สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๔
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๔
ผู้ฟัง อยากจะถามอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ปัญญาจะเกิดได้ด้วยการฟัง การศึกษา
ท่านอาจารย์ ปัญญารู้อะไร ก่อนอื่น ทุกครั้งที่เราจะมีความเข้าใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดถูกต้องแจ่มแจ้ง ไม่พลาดก็คือว่าสิ่งนั้นคืออะไร ต้องเข้าใจก่อน ถ้าไม่มีความเข้าใจก็เหมือนกับเราเรียกสิ่งที่เราไม่รู้จัก เราตามหาสิ่งที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร เราพยายามไปค้นคว้าหาสิ่งที่เราไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นปัญญาคืออะไร แล้วปัญญารู้อะไร เพราะเราพูดถึงเรื่องปัญญา เมื่อกี้นี้ก็ต้องทราบว่า ปัญญาคืออะไร แล้วปัญญารู้อะไร ตอนนี้ตอบได้แล้ว เพราะว่ามีปรมัตถธรรม ๓ แล้ว จิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น ปัญญาคืออะไร
ผู้ฟัง เจตสิก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ต้องรู้ก่อน ถ้ายังไม่รู้แล้วจะไปทำอะไรได้ ไปทำสิ่งที่เราไม่รู้ เราไปหาแม้สิ่งที่เราไม่รู้ ในพระไตรปิฎกอุปมาว่า เหมือนคนที่เขาได้ยินชื่อว่า มีผู้หญิงสวย เขาจะไปหาผู้หญิงสวยสักคน แต่เขาไม่รู้ผู้หญิงสวยคนนั้นผิวเป็นอย่างไร ผมเป็นอย่างไร หน้าเป็นอย่างไร ตาเป็นอย่างไร ไปหาเจอไหม ไม่มีทาง เรายังไม่รู้ว่า ปัญญาคืออะไร แล้วเราไปสะสมอบรมเจริญปัญญา มันน่าแปลก ในเมื่อไปสะสมอะไรที่เราไม่รู้ มันเป็นไปได้หรือคะ แต่เราพิจารณาว่า สภาพธรรมมี ๓ อย่างที่เกิดขึ้น เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่ง ปรุงแต่งแล้วก็เกิด ก็คือจิต เจตสิก รูป
เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เห็นใคร รูป ปรากฏทางตา เขาดีหรือไม่ดี เขากำลังโกรธมากๆ เจตสิก โทสะ ไม่ใช่เขา เป็นปรมัตถธรรม แล้วเราจะไปนั่งโกรธคนไหน ดับไปแล้วหมด ทั้งรูปทั้งนาม มีแต่จิตของเราเศร้าหมองด้วยความโกรธ ซึ่งจะสะสมสืบต่อไปอีกแสนนาน ตราบใดที่ปัญญาไม่เกิด ก็จะต้องมีความโกรธเพิ่มขึ้น
ผู้ฟัง จิตไม่มีความรู้สึก
ท่านอาจารย์ ได้อย่างไรคะ จิตเป็นสภาพรู้ แต่ไม่ใช่เจตสิกที่รู้สึก ไม่ใช่ว่าจิตไม่มี เพราะว่าขณะนั้นมีเจตสิกที่เกิดกับจิต แต่จิตเองไม่รู้สึก จิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ แต่ความรู้สึกเป็นเจตสิก
ผู้ฟัง ครับ ความเศร้าหมองก็เป็นเจตสิก
ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก เป็นอกุศลเจตสิก
