สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๑


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๑


    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้มีจิตจริง ยากไหมคะที่จะเข้าใจ เพราะว่าลักษณะของจิตเป็นธาตุรู้หรือสภาพรู้ หรืออาการรู้ที่กำลังเห็น ยากเหลือเกิน เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏแล้ว ก็ไม่มีการรู้ว่ามีสิ่งที่กำลังเห็น เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาให้เห็น แล้วจะรู้ว่ามีจิตกำลังเห็นได้อย่างไร ถ้าไม่ฟังด้วยเหตุผล ด้วยการพิจารณาว่า ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ต้องมีสภาพที่กำลังเห็นสิ่งนั้น สิ่งนั้นจึงปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจิตเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง แต่เป็นลักษณะคือเป็นธาตุรู้ ที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏ เสียงมี ในป่าไม่มีใครได้ยิน เป็นเสียงหรือเปล่า เสียงในป่า เป็นเสียงไหมไม่มีใครได้ยิน เสียงเป็นเสียงไหมคะ

    ผู้ฟัง ก็เป็น

    ท่านอาจารย์ เสียงก็เป็นเสียง คือจะเป็นอื่นไมได้ เสียงก็ต้องเป็นเสียง แม้ว่าใครจะได้ยินหรือไม่ได้ยินก็ตาม เวลาที่เสียงปรากฏ อย่างขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ทุกคนรู้ว่ามีเสียงปรากฏ ต้องมีสภาพที่ได้ยินเสียง เสียงจึงปรากฏกับชั่วขณะที่จิตกำลังได้ยิน

    นี่คือลักษณะของจิต เป็นธาตุหรือเป็นสภาพรู้ ซึ่งขณะที่นอนหลับสนิท แม้ว่ามีจิต แต่ไม่มีการรู้อะไรทั้งสิ้น อย่างหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ แล้วสิ่งที่ถูกรู้ ต้องใช้คำให้ถูกต้องด้วยว่า ใช้คำว่า อารัมมณนะ หรือ อาลัมพนะ เป็นที่ยินดีของจิต อาลัมพนะ เพราะจิตจะไม่ไปไหน นอกจากไปสู่อารมณ์ ถ้าใช้คำนี้ แต่จริงๆ แล้วคือรู้อารมณ์นั่นเอง เพราะว่าไม่มีแขน ไม่มีขา ไปไหนไม่ได้ จิตไปไหนไม่ได้ ถ้าเข้าใจอย่างถูกต้อง คือ จิตเป็นธาตุรู้ที่เกิดแล้วก็ดับ เวลาจิตเกิดขึ้นเห็น เห็นแล้วดับ ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย เวลาที่จิตเกิดขึ้นได้ยิน ได้ยินแล้วดับ

    นี่คือลักษณะของธาตุรู้แต่ละชนิด ซึ่งเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่เหมาะสม เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงจิต ทุกคนก็พอรู้ว่า ตอนนี้เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้ ไม่มีรูปร่าง แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ แล้วสิ่งที่ปรากฏ ภาษาบาลีเรียกว่า อารัมมณนะ หรืออาลัมพนะ แต่ภาษาไทยเราตัดสั้นๆ ว่า “อารมณ์” แล้วก็เข้าใจผิดไปเลย คือ เข้าใจผิดว่า วันนี้อารมณ์ดี ความจริงอารมณ์ดีเพราะเห็นดี ได้ยินเสียงที่ดี ได้กลิ่นดี ได้ลิ้มรสดี ได้กระทบสัมผัสดี ใจสบาย ก็บอกว่าวันนี้อารมณ์ดี ถ้าบอกใหม่ว่าวันนี้อารมณ์ไม่ดีเลย ก็หมายความว่าเห็นอะไรก็ไม่น่าพอใจเลย เห็นฝุ่น เห็นขยะ เห็นอะไรก็แล้วแต่ เห็นของสกปรก ไม่สะอาด ไม่สวยงาม หรือว่าได้ยินเสียง อารมณ์ไม่ดี เพราะเสียงนั้นทำให้ขุ่นเคืองใจ กลิ่นไม่ดี รสไม่ดี ก็ทำให้สัมผัสอารมณ์ไม่ดี นั่นคือภาษาไทย แต่ภาษาบาลีคำจำกัดความต้องตายตัว แล้วใช้ได้ตลอด คือ จิตเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีอารมณ์คือจิตสิ่งที่จิตกำลังรู้

