สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๘


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๘


    ผู้ฟัง ขอถามปัญหา ถ้าเผื่อว่าคนเรา จิต ความคิด การพูดการจา การคิด การอะไร มี เป็นจุดๆ กลางสมอง หรืออย่างคนที่เป็น Stroke ขึ้นมาแล้ว จุดนั้นจะดับ เหมือนกับคอมพิวเตอร์สายไฟฟ้า เพราะฉะนั้นจิตอยู่ที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ตอนที่จิตเกิดเพิ่งเกิดเป็นขณะแรกในชาตินี้ มีสมองไหม เพิ่งเกิดขณะแรก ตอนอยู่ในครรภ์ขณะแรกที่สุด ขณะนั้นมีสมองไหมคะ

    ผู้ฟัง ยังไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่มีจิต แล้วก็มีเจตสิกเกิดพร้อมกับรูปที่เล็กมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นผลของกรรมหนึ่งในกรรมหลายๆ กรรมที่ทำ ทำให้มีการเกิดขึ้นของจิตเจตสิกซึ่งเป็นผลของกรรม และรูปนั้นก็เป็นรูปที่กรรมเป็นสมุฏฐานทำให้เกิดขึ้นด้วย

    เพราะฉะนั้นเวลาที่พูดถึงสภาพธรรม โดยมากเราไม่เคยรู้เรื่องปรมัตถธรรม เรารู้แต่เรื่องราวซึ่งศึกษากันมาตามวิชาการต่างๆ แต่ถ้าเราพิจารณาละเอียดจริงๆ ก็จะพบคำตอบว่า ขณะแรกที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้นยังไม่มีรูปที่เป็นสมอง แต่ว่ามีรูป ๓ กลุ่มเล็กๆ ที่เกิดเพราะกรรม ใช้คำว่ากลุ่ม เพราะว่ารูปเองก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นตามลำพังได้ รูปต้องอาศัยรูปอื่นเกิดขึ้น สภาพธรรมใดที่ก็ตามที่จะเกิดขึ้น ต้องมีสภาพธรรมอื่นเป็นปัจจัยอาศัยกันเกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้นลอยๆ

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะค้นคว้าไปถึงศาสตร์ต่างๆ แล้วพยายามจะย่นย่อลงให้เหลือสั้นที่สุด เล็กที่สุด ก็ยังมีส่วนประกอบที่จะต้องอาศัยกันเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีเจตสิก แล้วเจตสิกก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต ในภพภูมิที่มีรูป อย่างเรา กรรมเกิดที่นี่ มีทั้งนามธรรม และรูปธรรม นามธรรมก็จะเกิดนอกรูปไม่ได้ ต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ตั้งแต่เกิดมา แม้แต่ขณะแรกรูปก็เกิด แล้วก็มีรูป ๓ กลุ่ม ภาษาบาลีใช้คำว่า “กลาป” มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ที่ใช้คำว่ากลุ่ม เพราะเหตุว่าเป็น ๘ รูป ไม่ใช่รูปเดียว แต่ว่าติดกันแน่นจนแยกไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ใครจะไปแยกรูปให้กระจัดกระจายเหลือเล็กที่สุด ละเอียดที่สุดก็ยังต้องประกอบด้วยรูป ๘ รูป เพราะฉะนั้น ในขณะที่เกิดก็จะต้องมีรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิต กลุ่มหนึ่ง แล้วก็รูปที่เป็นกายปสาทกลุ่มหนึ่ง แล้วก็มีรูปซึ่งเป็นภาวรูป คือ อิตถีภาวะเพศหญิง หรือปุริสภาวะ เพศชาย ซึ่งซึมซาบอยู่ทั่วตัวเมื่อโตขึ้น เพราะฉะนั้น แขน ผิว ทุกส่วนจะต่างกัน ตามภาวรูป

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเวลาที่เกิดขณะแรกไม่มีใครสอนเรา ถึงเรื่องจิตขณะแรกที่เกิด เพราะว่าจิตเป็นนามธรรมที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็น ขณะนี้แม้มีจิต แต่ก็ไม่มีใครเห็นจิตเลย แต่จิตมีแน่นอน

    ผู้ฟัง พอคนเราตายไปแล้ว จิตไปไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้จิตเกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับ เพราะว่าจิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อทันทีที่จิตขณะแรกดับจะเป็นปัจจัยทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ รวดเร็ว ไม่มีระหว่างคั่นเลย

    เพราะฉะนั้น ความตายมี ๓ อย่าง ขณิกมรณะ คือจิตเกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ นี่คือความตายทุกขณะจิต ไม่เที่ยงเลย ตั้งแต่เกิดจนถึงเดี๋ยวนี้ เมื่อกี้นี้กับเดี๋ยวนี้ ขณะนี้กับเมื่อกี้นี้ ขณะนี้เป็นอนาคตของเมื่อกี้นี้ แต่กำลังเป็นอดีตของขณะต่อไป

    ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจครับ ว่าเกิดแล้วดับหมายความว่าอย่างไร แล้วระหว่างที่ดับไปไหน

    ท่านอาจารย์ ไฟเกิดแล้ว ดับแล้วไปไหน ไฟที่เกิดแล้วดับ ไฟนั้นไปไหน นั่นเป็นรูปธรรม แต่จิตเป็นนามธรรม ไม่มีใครที่จะไปสัมผัสกระทบได้เลย เป็นธาตุรู้ ถ้าใช้คำว่าธาตุรู้ หมายความว่าธาตุรู้อย่างที่ไม่มีรูปธรรมใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น จะใช้คำว่า ร้อยเปอร์เซนต์ พันเปอร์เซนต์ หรือกี่เปอร์เซนต์ก็ตามแต่ แต่สภาพที่เป็นนามธรรมเป็นนามธรรมล้วนๆ โดยที่ไม่มีรูปธรรมใดๆ เลย

    เพราะฉะนั้นถ้าเอาสีออกไปจากโลกนี้ให้หมด เอาเสียงออกไปให้หมด เอากลิ่น เอารส เอาสัมผัส เย็นร้อน อ่อนแข็งออกให้หมด แต่ยังมีธาตุรู้ นั่นแหละคือสภาพของธาตุรู้ เป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่รู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่าเป็นธาตุรู้ เวลาที่เราศึกษาเรื่องธาตุ เราคิดถึงรูปธาตุ ซึ่งไม่ใช่ธาตุรู้เลย แต่เราลืมว่า วิชาการใดๆ ในโลก หรือแม้แต่คนที่นั่งอยู่ที่นี่ ถ้าไม่มีจิต ไม่มีเจตสิกซึ่งเป็นนามธรรมจะไม่มีการรู้อะไรเลย ทั้งสิ้น รูปก็เกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นร้อนที่สม่ำเสมอ มีแสงแดด มีพืชพันธุ์ มีอะไรๆ ก็แล้วแต่ที่จะเจริญเติบโตขึ้น แต่ถ้าไม่มีธาตุรู้ ไม่มีจิต ก็ไม่เดือดร้อน ก็เกิดไป น้ำท่วม ไฟไหม้ ก็ไม่มีใครเดือดร้อนเลย

    แต่ที่ทุกคนมีปัญหา ก็เพราะเหตุว่ามีสภาพรู้หรือธาตุรู้เกิดขึ้นรู้ทุกอย่าง จิตเป็นสภาพที่สามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าอะไร ตั้งแต่เกิดจนตายที่เราคิดว่า เราเห็นเพื่อน ไปโรงเรียน สนุกสนาน ได้ยินเสียงนั้น ดูโทรทัศน์ ทั้งหมดนี้คือจิต ถ้าไม่มีจิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ปรากฏ ถึงมี ก็ไม่มีใครสามารถที่จะไปรู้ หรือปรากฏให้รู้ได้ แต่ทุกขณะที่อะไรก็ตามปรากฏ ให้ทราบว่า เพราะจิตกำลังรู้สิ่งนั้น

    เพราะฉะนั้น จิต จากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จิตเกิดแล้วดับทันที เร็วมาก สิ่งใดก็ตามที่เกิดแล้วดับอย่างเร็ว ไม่ปรากฏว่าดับ

    ผู้ฟัง เราตายไปแล้วดับทันทีหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดแล้วดับ จิตเกิดแล้วดับตลอด

    ผู้ฟัง ร่างกายเราตอนนี้ เกิดแล้วดับ ไปๆ มาๆ

    ท่านอาจารย์ ไม่ไป ไม่ไป

    ผู้ฟัง ไม่ไป ... ดับแล้วเกิด ใช่ไหมครับ ทีนี้สมมติว่าผมอายุมากแล้ว ตายทันที แล้วทีนี่จะไปไหน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้เรื่องจิต จะสงสัยว่า ตายแล้วไปไหน แต่ถ้าทราบว่า แม้ขณะนี้เอง จิตกำลังเกิดดับ เพราะฉะนั้น ตายทุกขณะ เป็นขณิกมรณะ ส่วนการที่คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ที่เราสมมติว่าตาย เป็นสมมติมรณะ เราสมมติว่าตาย เพราะเราไม่รู้ว่า โดยที่จริงแล้วจิตเกิดดับต่อไปอีก ไม่มีใครยับยั้งการเกิดดับของจิตได้เลย ทันทีที่จุติจิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ดับ เพราะว่าจิตทุกดวงเมื่อดับแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด เพราะฉะนั้น ทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อไปก็เป็นภพใหม่ชาติใหม่ ไปเรื่อยๆ เราจึงเรียก “สมมติมรณะ” จนกว่าจะถึงการตายที่ไม่ต้องเกิดอีกเลยของพระอรหันต์จึงเป็นสมุจเฉทมรณะ หมายความว่า ตายจริงๆ คือไม่มีการเกิดขึ้นอีกแล้ว

