สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๘


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๑๘


    ผู้ฟัง การศึกษาต้องเริ่มอย่างไรก่อนจึงจะเข้าใจง่าย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่เรียนรู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นเล็กน้อยมาก แล้วก็เอาไปไหนไม่ได้ด้วย เพราะว่า สิ่งใดที่เกิดแล้วดับจะไม่กลับมาอีกเลย ดับจริงๆ แล้วก็มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย จนมองไม่เห็นว่าสิ่งที่ดับ หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทาน หรือเสียงที่ได้ยิน หรือว่าสีสันวรรณะที่กำลังปรากฏ กลิ่น รส รูปร่าง ทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งนามธรรม และรูปธรรม เรียกว่าเราไม่ได้อะไรที่เราพอใจไปด้วย นอกจากความติดข้อง ความไม่รู้ตลอดชีวิต

    เพราะฉะนั้นถ้าเรามีโอกาสที่จะเกิดปัญญา ความรู้ขึ้นบ้าง คลายความไม่รู้ คลายความติดข้อง ชาติต่อๆ ไปเราก็จะมีความรู้เพิ่มขึ้น และอะไรจะประเสริฐที่สุด ความรู้หรือว่าทรัพย์สมบัติ หรือ ทั้ง ๒ อย่าง

    ผู้ฟัง มีสมบัติก็ดี มีความรู้ก็ดี

    ท่านอาจารย์ สมบัติจะได้มาแต่กุศลจิตหรืออกุศลจิต

    ผู้ฟัง ผมก็รู้ ทำมาหากิน ทำมาหากินก็ขยันหมั่นเพียร ก็มีมาเอง

    ท่านอาจารย์ คนที่ขยันยิ่งกว่าคุณสุกิจ แต่ยากจนเหลือเกินมีไหม

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร เขาก็ขยัน

    ผู้ฟัง อาจจะวิบากกรรม ไม่เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ ใช้คำนี้ถูกต้อง คือ ผลของกรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย ถ้าทราบละเอียดจนกระทั่งขณะจิต ย่อยชีวิตลงมาที่มีเหตุการณ์ต่างๆ เหลือขณะจิตเดียวทีละ ๑ ขณะ ยิ่งรู้ว่าไม่มีใครทำอะไรได้เลย จิตต้องเกิด เป็นสภาพรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับ ใครทำอะไรได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมไม่ใช่ไปทำ หรือว่าไปสร้าง หรือว่าเป็นเราที่อยากจะหมดกิเลส อยากจะมีปัญญา แต่ปัญญา คือ ความเข้าใจถูกในสภาพธรรมที่เป็นจริงอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่มีใครจะไปบังคับบัญชาได้ แล้วสังสารวัฏฏ์ ที่เราใช้คำว่า “สังสารวัฏฏ์” สังสาระก็คือท่องเที่ยว วัฏฏะ ก็วน แค่นี้เหมือนเข้าใจ แต่ความจริงวนเวียนไปทางไหน ทางตา เดี๋ยวเห็น ทางหู เดี๋ยวได้ยิน ทางจมูก ได้กลิ่น ทางลิ้น ก็ลิ้มรส วันหนึ่งๆ ก็แค่นี้ ตื่นเช้ามาก็เห็นทางตา ได้ยินเสียงทางหู จมูกได้กลิ่น รับประทานอาหารก็ลิ้มรส กายที่กระทบสัมผัสอยู่เรื่อยๆ ไม่ใช่เฉพาะชาตินี้ชาติเดียว กี่ชาติก็คือเท่านี้เอง ตาก็มีหน้าที่เห็น ตาแสนโกฐิกัป มีหน้าที่เห็น ไม่ต่างกับขณะนี้เลย ตาข้างหน้า จักขุวิญญาณ จิตเห็น ก็จะเห็นอย่างนี้แหละ เพียงเห็นสิ่งที่ปรากฏ จิตได้ยินก็ต้องมี ชาติก่อนก็ได้ยินเสียง ชาตินี้ก็ได้ยินเสียง ต่อไปอีกกี่กัปก็ได้ยินเสียง เพราะจิตนี้เกิดขึ้นแล้วได้ยินเสียง จิตคิดนึกหลังจากเห็น หลังจากได้ยินก็คิดนึกเรื่องราวต่างๆ เหมือนเรื่องราวต่างๆ แสนจริง แต่ความจริง จริงเพียงชั่วขณะที่คิด จริงชั่วขณะที่คิด ไม่ได้หมายความว่า เป็นสภาพที่มีจริงๆ ด้วย เป็นแต่เพียงความจำเรื่องของสภาพธรรมซึ่งเราไม่รู้ และเรายึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยตลอด

    เพราะฉะนั้น เราอยู่ในโลกของสมมติบัญญัติตลอดชีวิต ทุกชาติที่ไม่ได้ฟังพระธรรม อยู่ในโลกของสมมติบัญญัติ อยู่ในโลกของคน อยู่ในโลกของเรื่องราวต่างๆ แต่ไม่รู้สภาพปรมัตถธรรม ซึ่งถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิก ไม่มีรูป อะไรก็ไม่มี

    ผู้ฟัง อ่านตำราแล้วบอกว่า ต้องเป็นอย่างนี้ เป็นสัจสูตร ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า สัจสูตรผมก็นั่งวิเคราะห์ว่าจริงไหม ผมวิเคราะห์บางครั้งมันก็จริง บางครั้งมันก็ไม่จริง จะตัดสินได้อย่างไรว่า สัจสูตรมันจริงแน่นอน

    ท่านอาจารย์ ใครเป็นคนที่น่าเชื่อถือที่สุด

    ผู้ฟัง พระพุทธเจ้า ถ้าพูดกันตรงๆ เพราะเรามีความเชื่อ จริงๆ แล้วเราก็ไม่เคยเห็น

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เราไม่เห็น แต่เราเชื่อ เพราะว่าถูกสั่งสอนมาตลอด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ดิฉันเองก็กราบไหว้พระพุทธเจ้ามานาน

    ผู้ฟัง ผมก็เช่นกัน

    ท่านอาจารย์ ที่จะได้ศึกษา เพราะฉะนั้น เมื่อมีการเปิดการสอนพระอภิธรรมที่พุทธสมาคม ดิฉันไปศึกษาทันที เพราะไม่พอใจเพียงแต่จะกราบไหว้บุคคลซึ่งดิฉันไม่รู้จักเลยว่า มีความเข้าใจอย่างไร มีปัญญาแค่ไหน และสอนว่าอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะกราบไหว้ใคร เขาต้องรู้ว่าเขาควรค่าต่อการที่เรากราบไหว้มาตั้งแต่เด็กหรือเปล่า แทนที่ว่าเรากราบไปเรื่อยๆ จนตาย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าสอนว่าอะไร

    เพราะฉะนั้น แทนที่เราจะอ่านหนังสืออื่นใด ถ้าเราจะอ่านหรือศึกษาพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ แล้วก็เรื่องที่เราสามารถพิสูจน์ได้ก็คือ เป็นเรื่องที่มีจริงๆ ในขณะนี้ สอนให้เราเข้าใจ อย่างเรื่องธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ได้สอนเรื่องอื่นว่า เราจะต้องไปป่าหิมพานต์ ไปหาที่โน้น ไปหาที่นี้ แต่สิ่งที่กำลังมีในขณะนี้เป็นธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ถ้าไม่อาศัยคำเทศนาจากการตรัสรู้ เราจะไม่ทราบเลยว่า ไม่ใช่เราแน่นอน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แต่ว่ามีลักษณะต่างกัน ๒ อย่าง สิ่งที่มีจริงที่เป็นรูปธรรมนั้นอย่างหนึ่ง และสิ่งที่มีจริงที่เป็นนามธรรมนั้นอีกอย่างหนึ่ง อนุบาล คือตรงนี้

    ผู้ฟัง อนุบาล แต่เราแยกไม่ออก

    ท่านอาจารย์ ให้เข้าใจความหมายจริงๆ ภาษาไทยยุคนี้อาจจะใช้คำว่า “รูปธรรม” แต่ไม่ตรงกับความหมายในพระไตรปิฎก หรือคำสอน ถ้าตรงจริงๆ ก็หมายความว่าสิ่งที่จริงแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สิ่งนั้นๆ เป็นรูปธรรม ทุกอย่าง แล้วเราก็คิดสิคะ อะไรเป็นรูปธรรมบ้าง กลิ่นมีจริงไหม จริง กลิ่นรู้อะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้น กลิ่นเป็นอะไร

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร คือ แทนที่เราจะตามคำว่า รูปธรรม นามธรรม ถามมาตอบไป เราต้องเข้าใจด้วยว่า รูปธรรมหมายถึงสภาพที่ไม่รู้ ไม่ใช่เราตามคำโดยที่เราไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจแล้วว่า รูปธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่รู้อะไร ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น แข็งมีจริงไหม จริง เป็นนามธรรมหรือเป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง รูปธรรม

    ท่านอาจารย์ รูปธรรม นี่คือเราเริ่มเข้าใจความจริงซึ่งเดี๋ยวนี้พิสูจน์ได้ แล้วถ้าเราไม่เข้าใจคำสอนแล้วเราก็กราบไหว้ไป หรือเราอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่ง แล้วไม่มีทางจะรู้จักพระพุทธเจ้า การที่จะเห็นความเป็นพุทธะได้ แม้แต่ในครั้งพุทธกาลที่ยังไม่ปรินิพพาน ก็ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา รู้ในความเป็นพุทธะ จากพระธรรมที่ทรงแสดง จากการประจักษ์แจ้งธรรมว่า พระพุทธเจ้าประจักษ์อย่างนี้ ทรงแสดงอย่างนี้ เมื่อผู้นั้นได้เห็นแจ้งธรรมอย่างนี้ก็รู้ว่า รู้ตามที่ทรงแสดง เพราะถ้าไม่อาศัยพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ คนอื่นไม่มีทาง เพราะว่าไม่ได้อบรมปัญญาถึงระดับสัมมาสัมพุทโธ เพียงแค่สาวก คือ ผู้ฟัง ท่านพระสารีบุตร ผู้เลิศทางปัญญาก็เป็นผู้ฟัง เป็นสาวก แล้วเราเป็นใคร ไม่เรียน แล้วจะรู้พระพุทธศาสนา หรือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชาอื่นยังต้องเรียนแล้ว วิชานี้ใครเป็นผู้สอน แล้วไม่เรียน แล้วจะรู้ได้ไหมว่าสอนว่าอะไร


    หมายเลข 9309
    21 ส.ค. 2567