สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๑


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๑


    ผู้ฟัง อาจารย์คะ อยากจะทำความเข้าใจ มีความสงสัยแล้วก็คิดเอาเองว่า เป็นไปได้ไหมที่ว่า สภาพจิตหรือที่เรียกว่าจิต คือการทำหน้าที่ของสมอง แล้วก็ระบบประสาท

    ท่านอาจารย์ เป็นไปไม่ได้เลยค่ะ นามธรรมกับรูปธรรมแยกกันโดยเด็ดขาด ไหนลองอธิบายสมองว่าคืออะไร

    ผู้ฟัง คือสมอง ก็

    ท่านอาจารย์ มองเห็นไหมคะ เห็นสมองไหมคะ

    ผู้ฟัง ถ้านั่งอยู่นี้ไม่เห็น แต่เราผ่าแล้วเห็น

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นสิ่งใด สิ่งนั้นไม่ใช่จิต

    ผู้ฟัง แต่ว่าในสมองมีหน้าที่หลายอย่าง อาจารย์

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เลย นี่การศึกษาของเราเชื่อมโยงทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็ทรงจำไว้ แต่ว่าก่อนที่จะมีสมอง มีจิตไหม

    ผู้ฟัง หมายความว่าอย่างไรคะ

    ท่านอาจารย์ ทันทีที่เกิด มีสมองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เพราะว่าเวลาที่เด็กเกิดมา

    ท่านอาจารย์ เกิดมาขณะแรกในท้อง จิตแรกเลย ปฏิสนธิจิต จิตขณะแรกที่เกิด มีสมองหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อาจจะยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ แล้วจะว่าสมองเป็นจิตได้อย่างไร เพราะตอนนั้นจิตเกิดแล้ว จิตก็คือจิต สมองก็คือสมอง

    ผู้ฟัง แต่ตอนนั้นสภาพของร่างกายมันยังไม่ develop

    ท่านอาจารย์ มันก็ยังไม่มีสมอง แต่มีจิตแล้ว จิตเกิด เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ถ้าไม่แยกตอนนี้จะไม่มีทางเข้าใจว่า ไม่ใช่ตัวตน เพราะมันยังเกี่ยวพันกันไปเรื่อยๆ แต่ความจริงแล้วจิตเป็นธาตุรู้ ไม่ต้องมีรูป จิตก็เกิดได้ ในภูมิหนึ่งซึ่งเป็นอรูปพรหมภูมิ เพราะว่าผู้นั้นหน่ายในรูป แล้วก็เข้าใจว่า ถ้าไม่มีรูปเลย ก็ไม่เดือดร้อน ที่เราเดือดร้อนเพราะมีรูป เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญความสงบของจิตถึงระดับขั้นอรูปฌาน สูงกว่าขั้นรูปฌาน คือ กว่ารูปฌานจะเกิดขั้นที่ ๑ ก็แสนยาก อย่าไปคิดว่าง่ายๆ เดี๋ยวฌาน ๑ เดี๋ยวฌาน ๒ มันไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะว่าต้องประกอบด้วยปัญญาตั้งแต่ขณะแรกที่อบรม ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว อย่าไปอบรมอะไรเลย มันเป็นอกุศลไปหมดเลย เป็นความไม่รู้ไปหมดเลย เพราะว่าปัญญากับอวิชชา เขาจะอยู่ด้วยกันไม่ได้ สภาพที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน

    เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาศาสตร์ไหน ไม่ว่าจะโดยใครก็ตาม ที่ผู้คนอาจจะเลื่องลือนับถือกัน แต่ว่าเขาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า แล้วคำสอนของเขาสอนเรื่องปรมัตถธรรมหรือเปล่า หรือสอนเรื่องบัญญัติ เพราะสมองเป็นบัญญัติ เหมือนกับนี่แข็ง แต่เราเรียกว่าโต๊ะ จับสมอง สมองก็แข็ง แต่เราเรียกว่า สมอง เพราะความทรงจำว่า นั่นเป็นส่วนที่เป็นสมอง แล้วเราก็ไปศึกษาเรื่องความเป็นไปของความสัมพันธ์ของธาตุต่างๆ ในตัว ซึ่งก็มีเพียงธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นมหาภูตรูป ถ้ารูปหนึ่งรูปใดเสีย ก็ทำให้เกิดอาการพิการต่างๆ หรือว่าไม่เหมาะไม่ควรแก่การงาน ทำให้เกิดอะไรคะ ทุกขเวทนาทางกายเท่านั้นเอง เราไปเรียกชื่อว่า “มะเร็ง” เราไปเรียกชื่อว่าอะไรก็ตามแต่ แต่ความรู้สึกเจ็บก็เจ็บ จะมะเร็ง หรือไม่มะเร็ง ก็เจ็บ มีดบาดก็เจ็บ จะเรียกว่ามะเร็ง ปวดกระดูก ปวดหรืออะไร ปวดก็คือปวด แต่เราไปสมมติเอาต่างหาก เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม เป็นการพูดถึงสภาพธรรม ที่ไม่ใช่เรื่องราวของบัญญัติ