    เสียงในป่า เสียงทั้งหมด ภาษาบาลีใช้คำว่า สัททะ เสียงที่ไม่ปรากฏเพราะว่าจิตไม่ได้ยิน แต่เสียงที่ปรากฏเพราะจิตได้ยิน เพราะฉะนั้นเสียงเป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน ภาษาบาลีใช้คำว่า สัททารมณ์ ไม่ใช่หมายความว่าเพียงสัททะเท่านั้น แต่เป็นอารมณ์ด้วย เพราะฉะนั้น เสียงเป็นสัททารมณ์ ถ้าไม่มีคำว่า “สัททารมณ์” หมายความว่า จิตกำลังรู้ ถ้าจิตไม่รู้ ก็เป็นเพียงสัททะเฉยๆ พอที่จะเข้าใจเรื่องจิตแล้ว ใช่ไหมคะ หรือว่ายังมีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับเรื่องจิตก่อนที่จะไปถึงเจตสิก

    ผู้ฟัง สงสัยตอนที่เราหลับ จิตนี้เกิดดับ เกิดดับเร็วมาก ขณะที่เราหลับ ตาก็ปิด หูก็ไม่ได้ยิน ยังมีจิตเกิดดับๆ ๆ ต่อเนื่อง อันนี้ ภวังคจิตใช่ไหมคะ แล้วเวลาหนูฝันล่ะคะ เป็นภวังคจิต หรือจิตอะไร

    ท่านอาจารย์ ต้องทราบจิตว่า แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่าลืม จิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ทุกครั้ง แต่ว่ามีจิต ๒ ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นจิตที่ไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่รู้อารมณ์หรือไม่มีอารมณ์เลย แต่เพียงไม่รู้อารมณ์ทางตา คือไม่เห็น ไม่รู้อารมณ์ทางจมูกคือไม่ได้กลิ่น ไม่รู้อารมณ์ทางหูคือไม่ได้ยิน ไม่รู้อารมณ์ทางลิ้น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้อารมณ์ทางกาย ไม่ได้กระทบสัมผัส แล้วก็ไม่ได้คิดนึกเรื่องใดๆ ทางใจด้วย

    เพราะฉะนั้น มีจิตประเภทหนึ่งที่รู้อารมณ์โดยไม่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ส่วนจิตอีกประเภทหนึ่งเกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ถ้าเราพูดโดยไม่มีตัวอย่าง ฟังยาก แต่ตัวอย่างก็คือกำลังนอนหลับสนิท เห็นหรือเปล่า ได้ยินไหม ได้กลิ่นไหม ลิ้มรสไหม รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสไหม คิดนึกไหม ไม่มีแม้ความคิด แต่ยังมีจิต เพราะว่าไม่ใช่คนตาย

    เพราะฉะนั้น จิตประเภทนี้ทำภวังคกิจ ทำหน้าที่ดำรงภพชาติ เกิดดับดำรงภพชาติ เป็นจิตประเภทเดียวกับปฏิสนธิจิต คือเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีจิต ก็จะไม่มีชีวิตใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ไม่ว่าประเภทไหนทั้งสิ้น ก็คือตาย แต่ตราบใดที่ยังไม่ตายก็ต้องมีจิตประเภทใดประเภทหนึ่ง ที่แยกใหญ่ๆ เป็น ๒ ประเภท คือ เป็นจิตที่เป็นวิถีจิต กับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต อันนี้ชื่อปะปนกันหน่อยกับภาษาไทย เพราะว่าวิถี เราหมายความถึงทาง หรือทางเดินที่เป็นวิถีทางของชีวิต หรืออะไรอย่างนั้น แต่ว่าสำหรับวิถีจิตหมายความว่าจิตประเภทที่อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิกับไม่ใช่อารมณ์ของภวังค์ เพราะว่าตอนเกิด ขณะเกิด โลกนี้ไม่ปรากฏแน่นอน ไม่ใช่วิถีจิต ไม่ใช่จิตที่เห็น ไม่ใช่จิตที่ได้ยิน ไม่ใช่จิตที่ได้กลิ่น ไม่ใช่จิตที่ลิ้มรส ไม่ใช่จิตที่รู้ว่า แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ไม่ใช่จิตที่คิดนึก แต่จิตนั้นเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย จึงเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับ แล้วก็ทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ ทำภวังคกิจ คือ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นจนกว่าจะตาย แต่ระหว่างเกิดกับตายจะต้องมีจิตประเภทต่างๆ เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตโลภ จิตโกรธ จิตดี จิตไม่ดี พวกนี้ไปเรื่อยๆ ขณะใดก็ตามที่จิตรู้อารมณ์ที่ไม่ใช่อารมณ์ของปฏิสนธิจิต และภวังคจิต เป็นวิถีจิตทั้งหมด เพราะฉะนั้น ก็เว้นปฏิสนธิจิต ภวังคจิตกับจุติจิตเท่านั้น ๓ ประเภทนี้ ๓ ขณะ แต่ว่าเป็นจิตชนิดเดียวกัน เพราะว่าเป็นผลของกรรมเดียวกัน นอกจากจิต ๓ ขณะนี้แล้วขณะอื่นเป็นวิถีจิตทั้งหมด

