ปัญญาต้องมาจากฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็เจริญขึ้น


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๔


    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่า คนเราจะมีปัญญา เกิดจากบุญที่ทำไว้ชาติก่อน

    ท่านอาจารย์ มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง อย่างผมถ้าเกิดไม่มีบุญในชาติก่อนนี้ ผมจะเริ่ม จุดจะเริ่ม ก็คือว่า ต้องเริ่มฟังก่อน ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาต้องมาจากฟัง แล้วก็ไตร่ตรอง แล้วก็เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง เพราะว่าผมก็มีลูก แต่ไม่เคยได้พามา ตอนแรกก็คงอาจจะต้องให้มาฟังก่อน ตัวเขาไม่เข้าใจก็ต้อง insist ให้เขา

    ท่านอาจารย์ ถาม ไม่เข้าใจก็ถามให้เข้าใจ

    ผู้ฟัง สิ่งที่ยากที่สุด คือ ประจักษ์การประจักษ์แจ้งนิพพาน จิตเท่านั้นที่จะเป็นตัวประจักษ์แจ้ง

    ท่านอาจารย์ เจตสิกด้วย ปัญญาเจตสิก จิตเขาทำอะไรไม่ได้เลย เขาเป็นธาตุที่รู้แจ้ง อารมณ์ที่ปรากฏ เขาไม่จำ เขาไม่รู้สึก เขาไม่ริษยา เขาไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่รัก ไม่ชังทั้งหมด ธาตุรู้ล้วนๆ เป็นจิต แต่เจตสิกมีหลากหลาย

    ผู้ฟัง ครับ แล้วก็จิตที่จะรู้แจ้งนิพพาน จะมีทั้งหมด ๘ ดวง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทั้งหมด

    ผู้ฟัง การที่จะถึงขั้นโลกุตตระก็แย่อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนธรรมดาคงจะไป force ให้เขารู้แจ้งนิพพานไม่ได้ .

    ท่านอาจารย์ ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้เลย ค่อยๆ ให้เขาเข้าใจคำสอน

    ผู้ฟัง ไม่รู้แจ้งนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ก็เรายังไม่ถึง ก็ยังไม่ถึงที่เราจะไปคิดถึงเรื่องนิพพาน สิ่งที่กำลังปรากฏ เรารู้แค่ไหน ตามความเป็นจริง ถ้าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สติสัมปชัญญะไม่เกิดที่จะรู้ลักษณะจริงๆ เพียงแต่ฟังเรื่องราว แต่ยังไม่ประจักษ์ลักษณะตัวจริงของเขา เพราะว่าปัญญาขั้นฟังยังไม่พอ แล้วก็ไม่ใช่ระดับที่จะทำให้รู้แจ้งด้วย ระดับที่จะรู้แจ้งต้องเป็นปัญญาที่จะอบรมมากกว่านี้ ที่จะรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมก่อน นิพพานไม่ต้องพูดถึงเลย

    ผู้ฟัง มีคนเขากล่าวว่า นิพพาน สมมติว่ามันก็เหมือนเค็ม คนที่ไม่มีลิ้นรับรสเค็ม อธิบายให้เขาจนตาย เขาก็ไม่รู้เรื่อง ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ถึงนิพพาน แค่นามธรรมกับรูปธรรม ให้เขาเข้าใจจริงๆ คือเรื่องฟังเป็นเรื่องที่ไม่ยาก ค่อยๆ พิจารณาตาม แต่ว่าเป็นเพียงเรื่องราวกับความคิดนึก ระดับนี้ก่อน จนกว่าจะเป็นพหูสูตร ผู้ที่ฟังมาก พิจารณามาก ไตร่ตรองมาก นี่เป็นสังขารขันธ์ เพราะเหตุว่าถ้าเราพูดถึงปรมัตถธรรม ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ปรมัตถธรรมที่มีในโลกนี้ คือ รูป แล้วก็มีจิตที่รู้รูป