    ผู้ฟัง เวลาเราคิด จิตเราคิดหรือสมองเราคิด

    ท่านอาจารย์ สมองเป็นรูป หรือเป็นนาม ต้องแยกอย่างนี้ก่อน ถึงจะรู้คำตอบได้ ถ้าเราไม่มีคำตอบ เราก็จะไปหลงเชื่อว่า ทั้งหมดคือสมอง ไม่เข้าใจเรื่องจิตเลย

    ผู้ฟัง สมองเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าเห็นสมอง สมองก็ต้องเป็นรูป เพราะว่านามธรรมเห็นไม่ได้

    ผู้ฟัง ชัดเจน นามธรรมเห็นไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นามธรรมไม่มีรูปร่าง แล้วก็ไม่ว่าทฤษฏีไหนก็ตาม ยืนยันได้ว่า นามธรรมเป็นนามธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม เพราะว่าสมองจะสั่งการ จะทำอะไรก็แล้วแต่ สัมผัสสมองได้ไหม ถ้าได้ ต้องเป็นรูปธรรม มีข้อตัดสินเด็ดขาดว่า นามธรรมไม่มีรูปร่าง ไม่มีสี ไม่มีอะไรทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อย่างกระแสไฟฟ้า สิ่งที่เรามองไม่เห็น ที่อยู่ในตัวร่างกายของเรา เราก็จับไม่ได้

    ท่านอาจารย์ มีรูปตั้งเยอะแยะที่สัมผัสไม่ได้ ลองสัมผัสกลิ่นสิคะ ได้กลิ่น สัมผัสอย่างไร กลิ่นแข็งหรือเปล่า แล้วเวลาที่เราพูดถึงสัมผัส เราไปพูดถึงการกระทบด้วยมือ

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ ธาตุลม ใครไปมองเห็น ลมมีในตัว ทั่ว แทรกแซงไปหมด เพราะว่าเป็นมหาภูตรูป ๑ ในมหาภูตรูป ๔ ซึ่งไหวหรือตึง ธาตุอื่นไม่เป็นอย่างนั้น ธาตุอื่นเพียงแข็งหรืออ่อน ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน แต่ธาตุลมที่มีการเคลื่อนไหว เป็นลักษณะของธาตุลม การดื่มน้ำ การเคี้ยวอาหาร การเคลื่อนไหวทั้งหมด เป็นอาการของธาตุลม แล้วใครไปเห็น ใครไปกระทบสัมผัส ที่บอกว่าเป็นไฟฟ้า เป็นอะไรๆ ต่างๆ เพียงแต่เขาศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ไม่รู้จักธรรม มีปรมัตถธรรมเกิดขึ้นแล้วดับอยู่ตลอดเวลา แต่เขาจำเรื่องราวของสภาพที่เกิดดับ โดยไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เกิดดับ แต่จำเรื่องราวเหมือนกับเที่ยง เพราะถ้าถามเขา สมองก็เที่ยง

    ผู้ฟัง กลิ่นนี่เราเห็นไม่ได้ แต่เรารู้สึก

    ท่านอาจารย์ ทางกาย เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป แต่รูปที่เป็นอารมณ์ที่จิตรู้ ปกติธรรมดา ๗ รูป คือ ๑ สี เราใช้คำนี้สำหรับสิ่งที่ปรากฏทางตา คำนี้ดีที่สุดคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ต้องไปกังวลว่า เป็นสีหรือเป็นอะไร เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ทางตา ๑ รูป รู้ได้ทางตา เสียง ๑ รูป รู้ได้ทางหู กลิ่น ๑ รูป รู้ได้ทางจมูก รส ๑ รูป รู้ได้ทางลิ้น ๓ รูป รู้ได้ทางกาย รวมเป็น ๗ ๓ รูปนี้คือธาตุดิน อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟ เย็นหรือร้อน ธาตุลม ตึงหรือไหว ธาตุน้ำ รู้ไม่ได้ทางกาย


    หมายเลข 9324
    21 ส.ค. 2567