จิตออกร่างไปแล้วกลับมา จริงไหม


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๒


    ผู้ฟัง อาจารย์ เคยอ่านหนังสือ ... แล้วจิตออกร่างไปแล้วกลับมา จริงไหมคะ

    ท่านอาจารย์ ไม่จริงค่ะ จิตไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลย นามธาตุ นามธรรมเป็นนามธรรมล้วนๆ แยกขาดจากรูปโดยเด็ดขาด ไม่มีรูปสักรูปอย่างที่บอกเมื่อกี้นี้ เอาสีสันวัณณะออก เอาเสียงออก เอากลิ่นออก เอารสออก เอาเย็นร้อนอ่อนแข็ง เอารูปออกหมด จิตเกิดขึ้นต้องเป็นธาตุรู้ เพราะว่าสภาพนามธาตุเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อเราอยู่ในโลกซึ่งมีรูป มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะ คือ มีสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย เราก็ติดในรูปมากๆ ลืมไปว่าขณะนี้จิตกำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นจิต แต่คิดว่ามีเราที่กำลังเห็น แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องมีสภาพรู้หรือธาตุรู้ ซึ่งธาตุรู้หรือสภาพรู้มี ๒ อย่าง ไม่ใช่อย่างเดียว ธาตุรู้หรือสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง ไม่จำด้วย ไม่เสียใจ ไม่ดีใจ ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่ใช่ปัญญา หรืออะไรทั้งหมด เพียงแต่สามารถจะรู้แจ้งอารมณ์ที่ปรากฏ ชัดเจน หมายความว่ารู้แจ้งจริงๆ ในลักษณะหลากหลายของอารมณ์ที่ปรากฏ อย่างสีฟ้า มีตั้งแต่ฟ้าอ่อนที่สุดจนกระทั่งแก่ที่สุด ถ้าไม่มีตาเห็น จะรู้ไหม ไม่รู้ แต่ที่เห็นว่าต่างกัน เพราะจิตเห็น คือ เห็นความละเอียด ความหลากหลาย ความต่างของอารมณ์ที่ปรากฏ ไม่ว่าจะทางตา ทางหู เสียงต่างๆ ทางจมูกกลิ่นต่างๆ ทางลิ้น รสต่างๆ บางรสอธิบายไม่ถูก ทานเข้าไปแล้วคนอื่นถามว่าเป็นอย่างไร บอกไม่รู้ แต่จิตลิ้ม ไม่มีคำจะอธิบายจริง ต่อให้รสนั้นจะประหลาดแปลกสักเท่าไรก็ตาม ไม่เหลือวิสัยที่จิตจะลิ้มรสนั้น เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในอารมณ์ที่ปรากฏกับจิต แม้ว่าไม่ต้องใช้คำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น

    เพราะฉะนั้น จิตเป็นใหญ่ เป็นมนินทรีย์ เป็นใหญ่ในการเป็นธาตุรู้ เขารู้แจ้งอารมณ์ แต่เขาจะไม่จำอารมณ์ ไม่มีกิจหน้าที่อื่นเลย หน้าที่อื่นทั้งหมดเป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต

    เพราะฉะนั้นนามธรรมทั้งหมด บางทีใช้คำว่า นามธรรม ๕๓ เพราะว่าเป็นเจตสิก ๕๒ ชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะเฉพาะของเขา แล้วก็มีจิตหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้หรือธาตุรู้ คือรู้อย่างเดียวไม่ทำอย่างอื่นเลย แต่เป็นใหญ่เป็นประธาน เพราะเหตุว่าถ้าจิตไม่เกิด เจตสิกก็เกิดไม่ได้ และในขณะเดียวกัน ถ้าเจตสิกไม่เกิด จิตก็เกิดไม่ได้

    นี่คือธรรมที่เกิดขึ้นโดยต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง ถ้าคนไม่รู้ก็คิดว่าจิตเกิดขึ้นไม่มีอะไร มีแต่จิต เพราะฉะนั้น ศาสตร์อื่นจะไม่กล่าวถึงเจตสิกเลย แต่จะมีระดับของจิตต่างๆ จิตใต้สำนึก จิตเหนือ อะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าไม่พูดถึงเรื่องเจตสิก เพราะว่าไม่รู้ว่าเป็นเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิต รู้อารมณ์เดียวกับจิต จิตเป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ เวลาที่ใช้คำว่า “นาม” คำเดียว ภาษาไทยเราคิดถึงชื่อ แต่ถ้าเป็นนามธรรมไม่เกี่ยวกับชื่อเลย แต่หมายความถึงสภาพธรรมที่สามารถที่จะรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ นามธรรมที่เกิดไม่รู้อารมณ์ได้ไหมคะ ไม่ได้ นอนหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ได้ไหม คือ ธรรมนี้เปลี่ยนไม่ได้เลย อันนี้ต้องทราบ อย่างไรๆ ก็เปลี่ยนไม่ได้ เพราะไม่ใช่การคิด การเดา การคลาดคะเน แต่เป็นการตรัสรู้ สภาพธรรมจริงอย่างไรก็จริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นธาตุรู้เกิดขึ้นแล้วจากนั้นไม่รู้อะไรได้ไหม ถ้าเป็นธาตุรู้ ไม่ได้ เพียงแต่ว่าอารมณ์นั้นจะปรากฏหรือไม่ปรากฏให้รู้ แต่ว่าจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ต้องรู้ รู้อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด

    เพราะฉะนั้นเราจึงกล่าวได้ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิจิต ในเมื่อโลกนี้ไม่ปรากฏเลย ยังไม่มีตา ไม่มีหู แต่จิตเกิดแล้ว เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดขณะแรกเป็นผลของกรรม ซึ่งมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะตายของชาติก่อน ชาติก่อนเราไม่รู้ว่า เราตายอย่างไร แล้วก็ก่อนจะตาย เห็นอะไรก็ไม่รู้ ได้ยินเสียงอะไร แล้วคิดนึกอย่างไร ก็ไม่มีทางรู้ทั้งสิ้น แต่ต้องมีจิตที่เกิดก่อนจุติ คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน จุติจิตหมายความถึงจิตนี้เกิดแล้วดับไปก็คือตาย เพราะว่าจิตขณะสุดท้ายเกิดแล้วดับก็คือสิ้นชีวิต

    เพราะฉะนั้น ก่อนจะตาย เราอาจจะนึกไม่ถึงว่าอะไรจะปรากฏ แต่ว่าถ้าเราเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้เองเราจะตายได้ไหม ได้แน่นอน เพราะฉะนั้น อารมณ์ที่ปรากฏก่อนจะตาย เป็นสีสันวัณณะก็ได้ เป็นเสียงก็ได้ เป็นกลิ่นก็ได้ เป็นรสก็ได้ เป็นอ่อนหรือแข็งที่กำลังปรากฏก็ได้ หรือเป็นเรื่องราวที่นึกคิดก็ได้ ถ้าจิตเศร้าหมอง เพราะคิดถึงเรื่องที่ไม่ดี ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จิตก่อนจะตาย ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงจิตเห็นกับจิตได้ยินขณะนี้ ห่างกัน ไกลกันเกินกว่า ๑๗ ขณะจิต แต่ว่าจิตใกล้จะตาย มีจิตเกิดดับสืบต่อกันที่เป็นกุศล อกุศลเพียง ๕ ขณะ เพราะฉะนั้น เร็วมาก ไม่มีการจะไปเตรียมตัว ต้องแล้วแต่กรรม

    เพราะฉะนั้น กรรมที่ทำให้เกิดใช้คำว่า “ชนกกรรม” ชนก แปลว่าทำให้เกิด กรรมหนึ่งซึ่งจะเป็นชนกกรรม จะทำให้จิตเกิดขึ้น แล้วก็มีสิ่งที่เกิดเพราะกรรมนั้นเป็นอารมณ์ อาจจะเป็นการนึกคิดถึงกรรมที่ได้ทำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมก็ได้ เพราะว่าเราห้ามความคิดของเราไม่ได้เลย นั่งๆ ฟังอย่างนี้ เราคิดเรื่องอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเราคิดเรื่องอื่นแล้วตาย ก็คือตอนนั้นมีเรื่องนั้นเป็นอารมณ์ แล้วก็จิตนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่ถ้าเราตายเดี๋ยวนี้ กำลังฟังธรรมเข้าใจ จิตเป็นกุศล ปฏิสนธิของเราก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ประกอบด้วยปัญญา เพราะว่าเราเลือกไม่ได้เลยว่า จะให้กรรมไหนของเราให้ผล

    การศึกษาธรรมจะทำให้เราเข้าใจธรรมทุกอย่างว่า เป็นแต่เพียงธาตุ การที่ใครจะเกิดมาพิการตั้งแต่กำเนิด หรือว่ามั่งมีมหาศาล หรือว่ามีสติปัญญามาก หรือว่าสติปัญญาน้อย ไม่มีใครต้องการจะได้สิ่งที่ไม่ดี แต่ว่าต้องแล้วแต่กรรมไหน เพราะเรามีกรรมทุกประเภทที่เรากล่าวมา อกุศลกรรมก็มี ที่จะทำให้ไม่มีจักขุปสาท ตาบอด หรือหูหนวก หรือว่าร้ายแรงมากกว่านั้น ก็คือว่าเกิดในนรก หรือเกิดเป็นสัตว์เล็กสัตว์น้อย เดรัจฉาน มด ปลวก หนู ช้าง อะไรก็ได้ แล้วแต่กรรม เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าที่เราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผลของกุศลกรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์คะ กรรมก็เป็นเจตสิก ใช่ไหมคะ ที่เราพูดกรรม กรรม กรรม บางครั้งงง เป็นนาม คือ เจตสิก