    ยอมรับไหมคะว่า จิตเกิดดับ เมื่อกี้พูดเรื่องจิตเกิดดับ อาจจะยังไม่ชัดเจน คล้ายๆ กับว่า จิตเก่ากับมาเกิด ถึงใช้คำว่า ไปๆ มาๆ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ไฟที่เกิด เกิดเพราะเปลวไฟ หรือไส้ไฟอันไหนดับลง ไส้ไฟใหม่ก็เป็นปัจจัยให้เปลวไฟใหม่เกิด เพราะฉะนั้น จิตใดก็ตาม ถ้าไม่มีปัจจัยไม่เกิด ต้องมีปัจจัยที่พร้อมหรือเฉพาะที่จิตนั้นจะเกิดขึ้น จิตนั้นจึงจะเกิดขึ้นได้ แล้วเมื่อเกิดแล้วดับ จิตทุกขณะเกิดขึ้นทำงานของจิตอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ใช่คนขี้เกียจ จิตเกิดขึ้นขณะใดต้องทำกิจหนึ่งกิจใด ซึ่งทั้งหมดแล้วมี ๑๔ กิจ จิตที่ทำกิจทั้งหมด ๑๔ กิจ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้เกิดขึ้น ทำหน้าที่เสร็จก็ดับ ดับแล้วไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น ต้องมีปัจจัยให้จิตใหม่เกิด

    ถ้าศึกษาเรื่องปัจจัยจริงๆ จะทราบว่า มีปัจจัย ๒๔ ประเภท ที่ทำให้จิต เจตสิก รูป เกิด แล้วเมื่อเกิดแล้ว จิตก็ดับ ขอยกตัวอย่างจิตขณะแรก คือ ปฏิสนธิจิต มีจริงๆ ใช่ไหมคะ ในชาตินี้ ถ้าไม่มี ทุกคนไม่มานั่งอยู่ที่นี่ เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตขณะแรกคือปฏิสนธิจิตเกิด แล้วดับ แล้วปฏิสนธิจิตของชาติหนึ่งจะมีเพียงครั้งเดียว การตาย จุติ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ก็มีเพียงขณะเดียว แต่ว่าระหว่างปฏิสนธิ คือ เกิดกับยังไม่ตาย จะต้องมีจิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา ไม่ขาดเลย เพราะฉะนั้น ทันทีที่ปฏิสนธิจิตดับ การดับของปฏิสนธิจิตเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด จิตที่เกิดต่อยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน โดยเฉพาะถ้าเกิดในครรภ์ รูปเล็กมาก ยังไม่เติบโต ยังไม่มีตา ยังไม่มีหู แต่ว่าจิตเกิดต่อจากปฏิสนธิแล้วก็ดับแล้วก็เกิดต่อ จิตที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ทำภวังคกิจ มีหน้าที่ แต่ไมใช่หน้าที่ของปฏิสนธิ เพราะหน้าที่ของปฏิสนธิจิตเฉพาะขณะแรกที่สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน

    เพราะฉะนั้นเมื่อจิตขณะแรกทำหน้าที่นั้นแล้ว จิตขณะหลังจะมาทำหน้าที่นั้นอีกไม่ได้ เพราะฉะนั้น จิตขณะที่ ๒ ต่อจากปฏิสนธิจิต ทำภวังคกิจ

    ทีนี้ทุกคนได้ยินคำว่าภวังค์บ่อยๆ คนนั้นตกภวังค์บาง คนนี้เป็นภวังค์บ้าง แต่ความจริงภวังค์มาจากคำ ๒ คำ คือ ภว หรือ ภพ กับ อังค หรือ องค์ หมายความถึงองค์ของภพ เพราะฉะนั้น จิตที่เป็นภวังค์ เกิดดับดำรงภพชาติ หมายความว่ารักษาความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้ตาย จนกว่าจุติจิตจะเกิด

    นี่คือชีวิตของแต่ละคนซึ่งเกิดมาในโลก บางคนมีอายุสั้น บางคนก็มีอายุยืนยาว แล้วแต่กรรม จะให้ใครทำให้จุติจิตเกิดก็ไม่ได้ ถ้าไม่มีกรรมที่จะทำให้จุติจิตเกิด เพราะฉะนั้น ทราบได้เลยว่า จิตแต่ละขณะเกิดมาทำหน้าที่ ตอนนี้ขณะปฏิสนธิก็ดับไป แล้วขณะต่อไปก็เป็นภวังค์ ยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่ได้คิดนึกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภวังค์อยู่พอสมควร หลังจากนั้นจิตจะเกิดนึกคิดขึ้นมา โดยความติดข้องในความเป็น เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตขณะต่อไปจะเกิดต่อจากภวังค์ จะเป็นจิตที่ติดข้องในภพชาติ เป็นโลภมูลจิต เป็นสภาพธรรมที่เกิดเป็นประจำ แม้แต่ว่าตายจากชาติก่อนมาสู่ความเป็นชาตินี้ ก็ติดในความเป็นชาตินี้


    หมายเลข 9331
    21 ส.ค. 2567