สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๗


    ผู้ฟัง อาจารย์คะ อย่างกรณีส่วนมากฟังธรรม จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย ถึงจะใช้ปัญญาแล้วก็ยังไม่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ใช้ปัญญาที่ไหนคะ ปัญญาอยู่ที่ไหน ขอใช้ด้วยคนถ้ามี

    ผู้ฟัง คือส่วนตัวคิดว่าปัญญา คือความคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ นั่นคือความคิด แต่ปัญญาต้องเป็นความรู้ความเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจึงจะชื่อว่า “ปัญญา” ในภาษาบาลีจะมีหลายคำ มีคำว่า “ญาณ” มีคำว่า “ปริญญา” มีคำว่าปัญญา ต่างระดับ แต่ทั้งหมดก็คือปัญญาเจตสิก

    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ ขอความเข้าใจในความหมายของนามธรรมกับรูปธรรมให้แจ่มแจ้งนิดหนึ่ง อาจใช้ตัวอย่าง ผมใช้ตัวอย่างที่ผมอ่านเจอของท่านอาจารย์มา อย่างสมมติว่า เรากำลังทานอาหาร เราเห็นอาหารที่ตั้งอยู่ คราวนี้นามธรรมก็คือจิต เป็น mental heart ของเรา แล้วก็รูปตัวของเราเป็น object แล้วก็อาจารย์บอกว่า ธรรม ๒ อย่าง

    ท่านอาจารย์ ธรรม ๒ อย่างไม่ใช่ของเรา

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ของเรา

    ท่านอาจารย์ แต่มีจริงๆ

    ผู้ฟัง แต่มีจริงๆ แล้วก็ทำงานร่วมกัน อย่างจิตของเรา

    ท่านอาจารย์ อาศัยกัน

    ผู้ฟัง อาศัยกัน อย่างจิต ของเราพยายามจะทานอาหารที่ดูดี แต่จิตเราจริงๆ เป็นนามธรรม ซึ่งทานเองไม่ได้ เพราะว่าเป็นจิต ต้องอาศัยรูปธรรม คือ ปากของเรา มือของเราที่จะตักทาน แต่ถ้าจิตของเราซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรมทำงานร่วมกันแล้วก็ทานอาหารได้ เพราะว่าถ้าเกิดเป็นรูปธรรมเฉยๆ โดยที่ไม่มีนามธรรมสั่งให้ทาน ก็ทานเองไม่ได้ หรือว่าถ้าเป็นตรงกันข้าม นามธรรม จิตเฉยๆ ก็ทานไม่ได้ ต้องอาศัยรูปธรรม คือตัวของเรา ก็อาศัยซึ่งกัน และกัน

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่คนส่วนใหญ่จะฟังตอนต้นๆ แต่ตอนปลายๆ จะต้องค่อยๆ ขยายความแล้วเข้าใจให้ละเอียดกว่านี้อีก เช่น จิต บางคนจะใช้คำว่า “จิตสั่ง” แต่จริงๆ แล้วจิตเป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นรู้ เป็นนามธาตุซึ่งรู้ ธาตุรู้ รู้ไม่ใช่รู้อย่างปัญญา ถ้าปัญญาแล้วคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก แต่รู้นี้เพียงแต่ว่ามีอะไรปรากฏให้รู้เท่านั้นเอง อย่างพอเสียงปรากฏ จิตเป็นสภาพที่กำลังได้ยินเสียง เป็นธาตุรู้ในเสียงที่ปรากฏ แล้วยังสามารถที่จะรู้ว่า เป็นเสียงอะไร เพราะสัญญาเจตสิกที่จำเสียงได้ คนในโลกนี้นับไม่ถ้วน แต่พอพูดเรารู้เลยว่า เสียงใคร นั่นไม่ใช่จิต สัญญาเจตสิกเป็นสภาพจำซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ต่อไปเราจะทราบว่า มีเจตสิกกี่ชนิดซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ แต่ว่าเนื่องจากจิตเป็นใหญ่ เป็นประธาน คนก็ไม่พูดถึงเจตสิก แต่ว่าจะพูดถึงจิตทั้งหมดเลย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นวิชาศาสตร์อื่น อย่างปรัชญา จิตวิทยา พวกนี้ เขาจะไม่มีเจตสิกเลย แต่จะมีจิตระดับต่างๆ แต่ตามความจริงแล้วใครก็ไม่สามารถที่จะรู้ว่า นามธาตุซึ่งเป็นธาตุรู้ แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่เฉพาะจิต ยังมีธาตุรู้อีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดด้วยกันเป็นเจตสิก ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน ไม่ว่าจิตใดเกิดขึ้นจะต้องมีเจตสิกสภาพของนามธรรมอีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วย เช่น ความจำ หรือว่าความอยากจะรับประทานอาหาร จิตเห็นเท่านั้น จิตรู้สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ความต้องการสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง แล้วจิตกับเจตสิก