    เพราะฉะนั้น จิตจะติดอะไร ก็ติดรูป เราเกือบจะไม่รู้เลยว่า รูปมีจริงๆ เป็นของธรรมดา สามัญที่สุด สีสันวรรณะต่างๆ ปรากฏทางตา เสียงก็ปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น กายกระทบสัมผัสสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งหมด ติดหมดเลย เราต้องการอะไรในชีวิตทุกคน ทางตา สิ่งที่สวยๆ ทุกร้านตามถนนหนทางไม่ว่าที่ไหน ในห้องนี้ นอกห้องนี้ ตั้งแต่เกิดมา ตาเห็นแล้วก็ไม่ได้พอใจเพียงแค่เห็น ยังแสวงหาสิ่งที่น่าดู

    เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า รูปเป็นรูป รูปไม่รู้เลยว่า ใครชอบ รูปอยู่เฉยๆ รูปเกิดแล้วก็ดับ แต่จิตไปเห็นรูป เพราะฉะนั้น จิตก็ติด ชอบรูป ชีวิตทั้งชีวิตของคนที่อยู่ในโลกที่มีรูปจะติดในรูป

    เพราะฉะนั้น รูปูปาทานขันธ์ รูปทุกรูป เป็นที่ตั้งของความยึดถือ ของความพอใจ เราเกิดมากี่ชาติ แล้วเราก็เห็น ของธรรมดา แต่ความพอใจของเราล้นเหลือมากมาย สีนี้ก็ไม่ได้ติดตามเราไปชาติหน้า แต่ชาติหน้าเราเห็นอีก แล้วความพอใจติดตามไป ชาติหนึ่งๆ กองโตเท่าไร ความติดข้องเพียงทางเดียว คือ ทางตา

    ผู้ฟัง แล้วจะให้เราทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ไม่ใช่เราค่ะ ปัญญา ต้องอบรมเจริญปัญญา กว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัป สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ถ้ายิ่งด้วยศรัทธา ๘ อสงไขยแสนกัป ถ้ายิ่งด้วยวิริยะ ๑๖ อสงไขยแสนกัป เพื่อที่จะรู้ความจริงธรรมดาๆ อย่างนี้ แต่คนอื่นที่ไม่ได้สะสมมา ไม่สามารถจะรู้ได้เลยถึงสภาพธรรมที่เป็นเพียงธาตุ ถ้าเราใช้คำว่า “ธาตุ” เราไม่คิดว่าเป็นของเรา ธาตุก็คือธาตุแต่ละอย่าง

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นนามธาตุ รูปธาตุ ทำไมจะเป็นเรา ก็เป็นธาตุที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นามธาตุก็เป็นสภาพรู้ แค่นี้ มีอยู่ตั้งแต่โกฏิกัปป์ แล้วไม่รู้ความจริงว่า เป็นธาตุ ต้องอาศัยคำสอนจากผู้ที่ตรัสรู้

    เพราะฉะนั้น การที่ทำอย่างไร ไม่มีทางทำ แต่ว่าการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญา เพราะฉะนั้น เมื่อทรงตรัสรู้แล้วก็ทรงแสดงธรรม ซึ่งเราเรียกว่าพระธรรม เพราะเป็นคำสอนที่สามารถจะทำให้คนฟังพิจารณาแล้วเกิดปัญญาของตัวเอง ถ้าใครเอาแก้วแหวนเงินทองมาให้เรากับเอาปัญญามาให้ เอาอย่างไหนดี

    ผู้ฟัง เอาปัญญา

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราซื้อปัญญาไม่ได้ แต่แก้วแหวนเงินทองยังซื้อได้ แต่ปัญญาของใครคนนั้นต้องอบรม ต้องฟัง ต้องพิจารณา ต้องค่อยๆ เกิดขึ้น


    หมายเลข 9305
    21 ส.ค. 2567