ผู้ฟัง จิตเป็นแค่
ท่านอาจารย์ ธาตุรู้
ผู้ฟัง ทีนี้จะมีปัญญาได้ ก็คือรู้ว่า คนนี้กำลังอยู่ในเจตสิกแบบไหน
ท่านอาจารย์ รู้ปรมัตถธรรมว่าเป็นปรมัตถธรรม ไม่ว่าคนไหนก็จิต เจตสิก รูป ไม่ใช่คนนี้จิต เจตสิก รูป แล้วนี่ล่ะคะ ก็ต้องจิต เจตสิก รูป เพราะฉะนั้น เราจะสังเกตได้ว่า ถ้าเราเป็นคนที่ไม่ประพฤติตามพระธรรม พอมีเรื่องร้ายๆ ช่วยกันว่าใหญ่เลย ที่ไหนอะไรนะ คนนั้นนะที่เขาหั่นศพ แล้วประโยชน์อะไรกับจิตของเรา กรรมเขาก็ทำแล้ว สิ่งไม่ดีก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี ที่น่าสงสารว่าเขาต้องรับผลของกรรม เวลารับผลของกรรม ทุกคนจะไปช่วยกันสงสารเขา ก็สงสารเขาตั้งแต่เขาเป็นเขาเดี๋ยวนี้ แล้วจิตของเราก็ไม่เศร้าหมอง รักษาจิตของเราเอง
เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องที่ผ่านมา พระธรรมจะเหมือนกับกระจกเงา แทนที่จะเป็นไปด้วยโลภะ โทสะ ก็ระลึกได้ว่า จิตที่กำลังรู้เรื่องอย่างนั้นๆ เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ประโยชน์หรือไม่ประโยชน์ คิดไม่ได้ก็เป็นไปตามโลภะ โทสะ ช่วยไม่ได้ ไม่มีสติที่จะระลึกได้ ไม่มีปัญญาที่จะรู้สภาพจิต ซึ่งไม่มีเขาเลย เป็นแต่เรื่องที่กระทบหู แล้วจิตก็คิดใหญ่เลย อยู่ในโลกของความคิดของตัวเอง ชาตินี้ก็คิดเรื่องทั้งหมดที่ประสบมาในชีวิต แล้วขณะสุดท้ายจากไปก็หมด ไม่มีเหลือ
ผู้ฟัง อบรมจากการฟัง
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วเข้าใจไหมคะ
ผู้ฟัง พอเข้าใจบ้าง
ท่านอาจารย์ นั่นแหละคือปัญญาเกิด แล้วฟังอีกปัญญาก็เกิดอีก จะอบรมโดยวิธีอื่นก็ไม่มีทาง
ผู้ฟัง ที่เราอบรมกันทุกคืน คือ การอบรม ...
ท่านอาจารย์ การฟังธรรม การแสดงธรรมเป็นภาวนา เป็นการอบรมจิต
ผู้ฟัง อย่างเรื่องการควบคุมความโกรธ สมมติว่า คุณโอมมาพูดอะไรหยาบ แล้วอ้อยไม่พอใจ อ้อยโกรธขึ้นมา เขาก็เป็นอกุศล ซึ่งคุณโอมก็อกุศลอยู่แล้วที่มาโกรธอ้อย แล้วอ้อยมาโกรธกลับไป อ้อยมีอกุศลมากขึ้นกว่าเขาอีก ใช่ไหมคะ เป็นทำนองนั้น
ท่านอาจารย์ ก็ไม่น่าจะคิดเปรียบเทียบกัน นี่ค่ะคือเราอดจะยุ่งเกี่ยวกับคนอื่นเรื่องราวไม่ได้ แต่ความจริงถ้าเรารู้ว่า มันเป็นความนึกคิดของเราเท่านั้น เราอยู่คนเดียวในโลกกับเรื่องราวต่างๆ จากการเห็น การได้ยิน แล้วก็มาปรุงแต่งเป็นเรื่องราว ก็เข้าใกล้ปรมัตถธรรมจะดีกว่าไปคิดถึงคนอื่น
ผู้ฟัง มีวิธีเดียวที่จะอบรมให้เจตสิกเราเป็นกุศล
ท่านอาจารย์ เป็นกุศล
ผู้ฟัง เป็นกุศล
ท่านอาจารย์ ค่ะ
ผู้ฟัง แทนที่จะอกุศล ก็ด้วยการฟังกับการ ...