    ท่านอาจารย์ แยกกันไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง แยกกันไม่ได้ ที่อยากทานอาหารเพราะอาหารอร่อย เพราะเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิกอยาก

    ผู้ฟัง รับทราบว่าอยากทาน เพราะอร่อย

    ท่านอาจารย์ เจตสิกจะเกิดโดยไมมีจิตไม่ได้เลย ต้องเกิดกับจิต อาศัยจิตเกิด แต่ว่าถ้าในการรู้อารมณ์แล้วจิตเป็นใหญ่ แต่ว่าเจตสิกอื่นๆ ในจิตขณะหนึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด แต่ว่า ๗ ชนิด เขาทำหน้าที่ของเขาแต่ละอย่างๆ โดยที่จิตไม่ต้องทำหน้าที่ ๗ อย่างนั้น จิตทำหน้าที่เพียงรู้แจ้งในลักษณะที่วิจิตรต่างๆ กันของ สิ่งที่ปรากฏ อย่างน้ำกับฟ้าที่มหาสมุทร เกือบจะเป็นสีเดียวกัน แต่จิตเป็นสภาพที่เห็น แจ้งในอารมณ์ที่ต่าง แม้แต่จะเล็กน้อยสักเท่าไร ก็เป็นลักษณะของจิตที่เห็นแล้วสัญญาจึงจำ สัญญาที่เกิดกับจิตนี้จำ จิตไม่ต้องจำ ไม่มีหน้าที่อะไรเลย เป็นใหญ่อย่างเดียวในการที่เกิดแล้วต้องเป็นธาตุรู้ รู้อะไรก็ได แต่ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ ส่วนจะดีจะชั่วอย่างไร เจตสิกทั้งหมด

    ผู้ฟัง จิตก็มีหน้าที่เห็นกับมีหน้าที่ฟังเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดจะมี ๑๔ กิจ หน้าที่ของจิตมี ๑๔ อย่าง แต่ว่าลักษณะของเขาจะเป็นธาตุรู้อย่างเดียว เพราะฉะนั้น เขาสั่งไม่ได้ เขาเกิดขึ้นรู้แล้วก็ดับ แล้วเจตสิกก็เกิดร่วมกัน แล้วก็ดับ แต่ที่เราเอื้อมมือไป เราไม่รู้ว่าเพราะจิตที่มีโลภะ ความต้องการเกิดขึ้น ในชีวิตประจำวันของเรา พอตื่นขึ้นใครจะทำอะไร ไม่ได้มีแต่จิตที่เป็นธาตุรู้ เจตสิกที่เกิดร่วมกัน แล้วแต่ว่าจะเป็นเจตสิกชนิดไหน บางคนโกรธ โกรธมากเลยทั้งคืน หลับไปหน่อย ตื่นขึ้นมาโกรธต่อ เร็วมากแค่นั้นเลย เพราะจิตเป็นสภาพที่ตื่นขึ้น แล้วก็รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ไม่โกรธ จิตไม่โกรธ เจตสิกโกรธ

    เพราะฉะนั้น ก็มีเจตสิกที่เป็นกุศลเจตสิก อกุศลเจตสิก แล้วก็อีกประเภทหนึ่ง เกิดได้ทั้งกุศลธรรม อกุศลธรรม เรียกว่า อัญญสมานาเจตสิก หมายความว่าเสมอกับเจตสิก และจิตที่เกิดร่วมด้วย ถ้าจิตเป็นกุศล เขาเป็นกุศลด้วย ถ้าจิตเป็นอกุศล เจตสิกประเภทนั้นเป็นอกุศลด้วย เขาไม่เป็นอกุศลโดยเฉพาะ หรือว่าไม่ใช่เป็นโสภณโดยเฉพาะ แต่จะมีเจตสิกที่เป็นโสภณโดยเฉพาะ เป็นอกุศลไม่ได้ เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากโสภณอย่างเดียว แล้วก็เจตสิกที่เป็นอกุศล เขาก็จะเป็นฝ่ายโสภณไม่ได้เลย อย่างโลภะ โทสะ โมหะ เป็นฝ่ายอกุศลเป็นเจตสิก

    ผู้ฟัง อาจารย์ครับ เราก็มีการอบรมเจตสิกได้ ให้เป็นกุศล

    ท่านอาจารย์ อบรมด้วยการฟังให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นจิตที่มีอารมณ์ เรียกว่าเจตสิก

    ท่านอาจารย์ มิได้ค่ะ หมายความว่าจิตเป็นสภาพรู้ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นธาตุรู้เลย รู้นะคะ เกิดขึ้นแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่ง สิ่งใด แล้วก็เมื่อมีธาตุรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ สิ่งที่ถูกรู้ภาษาบาลี ใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ แต่ คนไทยเราชอบตัดสั้นเราก็เรียกว่า อารมณ์ แต่เราก็ใช้ผิดอีก เราบอกว่าวันนี้อารมณ์ดี หมายความว่าใจสบาย แต่ความจริงอารมณ์ดี เพราะเห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี คิดนึกเรื่องที่ดี อารมณ์เป็นจิตก็ได้ เป็นเจตสิกก็ได้ เป็นนิพพานก็ได้ เป็นเรื่องราวก็ได้

    อารมณ์ หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่จิตรู้ อะไรก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เสียงในป่าเป็นอารมณ์ของจิตขณะนี้หรือเปล่าคะ เสียงในป่า เสียงเป็นเสียง แต่ไม่ใช่อารมณ์ ตราบใดที่จิตไม่ได้ยิน

    ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะฉะนั้นภาษาบาลี เสียง ภาษาบาลีใช้คำว่า “สัททะ” แต่เสียงที่กำลังปรากฏเป็น “สัททารมณ์” เอาสัทท รวมกับคำว่า อารมณ์ ต้องหมายความถึงเสียงที่จิตได้ยินด้วย เสียงจะเปลี่ยนเป็นอื่นไม่ได้ เสียงจะอยู่ในป่า เสียงจะอยู่ในทะเล เสียงจะอยู่นอกโลก เสียงก็ยังคงเป็นเสียง แต่ตราบใดที่ไม่มีการได้ยินเสียง เสียงนั้นเกิดแล้วดับก็เป็นเพียงเสียง แต่ขณะใดที่เสียงปรากฏ เสียงนั้นที่เราใช้คำว่า “สัททารมณ์” เพราะเหตุว่าเป็นอารมณ์ของจิต ต้องหมายความว่า มีจิตที่กำลังได้ยินเสียง จึงใช้คำว่า “สัททารมณ์”

    เพราะฉะนั้น อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าอะไรก็ตาม กำลังคิดนึก เรื่องที่คิดนึก ภาษาอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ คำหรือเรื่องก็เป็นอารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตกำลังรู้คำนั้น

    ผู้ฟัง อย่างสัททารมณ์ สัททา ไม่เกี่ยวกับ

    ท่านอาจารย์ สัททะ สอเสือ ไม้หันอากาศ ทอทหาร ๒ ตัว แปลว่าเสียงในภาษาบาลี สัททารมณ์ ก็เสียงที่ปรากฏกับจิตที่กำลังได้ยิน แล้วเสียงก็ดับ


    หมายเลข 9298
    21 ส.ค. 2567