สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๙
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๙
ผู้ฟัง เมื่อเช้านี้จำได้ว่า คุณหมอถามว่า นิพพาน นิพพานเป็นทั้งรูปธรรม และนามธรรมได้ไหม หรือไม่ใช่ทั้งคู่ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลยค่ะ คือ ต้องเข้าใจสิ่งที่มีจริงในโลกนี้ กำลังมี กำลังปรากฏ แล้วสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง อย่างใหญ่ๆ คือ อย่างหนึ่งก็เป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น อย่างกลิ่น รส แข็ง ร้อน เย็นพวกนี้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ อย่างที่เราเรียกว่าเสื่อ ความจริงก็แข็ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เพราะว่ากระทบสัมผัสปรากฏลักษณะได้ แม้ว่าเราจะไม่เรียกว่าแข็ง แต่สิ่งนี้มี เรียกภาษาอะไรก็ได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นธรรมเป็นของจริง เป็นปรมัตถธรรม มาจากคำว่า ปรม หรือภาษาไทยเราใช้คำว่า บรม เพราะว่าภาษาไทยเราใช้ บอ ปรมัตถธรรมก็หมายความถึงธรรมซึ่งมีลักษณะหรืออรรถที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้
พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งการที่จะเป็นพระโพธิสัตว์ แล้วมีความคิดที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทุกคน อย่างเราเกิดมาเราก็เห็น เห็นก็เห็น แต่คนที่มีปัญญาที่ใคร่จะรู้ความจริงว่า สุดยอดของความจริงคืออะไร เพราะว่าสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะตามไปรู้ความจริงได้ เพราะหมดไปแล้ว หมดแล้วหมดเลย อย่างเมื่อวานนี้ เราจะเอาเหตุการณ์เมื่อวานนี้กลับมาวิเคราะห์ กลับมาพิจารณาอีก เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้เพียงแค่คิดหรือนึกถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว หรือสิ่งที่ยังไม่เกิด ไม่มาประสบเฉพาะหน้าขณะนี้ เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้
เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นปัญญาก็คือการที่สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ถูกต้อง เพราะว่าโดยมากเวลาที่เราคิดถึงชีวิตของเราทั้งหมดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นเหตุการณ์ที่ยาว เกิดมาก็วันหนึ่งมีอะไรบ้าง ไปที่ไหนบ้าง ทำอะไรบ้าง แต่ถ้าเราย่อย ทั้งหมดออกมาให้เหลือขณะที่สั้นที่สุดยิ่งกว่าเสี้ยววินาที ก็ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นชีวิตโดยปรากฏแต่ละขณะ มิฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรปรากฏเลย ก็คงจะไม่บอกไม่ได้ว่า มีเหตุการณ์อะไรในชีวิต
เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะพูดถึงเรื่องราว พูดถึงชีวิตยาวๆ เราก็ย่อยลงมาเป็นเหลือ ๑ ขณะจิต ซึ่งเป็นความจริง สามารถที่จะสั้นลงไปอย่างนั้นได้ แล้วเราก็จะรู้ได้ ว่า ขณะนั้นมีสภาพธรรมที่มีจริง แล้วความจริงของสภาพธรรมก็คือขณะนี้แต่ละขณะซึ่งมีลักษณะ ๒ อย่างที่ต่างกัน คือ สภาพหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ภาษาบาลีใช้คำว่ารูปธรรม แล้วสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่งเป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เกิดจนตายก็มีนามธรรมกับรูปธรรมเกิด ซึ่งเราไม่เคยรู้ ไม่เคยทราบว่า อะไรเป็นนามธรรม อะไรเป็นรูปธรรม ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นนามธรรม นามธรรมก็ต้องเป็นนามธรรม ไม่ใช่เรา ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นรูปธรรม รูปธรรมก็ต้องเป็นรูปธรรม ไม่ใช่เรา แต่เพราะไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็เลยเอานามธรรมที่เกิดขึ้นเป็นเรา แล้วเอารูปธรรมที่เกิดขึ้นที่ตัว เป็นตัวของเรา หรือว่าร่างกายของเรา โดยความไม่รู้ว่า แท้ที่จริงแล้วทุกอย่างเกิด เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิด เกิดแล้วดับทันที อันนี้ยากที่จะรู้ได้ แต่ก็เป็นความจริง
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบก่อนว่า ธรรมไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ขณะนี้ นอกโลก ไกลแสนไกล กี่ชาติ กี่ภพ ก็มีแค่นามธรรมกับรูปธรรม ๒ อย่าง ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างนี้เราจะบอกไม่ได้ว่านิพพานเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ เราจะเริ่มเข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมว่า เมื่อรูปธรรมไม่ใช่สภาพรู้ ต่อไปนี้เวลาที่เราจะนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏเราก็สามารถจะบอกได้ว่า อะไรเป็นรูปธรรม และสิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรมทั้งหมดเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรม เป็นนามธรรม เมื่อนิพพานไม่ใช่รูปธรรม นิพพานก็เป็นนามธรรม แต่นามธรรมก็มี ๒ อย่างอีกนั่นแหละ คือ นามธรรมที่มีปัจจัยเกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ได้แก่ จิตกับเจตสิก ส่วนนามธรรมอีกอย่างไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรมนั้นเมื่อไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ไม่มีการเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นที่ตั้งของโลภะหรือความติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็เป็นธรรมที่ดับความติดข้องหรือความต้องการซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา
เพราะฉะนั้น คนที่มีกิเลสจะทราบได้ว่า จริงๆ แล้วไม่มีใครที่มีอำนาจจะไปดับกิเลสได้เลย เพราะว่าเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่หน้าที่ของอวิชชา อวิชชาไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรม แต่ปัญญาหรือวิชชาสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ จนประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมแรก คือ การเกิดขึ้น และดับไปซึ่งเป็น ทุกขอริยสัจจะ แล้วก็ยังรู้ด้วยว่า ขณะใดเป็นความติดข้อง เพราะมีความไม่รู้จึงติดข้องในสิ่งที่ปรากฏ ถ้าใครที่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ลักษณะของนามธรรมเพิ่มขึ้น จะติดข้องอะไรในสิ่งที่เพียงเกิดแล้วดับ เกิดขึ้นมานิดเดียวแล้วก็ดับทันที แล้วก็เกิดขึ้นมานิดเดียวแล้วก็ดับทันที แต่เมื่อปัญญาไม่ถึงระดับนั้น ก็ยังไม่ถึงการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ ๓ คือ นิพพาน ซึ่งเป็นนามธรรมเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่สภาพของจิตเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นนามธรรม แตกต่างกับนิพพาน คือ จิต เจตสิกเกิดแล้วก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้