สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๖


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๒๖


    ท่านอาจารย์ ทันทีที่เห็น มาแล้ว เร็วมาก ที่จะไม่ให้เห็นแล้วเกิดอกุศล เป็นไปไม่ได้ นอกจากคนนั้นจะเป็นผู้ที่มีปัญญามาก

    เพราะฉะนั้น จากชีวิตประจำวันที่เราตื่นขึ้น หลังจากที่นอนหลับสบายเหมือนไม่มีกิเลส พอตื่นขึ้นมากิเลสก็ตื่นด้วย พอเห็น อดไม่ได้ ถ้ารู้วิถีจิตว่า ทันทีที่จิตเห็นดับ จิตอะไรจะเกิดต่อ แล้วต่อจากนั้นก็จะเป็นอกุศลชนิดหนึ่งชนิดใด คือ โลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือโมหมูลจิต

    ชื่อ ๓ ชื่อนี้คุ้นหู โลภะเป็นเจตสิก โทสะเป็นเจตสิก โมหะเป็นเจตสิก แต่เป็นรากเหง้า เป็นมูล เป็นเหตุ ที่จะทำให้จิตเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล หรือว่าบางทีไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล เหตุพวกนี้ก็เกิดได้ ต่อไปจะเรียนละเอียดกันเรื่องชาติของจิต

    เพราะฉะนั้น ขั้นแรกที่สุด ชาติของจิตสำคัญที่สุดที่จะแสดงว่า ชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะไหนเป็นจิตชาติไหน เพราะว่าเหตุกับผลไม่ปนกัน แล้วจิตที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลก็มี เป็นกิริยาจิต

    ทีนี้คิดถึงชีวิตของผู้ที่ท่านสะสมที่จะเป็นพระอริยบุคคล จากเห็นธรรมดา แล้วก็เกิดอกุศล ท่านเริ่มฟังธรรม ชาติไหนก็แล้วแต่ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ค่อยๆ อบรมปัญญา ซึ่งเป็นจิรกาลภาวนา เพราะว่าการอบรม หมายความว่า เปลี่ยนทันทีไม่ได้ ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย อย่างเราได้ยินว่า โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี ได้ยินไปอีก ๑๐ ปี โลภะ โมหะ โทสะ ก็ยังมี เพราะว่าต้องอบรม ต้องค่อยๆ เห็นโทษทีละเล็กทีละน้อย แล้วปัญญาต้องค่อยๆ เกิดจริงๆ เจริญจริงๆ ตามระดับขั้น จึงสามารถที่จะคลายหรือละได้ ถ้าละลงไปหน่อยก็เป็นการสะสมธรรมฝ่ายดี จนกว่าปัญญาจะเจริญ เวลาที่เห็น แทนที่จะเป็นโลภะ ก็เป็นสติที่ระลึก แล้วสามารถที่จะรู้ สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมซึ่งต่างจากรูปธรรมในขณะนี้ ซึ่งเรากำลังฟังเรื่องนามธรรม รูปธรรม จนกระทั่งทุกอย่างในชีวิต สติระลึกแล้วรู้ จึงไม่สงสัย ไม่อย่างนั้นจะสงสัยว่า นี่เป็นนามธรรมหรือเปล่า นั่นเป็นรูปธรรมหรือเปล่า แต่ถ้ามีความเข้าใจถูก ชีวิตเราวนเวียนอยู่เพียงแค่ทางตาเห็น ทางหูได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายกระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก อยู่แค่นี้ กี่ภพกี่ชาติก็แค่นี้ วนกันอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ไปไหน ติดก็ติดอยู่ตรงนี้แหละ ไม่ไปไหน ออกไปไม่ได้ เพราะขาดปัญญา

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะออกจากสังสารวัฏฏ์ หรือผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม รู้โดยไม่มีปัญญาไม่ได้เลย ไม่อบรมเจริญปัญญาก็ไม่ได้ ต้องค่อยๆ อบรมไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะว่าปัญญาโตช้ามาก แต่โตได้ จากการฟังแล้วพิจารณา