    ผู้ฟัง กรรมนี้เป็นการกระทำไม่ใช่หรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต รูปทำอะไรไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง มีผลมาจากจิต

    ท่านอาจารย์ รูปทำอะไร รูปก็ไม่รู้ รูปไปตีใคร รูปก็ไม่รู้ว่า รูปไปตีใคร

    ผู้ฟัง ไม่มีใครสั่งได้

    ท่านอาจารย์ อย่าใช้คำนี้ ชอบใช้กันจนติดแล้วก็ไม่แก้ แล้วก็ทำให้เข้าใจผิด ก็มันง่ายดี คือ จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าวบ้าง หรือว่าจิตสั่งรูปบ้าง แต่ความจริงจิตเกิดขึ้นแล้วรู้เท่านั้นเอง จิตทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากรู้ กำลังเห็น สั่งอะไร ดับไปแล้ว เอาจิตได้ยิน สั่งอะไร จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ดับไปแล้ว สั่งอะไร แต่ว่ารูปเกิดจากจิต ไม่ใช่มีรูปที่เกิดจากกรรมเท่านั้น ไม่ใช่มีรูปที่เกิดจากอุตุ หรืออาหารเท่านั้น แต่มีรูปที่เกิดจากจิตด้วย กำลังพูด ทุกคนก็พูดไป มีรูปที่กระทบกับฐานของเสียงเพราะจิต ...

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ คนที่โกรธหน้าแดง หน้าแดงนั้นเกิดจากโทสะ หรือว่าร้องไห้ น้ำตาไหล น้ำตามาจากจิตที่เสียใจ ก็ทำให้รูปนี้เกิดขึ้น แต่ว่านี่เป็นรูปหยาบๆ ที่เรามองเห็น แต่ความจริงพอปฏิสนธิจิตดับ จิตขณะต่อไปที่ทำภวังคกิจ ขณะแรกเรียกว่าปฐมภวังค์ มีจิตตชรูป คือ รูปที่เกิดเพราะจิตนั้นเป็นสมุฏฐานเกิดพร้อมกัน ... เพราะว่าจิตขณะหนึ่งจะมีจิตขณะย่อย ๓ ขณะ คือ ขณะเกิด ชื่อว่า อุปาทขณะ ขณะดับ ชื่อว่า ภังคขณะ แล้วระหว่างที่ยังไม่ดับก็เป็นฐีติขณะ

    เพราะฉะนั้นเวลาที่จิตตชรูปเกิด เกิดพร้อมอุปาทขณะของจิตเลย ทันทีเลยไม่มีระหว่างคั่น ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะไม่ใช้คำว่าจิตสั่ง เพราะสั่งไม่ทัน เกิดพร้อมกัน ทันทีที่จิตเกิด รูปก็เกิด นั่นคือรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน ถ้ารูปที่เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน ก็จะต่างจากรูปที่เกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน คือ ตั้งแต่ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมก็ทำให้รูปเกิดทุกขณะย่อยของจิต นี่ต่างกัน แต่ว่าไม่ใช่มีเราดีใจ หรือว่าเสียใจ แล้วก็เห็นอาการของรูปว่า รูปนี้เกิดจากจิต จิตตชรูปเกิดได้ตั้งแต่ปฐมภวังค์ มีจิต ๑๐ ดวง หรือ ๑๐ ชนิด ซึ่งไม่สามารถไม่เป็นปัจจัยพอที่จะให้จิตตชรูปเกิด คือที่เราเรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ วิญญาณ แปลว่ารู้ ปัญจ แปลว่า ๕ จิต ๕ ดวง ทวิแปลว่า ๒ อย่างละ ๒ๆ คือ จิตเห็น ๒ ดวง จิตได้ยิน ๒ ดวง จิตได้กลิ่น ๒ ดวง จิตลิ้มรส ๒ ดวง จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ๒ ดวง ๑๐ แล้ว ใช่ไหมคะ จิต ๑๐ ดวงนี้มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเพียง ๗ ดวง ไม่พอที่เป็นสมุฏฐานที่ทำให้รูปเกิด นอกจากจิต ๑๐ ดวงนี้แล้ว ทุกขณะที่จิตเกิด จิตตชรูปเกิดร่วมด้วย แม้แต่ขณะที่นอนหลับสนิท


    หมายเลข 9313
    21 ส.ค. 2567