สิ่งที่ไม่มีชีวิต เขาเกิดดับได้อย่างไร
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๖
ท่านอาจารย์ สภาพธรรมมีอายุแสนสั้นทั้งนามธรรม และรูปธรรม อะไรสั้นกว่า นามธรรมอายุสั้นกว่ารูปธรรม เพราะเหตุว่ารูป คิดดูสิคะ มีมหาภูตรูป ความอ่อนความแข็ง เพราะฉะนั้น การเกิดดับต้องช้ากว่าจิต ซึ่งไม่มีรูปเลย ที่จะค่อยๆ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น นามธรรมเป็นธาตุซึ่งเกิดขึ้นทำหน้าที่หนึ่ง อย่างหนึ่งอย่างใด แล้วดับทันที แล้วก็จิตต่อไป เจตสิกที่เกิดกับจิตก็เกิดต่อ
เพราะฉะนั้น ในชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนตายหลากหลาย เดี๋ยวเห็น เดี๋ยวได้ยิน เดี๋ยวคิดนึก เดี๋ยวจำเรื่องนั้น เดี๋ยวคิดถึงเรื่องโน้น เดี๋ยวเป็นสุข เดี๋ยวเป็นทุกข์ นี่คือช่วงขณะของจิตที่เกิดอย่างรวดเร็ว แล้วก็สั้นมาก มีอายุสั้นแสนสั้น แล้วรูปที่เกิดดับทุกรูป จากการตรัสรู้แล้วทรงแสดงว่า มีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ แล้วเราจะมีปัญญาอย่างนั้นไหม เพราะว่าขณะที่กำลังเห็นกับขณะที่กำลังได้ยิน ความห่างของจิตเห็นกับจิตได้ยิน เกิน ๑๗ ขณะ รูปเกิดแล้วดับ ในระหว่างนั้น
ผู้ฟัง ไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ไม่มีชีวิต เขาเกิดดับได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าเราถูกปกคลุมด้วยอวิชชา และบัญญัติ หมอไม่ได้รู้ลักษณะของรูปที่กำลังเกิด และดับ หมอจำว่านี้เป็นกาย เพราะฉะนั้นบัญญัติคือสิ่งที่เราคิดถึงเรื่องราวของสิ่งที่มีจริง ปกคลุมปิดกั้นหมด อย่างเวลานี้ หมอบอกหมอเห็นคน อย่างไรก็ต้องเห็นคน กว่าหมอจะรู้แล้วค่อยๆ เข้าใจว่า ในสิ่งที่กำลังเพียงปรากฏเมื่อกระทบ คนอยู่ที่ไหน มีคนในสิ่งนั้นได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งนั้นเพียงกระทบแล้วก็ปรากฏ แต่หมอไปจำว่าเป็นคน เพราะฉะนั้น กว่าจะรู้จริงๆ ว่า ไม่ใช่คน สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ ความรู้อย่างนี้ต้องสมบูรณ์ก่อน
ผู้ฟัง อันนี้อธิบายได้ เรื่องของการเกิดสภาพรู้แล้ว นามธรรม รูปธรรม
ท่านอาจารย์ ก็อย่างรูปธรรม ก็ยังถามหมอ ขณะที่จิตเกิดพร้อมกับรูป รูปนั้นดับหรือเปล่า ถ้ารูปนั้นดับ ทำไมรูปอื่นไม่ดับ
ผู้ฟัง ก็เพราะจิตเกิด
ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวกับจิต ไม่เกี่ยวกับจิต รูปเป็นรูป รูปอยู่ที่ไหน ก็เป็นรูป รูปจะเกิดกับจิตหรือไม่เกิดกับจิต รูปก็เป็นรูป เปลี่ยนแปลงลักษณะของรูปไม่ได้ จิตสามารถที่จะรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น เช่น เสียง เสียงมีตั้งหลายเสียง แต่จิตจะรู้หมดเลย เสียงคุณหมอ พอรับโทรศัพท์ก็รู้เลย ทั้งๆ ที่เสียงเท่านั้น แต่เสียงนี้หลากหลาย แต่ความหลากหลาย ใครรู้ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังปรากฏให้จิตรู้ รู้ในลักษณะที่วิจิตรที่ต่างๆ นี่คือจิต แต่เขาไม่จำ เขาไม่ชอบ เขาไม่รัก เขาไม่ชัง เขาไม่ใช่ปัญญา เขามีหน้าที่ของเขาอย่างเดียวคือ เป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏให้รู้
เพราะฉะนั้น ต้องแยกลักษณะของจิตกับเจตสิก เวลาจิตเกิด ดับ ตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะไหนบ้างที่ประกอบด้วยปัญญา หรือขณะไหนเพียงเห็น แล้วก็รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร แล้วก็มีความรักความชังโดยความไม่รู้ ซึ่งยังไม่รู้ลักษณะของสิ่งซึ่งที่ปรากฏจริงๆ ใครจะบอกว่า ขณะนี้มีเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา อย่างไรๆ ก็เป็นคนที่เห็น เพราะจำไว้ จำไว้ ไม่ได้จำชาตินี้ชาติเดียว จำมาแล้วกี่ชาติ แล้วกว่าจะได้ยินได้ฟังว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิด ถ้าเป็นธาตุแล้ว ก็ไม่ใช่หมอแล้ว