    เพราะฉะนั้น สติกับปัญญาของท่านจะเกิดแทนอกุศล สำหรับผู้ที่อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งท่านสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรม โดยปัญญาของท่านรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ โดยสภาพธรรมปรากฏ เป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนี้นามธรรมไม่ปรากฏลักษณะของนามธรรม เรารู้ว่ามีจิต แต่ยังเป็นเรา เล็กๆ บางทีเราก็บอกว่าเราตัดสินใจ ลืมไปแล้วว่าเป็นจิต ลืมบ่อยๆ นี่คือผู้ที่หลงลืมสติ แต่ผู้ที่มีสติ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม ซึ่งมีอยู่พร้อม อย่างแข็งมีอยู่ตลอดเวลา จิตที่รู้แข็งก็มีตลอดเวลา แต่ไม่ใช่กุศลจิต เพราะไม่รู้ความจริงว่า แข็ง เป็นแต่เพียงสภาพที่เป็นของจริงอย่างหนึ่ง แล้วสภาพที่รู้แข็ง ถ้าขณะนั้นจิตเกิดขึ้นทีละ ๑ ขณะ ขณะที่รู้แข็ง อย่างอื่นไม่ปรากฏเลย นี่คือปัญญาที่รู้ความจริงว่า ไม่มีอะไรในโลก นอกจากจิตซึ่งเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดทีละอย่าง แล้วลองคิดดูสิคะ เอาโลกออกไปหมดเลย ไม่เหลืออะไร เหลือแต่จิตที่กำลังรู้แข็ง นั่นคือการประจักษ์แจ้งสภาพธรรม แต่ถ้ายังมีทุกอย่างอยู่ก็เป็นเรื่อง จิตก็เกิดดับสลับไปเรื่อยๆ ให้เกิดความคิดนึกไปเรื่อยๆ ยังไม่ถึงระดับขั้นที่สภาพธรรมจะปรากฏตามความเป็นจริงของสภาพธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่กว่าใครจะอบรมจนกระทั่งถึงความเป็นพระอริยบุคคล ต้องใช้เวลานาน อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยแสนกัป เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงแค่ตรัสรู้ แต่ยังต้องประกอบพร้อมด้วยทศพลญาณอีกหลายอย่างมากเหนือบุคคลใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เมื่อผลใหญ่อย่างนั้นก็ต้องเหตุใหญ่ เราจะมีปัญญาเล็ก ผลก็นิดเดียว คือ เรียนนิดเดียว ถ้าจะมีปัญญามาก ...

    ผู้ฟัง ... ขยายความว่า ๔ อสงไขยแสนกัป

    ท่านอาจารย์ นาน นานค่ะ ก็ท่านใช้คำว่าอุปมาในพระไตรปิฎก เกวียนเล่มหนึ่งซึ่งมีเมล็ดพันธุ์ผักกาดอยู่เต็ม ร้อยปีหล่นไปเม็ดหนึ่ง จนกว่าจะหมด ก็ไม่ต้องไปคิด คือบางคนก็คูณเป็นตัวเลขเลย แล้วมันมีประโยชน์อะไร ดิฉันก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าเรารู้ว่ามันนานแสนนาน แล้วเรามีชีวิตเท่าไร ๗๐ ปี ๘๐ ปี แล้วเราจะนั่งคำนวณว่า ตั้ง ๔ อสงไขยแสนกัปมันเท่าไร ทราบแต่เพียงว่ากัปหนึ่งนั้นแสนนาน

    ผู้ฟัง อย่างน้อยศึกษาแล้วไม่ประมาท เห็นประโยชน์ของพระธรรมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ในสมัยโน้น คนที่ฟังพระธรรมแล้วเป็นพระอรหันต์หลังจากที่จบเทศนามี ฟังแล้วเป็นพระอนาคามีก็มี เป็นพระสกทาคามีก็มี เป็นพระโสดาบันก็มี ไม่เป็นอะไรก็มี เหมือนกันทุกสมัย เพราะว่าจิตหลากหลายตามการสะสม เราจะเอามาเปรียบเทียบแบบเข้าชั้นเรียนไม่ได้


    หมายเลข 9319
    21 ส.ค. 2567