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้นขณะที่ฝันก็เป็นวิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ใช่คะ

    ผู้ฟัง แล้วเป็นประเภทกุศลหรืออกุศล เพราะบางครั้งก็ฝันดีๆ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ดี ได้ทราบชาติของจิตว่า เป็นกุศลก็มี เป็นอกุศลก็มี เป็นวิบากก็มี เมื่อกี้เราพูดถึงวิบาก กุศลเป็นเหตุ อกุศลเป็นเหตุ วิบากเป็นผล เป็นจิตทั้งหมด ถ้าถามว่าผลของกรรมจะเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ไม่ได้ แต่ต้องเป็นจิตประเภทที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเป็นปัจจัย ทำให้จิตประเภทวิบากเกิด เวลาที่ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นผลกรรมหนึ่ง เวลาที่ปฏิสนธิจิตดับไป ภวังคจิตเกิดสืบต่อเป็นผลของกรรมเดียวกัน ยังไม่เปลี่ยน กรรมนั้นยังให้ผลอยู่ คือ ต้องหลับไปเถอะ หรือไม่รู้อารมณ์ไปเถอะ จนกว่ากรรมอื่นจะให้ผล หรือกรรมอันนั้นแหละ กรรมเดียวกับปฏิสนธิให้ผลด้วย หมายความว่า เขาไม่ได้ให้ผลเพียงแค่เกิดแล้วเป็นภวังค์ ถ้ากรรมให้ผลเพียงแค่เกิดแล้วเป็นภวังค์ คนเกิด สัตว์เกิด เทวดาเกิด พรหมเกิด ไม่ต่างกันเลย เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่รู้อะไรทั้งสิ้น โลกนี้ไม่ปรากฏ โลกไหนก็ไม่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น อารมณ์ของปฏิสนธิจิตกับอารมณ์ของภวังคจิตกับจุติจิต ไม่ใช่อารมณ์ที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่ว่าเป็นอารมณ์ที่สืบเนื่องมาจากจิตใกล้จุติของชาติก่อน เพราะฉะนั้น เมื่อข้ามภพข้ามชาติแล้วไม่มีทางที่จะปรากฏเลยว่า ชาติก่อนเราเป็นใคร แล้วเราตายที่ไหน แล้วก่อนเราตายจิตเราเป็นอย่างไร ไม่มีทางจะรู้ได้เลย เหมือนประตูที่ปิดสนิท ไม่มีทางที่จะข้ามไป หรือย้อนไปว่ามาจากไหน แล้วก่อนจะตายจิตประเภทไหนเกิด แต่จิตที่เกิดก่อนจะตาย เป็นผลของกรรมหนึ่งในบรรดากรรมเยอะแยะมากมาย เพราะว่าเราเพียงชาตินี้ชาติเดียวไม่ได้ทำกรรมเดียวเลย มีกรรมตั้งหลายอย่าง แล้วกรรมที่จะทำให้เราเกิดต่อจากตายในชาตินี้ ไม่ใช่เป็นกรรมในชาตินี้เท่านั้น กรรมก่อนๆ ก็จะมีโอกาสที่จะทำให้ชาติหน้า เราเกิดเป็นอะไรต่างๆ กันด้วย


    หมายเลข 9312
    21 ส.ค. 2567