ท่านอาจารย์ ฟังแล้วต้องเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังด้วย
ผู้ฟัง ทางนี้ทางเดียว
ท่านอาจารย์ ทางอื่นเราคิดดูสิคะว่า จะมีไหม
ผู้ฟัง เข้าใจ เรารู้ว่า ไม่ดี เราเข้าใจถูกหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ถ้าตราบใดมีตัวเรา เราก็จะทำอยู่ร่ำไป แต่ถ้ามีปัญญาเรารู้ว่า จิต เจตสิกมีปัจจัยก็เกิด เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น เขาก็ปรุงแต่งฝ่ายดีเกิดขึ้น มีการระลึกได้ ขณะใดที่สภาพธรรมที่ไม่ดีเกิด แต่ก่อนไม่เคยระลึกได้เลย เขาก็ระลึกได้ว่าไม่ดีแค่ไหน
ผู้ฟัง จำได้ว่าเป็นของไม่ดี
ท่านอาจารย์ ยังไม่ได้ละเลย เพียงแต่รู้นิดๆ หน่อยๆ
ผู้ฟัง พอมีปัญญาเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ความรู้สึกโกรธจะลดน้อยไป เพราะเราก็ลดละไป
ท่านอาจารย์ คือดิฉันไม่อยากจะให้เราหวังธรรมแบบยารักษาโรค เพระว่าคนเรา รักตัวเองมาก จะบอกอย่างไรๆ ก็ไม่ทิ้งรักตัวเอง ตราบใดที่ปัญญาระดับที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ยังไม่ถึงการประจักษ์แจ้ง เพราะฉะนั้น ทุกอย่างหวัง แม้แต่กุศลก็หวัง เพราะความรักตัว เพราะฉะนั้น แทนที่จะหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดจากการฟังพระธรรม หวังจะไม่ให้มีโลภะ หวังจะไม่ให้มีโทสะ หวังจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ประโยชน์ของการฟัง เพราะว่าฟังด้วยความหวัง ไม่ได้ฟังเพื่อพิจารณาให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรม
เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ละเอียด และซับซ้อน เราถูกโลภะครอบงำมามาก ไม่ว่าเราจะทำอะไรด้วยโลภะทั้งนั้น หนีเขาไม่พ้นเลย หันซ้าย หันขวา อยู่ตรงไหนก็เจอทั้งนั้นเลย ถ้าเป็นปัญญาจะรู้เลย
เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นที่จะละโลภะได้ เพราะรู้ว่าขณะไหนเป็นโลภะ แต่ถ้าไม่รู้ ก็โลภะนั่นแหละตลอด ชื่นชมในความดี ทำดีตั้งเท่านี้เท่านั้น เรียนแล้วต้องมีผลสิ หรืออะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่ยังติดข้อง แต่ความจริงพระพุทธศาสนาบริสุทธิ์ที่สุด คือเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละ ไม่ใช่เพื่อจะได้อะไรสักอย่างเดียว ไม่ใช่เพื่อจะให้โลภะน้อยไป โทสะน้อยไป แต่เพื่อเข้าใจความจริง แล้วก็ความจริงคือปัญญาที่เกิดจะทำหน้าที่ของเขา เพราะว่ากิเลสกลัวอย่างเดียวคือปัญญา กิเลสไม่กลัวอย่างอื่นเลย ถ้าปัญญาไม่เกิด กิเลสงอกงาม แต่พอปัญญาเกิด กิเลสจะค่อยๆ หายไป ไม่ค่อยเกิดบ่อย อย่างที่ควร แล้วก็ในที่สุดก็หมดเรื่อง เมื่อปัญญาสมบูรณ์ขึ้น
ผู้ฟัง ปัญญาเกิดหรือยัง
ท่านอาจารย์ แต่ถ้าไม่เคยสะสมบุญมาในอดีต แม้แต่ที่จะได้ฟังอย่างนี้ก็ไม่ได้