ผู้ฟัง การเกิดดับของนามธรรมรูปธรรม อธิบายโดยเหตุผล เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่สิ่งที่
ท่านอาจารย์ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปรู้แจ้งจากผู้ที่ท่านตรัสรู้ ท่านสอน ท่านบอก ทุกสิ่งที่เกิดดับ คำนี้ ทุกสิ่งที่เกิดดับ เราต้องฟังแล้วเข้าใจ แม้ว่าเราไม่ประจักษ์ แต่เราพอที่จะค่อยๆ คิด ค่อยๆ เห็นตามได้ไหม แม้ว่าปัญญาของเราไม่ละเอียด ปัญญาของเราเพียงค่อยๆ แก่ไป ค่อยๆ หักไป ค่อยๆ เปลี่ยนไป แต่ทีนี้กว่าจะหัก กว่าจะแตก กว่าจะเปลี่ยน กว่าจะเก่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เล็กมากๆ จนกว่าอาการนั้นจะปรากฏให้เห็น อย่างภูเขาทั้งลูก ร้อยปีพันปี ที่แคว้นมคธ พระพุทธเจ้าก็เคยเสด็จไปที่นั้น ก็ยังเป็นภูเขาลูกนั้น มองไม่เห็นเลย ความเกิด ความดับ พระอาทิตย์ พระจันทร์ ใครไปเห็นว่าเกิดดับ แต่ว่าต้องมีการเสื่อม แล้วถ้ามีการเสื่อม ไม่ใช่หมายความว่าเสื่อมไปได้ทันที ต้องมีขณะเล็กๆ ๆ ที่เกิดดับสืบต่อจนอาการเสื่อมนี้ปรากฏ
นี่ไม่ใช่ว่าเราพูดเอง เพราะเราไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำที่ตรัสว่าสิ่งใดก็ตาม เมื่อมีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น แล้วก็ดับ ไม่เที่ยง
เพราะฉะนั้น ทุกขลักษณะ ไม่ใช่ว่าเราปวด เมื่อย เจ็บ ประสบกับสิ่งที่ไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ เป็นทุกข์ แต่ทุกข์ที่จะทำให้ผู้นั้นเป็นพระอริยบุคคลได้ คือ ทุกขลักษณะ ที่เป็นไตรลักษณะ ได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพธรรมที่เคยเป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แท้ที่จริงเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ตามระดับขั้นของปัญญาที่ค่อยๆ พิจารณา อบรมเจริญจนเห็นความต่างของนามธรรม และรูปธรรม แยกขาดจากกันจริงๆ ไม่สืบเนื่อง ไม่เกี่ยวข้องกัน นามธรรมก็เป็นนามธรรม รูปธรรมก็เป็นรูปธรรม และเมื่ออบรมความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น จึงจะประจักษ์การเกิดดับของ นามธรรมกับรูปธรรมได้ แม้ว่าเราจะเห็นเพียงความเสื่อมสลาย หรือความเก่า จากธรรมดาๆ แต่ว่าลึกลงไปกว่านั้น ปัญญาก็สามารถประจักษ์ความเกิดขึ้น และดับไปด้วย เพียงแค่กระทบ สภาพธรรมเกิด และดับ ถ้าเป็นปัญญาที่ประจักษ์ และแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของปัญญาที่จะอบรมจนกว่าจะถึง แต่ถ้าปัญญายังไม่ถึงเราก็สงสัย ต้องมีความสงสัยแน่นอน ผู้ที่จะดับความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมหมด ไม่เหลือเลย คือ พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน แต่ต้องผ่านปัญญาหลายระดับมากเลย วิปัสสนาญาณหลายขั้น กว่าจะถึงวิปัสสนาญาณ ที่เราเรียกว่า วิปัสสนาๆ กัน ก็คือปัญญาที่อบรมจากการฟัง เพราะคำว่า “ภาวนา” หมายความถึงอบรมจากสิ่งที่ไม่มีให้เกิดขึ้น สิ่งที่มีแล้วค่อยๆ เจริญขึ้น จากการที่ไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นธรรม เพราะว่าเคยเป็นคน เคยเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่เข้าใจว่าธรรม คือ สิ่งที่มีจริง แต่เป็นธาตุแต่ละอย่างที่มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่ตราบใดที่เป็นอวิชชา ความไม่รู้ ก็ไม่สามารถที่จะไถ่ถอนความจำให้เป็นอัตตสัญญาได้ เพราะเคยจำไว้เสมอว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง