาจะทำหน้าที่ปฏิบัติกิจของเขา ซึ่งถ้าเป็นภาษาบาลี ท่านที่รู้ภาษาบาลี ท่านแปลว่า ปฏิ หมายความถึงเฉพาะ ปัตติ หมายความว่าถึง
เพราะฉะนั้น เวลานี้มีสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งปัญญา และสติจะต้องถึงเฉพาะแต่ละอย่างจริงๆ ทีนี้จะไม่รวมกันแล้ว จะไม่มีโลกทั้งโลก จะไม่มีคนทั้งคน จะไม่มีโต๊ะมีเก้าอี้ จะไม่มีห้องนี้ แต่จะไม่มีสภาพธรรมที่ปรากฏเพียงอย่างเดียว ซึ่งสภาพธรรมนั้นเกิดแล้วดับให้ประจักษ์จริงๆ ได้ แต่ไม่ใช่โดยวิธีทำ แต่โดยอบรมปัญญาให้เข้าใจถูกขึ้น จนกว่าจะคลายความไม่รู้ เพราะเหตุว่าสิ่งหนึ่งซึ่งคนลืมว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้ตรัสรู้ แล้วก็สอนสาวก คือ ผู้ฟังให้รู้ ไม่ใช่ให้ไม่รู้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นศาสนาซึ่งสามารถที่จะพิสูจน์ได้ว่า คำสอนทั้งหมดที่ได้ยิน ได้ฟัง ถ้าปัญญาอบรมขึ้น เข้าใจขึ้น ความจริงที่ได้ยินได้ฟังมา ต้องตรงกับสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ
เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเลยที่ใครศึกษาธรรมแล้วจะไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร แต่สิ่งที่ยากคือฟังให้เข้าใจ ถ้าฟังให้เข้าใจแล้ว ขณะนี้รู้เลยว่า จิตกำลังเกิดขึ้นทำหน้าที่ของจิตแต่ละชนิด เจตสิกกำลังทำหน้าที่ของเจตสิกแต่ละชนิด แล้วก็รูปก็เกิดขึ้นแล้วก็มีหน้าที่เฉพาะอย่างๆ ของรูป