สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๙
สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๓๙
ท่านอาจารย์ ก่อนนอน คุณหมอคิดเรื่องอะไรคะ สวดมนต์หรือคะ สวดมนต์แล้วหลับเลยหรือเปล่า หรือยังคิดอะไรต่อ
ผู้ฟัง ทำดีทำชั่ว
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็เป็นคนที่ดีมาก คือ หมายความว่า คิดในสิ่งที่ดีว่า วันนี้ทำอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะคิดถึงว่า พรุ่งนี้จะทำอะไร งานยังคั่งค้างอยู่ จะไปติดต่อใคร ที่ไหน อย่างไร เพราะฉะนั้น โลภมูลจิตเกิดก่อนหลับ ทันทีที่ตื่น ก็มาอีกแล้ว โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น เป็นเพื่อนสนิท อยู่ที่ใจ อยู่กับจิตตลอด ไม่เคยห่างไกลเลย เราคิดว่าเราต้องการเพื่อน แต่ความจริงโลภะต่างหากที่ต้องการ คิดว่าเราอยากมีอะไรทั้งหมด โลภะทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ใช้คำว่ามีเพื่อน ๒ แม้ว่าเราอยู่คนเดียว เราคิดตลอดเวลา ต้องการสิ่งนั้นสิ่งนี้ คิดถึงคนโน้นคนนี้ คิดถึงคนหนึ่ง เดี๋ยวคิดถึงอีกคน เป็น ๒ คน คิดถึงอีกคนเป็น ๓ คน เป็น ๔ คน
นี่แสดงว่า เรายังไม่เคยรู้จักสภาพของจิตของเราโดยละเอียด แต่อภิธรรมหรือ ปรมัตถธรรมที่เราศึกษา จะทำให้เราสามารถจะเข้าใจสภาพจิตใจของเราชัดเจน และละเอียดขึ้นตั้งเกิดจนตาย แม้แต่ว่าพอสามารถจะรู้สึกตัว พอเกิดขณะแรกที่ไม่รู้สึกตัว เลย เป็นภวังค์ก็ไม่รู้สึกตัว เพราะเหตุว่าภวังค์เหมือนกับหลับสนิท ตอนที่หลับสนิท เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เราชื่ออะไร อยู่ที่ไหน นอนอยู่ที่บ้านนี้ หรือนอนอยู่ที่บ้านไหน ก็ไม่ทราบ เพราะว่าหลับสนิท จะมีทรัพย์สมบัติ มีเพื่อนฝูง วงศาคณาญาติมากสักเท่าไรก็ไม่ทราบ เพราะว่าหลับสนิท นั่นคือภวังคจิต
เพราะฉะนั้น ต่อไปให้ทราบความหมายของภวังคจิตว่า ขณะใดที่เหมือนกับหลับสนิท คือ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึกด้วย ขณะนั้นเป็นภวังค์ เป็นจิตที่เกิดขึ้นดำรงภพชาติ เพื่ออะไรคะ เกิดมา ปฏิสนธิแล้วก็เป็นภวังค์ เพื่อรับผลของกรรมโดยต้องเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ถ้าเห็นสิ่งที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรม เพื่อได้ยินเสียงอีก เพื่อได้กลิ่นอีก เพื่อลิ้มรสอีก เพื่อรู้สิ่งที่กระทบกายอีก ก็มีเท่านี้ ไม่ว่าที่ไหนในโลก แล้วก็มีจิตที่คิดนึก
นี่คือชีวิต พรุ่งนี้ก็เห็นอีก ได้ยินอีก เมื่อวันก่อนก็ได้เห็นแล้ว ก็ได้ยินแล้ว เมื่อวานก็ได้เห็นก็ได้ยินก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ใช้คำว่าสังสารวัฏฏ์ วัฏฏะ แปลว่า วนเวียน สังสาร แปลว่า เที่ยวไป วนเวียนเที่ยวไป ทางตา เดี๋ยวเห็น ทางหู เดี๋ยวได้ยิน ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก แต่ไม่ใช่เที่ยวไปด้วยขา แต่ว่าจิตเกิดขึ้นรู้ เดี๋ยวรู้ทางตา เดี๋ยวรู้ทางหู เป็นจิตที่เกิดขึ้นชั่วขณะ แล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะไม่คิดถึงสถานที่ว่า เราอยู่ในโลกส่วนไหน จะเป็นเมืองไทย หรืออเมริกา หรือที่ไหนก็ตาม เพียงแต่จิตเกิดขึ้นแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่มีสถานที่ทั้งสิ้น แต่ความทรงจำในสิ่งที่เห็น จำภูมิประเทศ จำทุกสิ่งได้ ก็เกิดบัญญัติ คือ สมมติ ทรงจำเรื่องราวต่างๆ ของปรมัตถธรรม
เพราะฉะนั้น บัญญัติหมายความถึงความคิดของเราในเรื่องสิ่งต่างๆ ที่มีจริง แต่ไม่ใช้การรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง ต้องแยกให้ออก
เพราะฉะนั้น ก็มีปรมัตถธรรม มีจิต มีเจตสิก มีรูป แล้วก็มีสมมติบัญญัติ ชื่อแจ็คก็เป็นบัญญัติ จริงๆ คือ จิต เจตสิก รูป แล้วบัญญัติเรียกว่าแจ๊ค เพราะฉะนั้น จริงๆ ก็คือแข็งแล้วก็มีสี แต่บัญญัติเรียกว่าทีวี
ผู้ฟัง ถ้าไม่ได้เป็นปรมัตถธรรม ก็หมายความว่าไม่ได้เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นบัญญัติ
ผู้ฟัง ไม่ใช่จิต ไม่ใช่เจตสิก ไม่ใช่รูป แล้วก็ไม่ใช่นิพพาน
ท่านอาจารย์ จึงเป็นบัญญัติ เป็นเรื่องราว ความทรงจำ
ผู้ฟัง แพทย์เมืองไทย ๒ คน เขาผ่าตัดเยอะเลย คนไข้ไม่สามาระจะกินน้ำ ไม่สามารถที่จะฉีดยา เพราะแพ้ยา เขาใช้วิธีการสะกดจิต อย่างนี้ผมไม่ทราบว่าความหมายเดียวกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ค่ะ เราเกิดมาด้วยความไม่รู้ แล้วเราก็ไม่รู้ ไม่รู้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วเราก็คิดเรื่องสะกดจิต หรืออะไรก็ตาม แต่ให้ทราบว่า ถ้าตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า ลักษณะของจิต เจตสิก รูป จริงๆ เราก็จะมีแต่ความคิดเรื่องจิต คิดไม่จบ เรื่องจิต เพราะเป็นเพียงความคิด แต่ถ้าเป็นการประจักษ์แจ้งลักษณะของจิต ไม่ต้องคิด จะรู้ได้จริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้ว เรามีโลกคนละใบ เพราะทุกคนมีจิตคนละ ๑ ขณะ ขณะที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีแสงสว่าง ไม่มีเสียง ไม่มีอะไรเลย มืดสนิท แต่มีธาตุรู้เกิดขึ้น แล้วขณะใดที่ไม่มีแสงสว่าง ขณะนั้นก็มืด อย่างเวลาที่เรากระทบแข็ง ขณะที่แข็งปรากฏยังไม่ได้สว่างเลย
เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่แล้วเราจะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นแสงสว่างหรือสี นิดหนึ่งแล้วก็ดับ แต่เราก็จำไว้ แล้วคิดเรื่องนั้น พอมีเสียงกระทบหู ความจริงเป็นเสียง แต่เราค่อยๆ จำจนกระทั่งเป็นภาษา เป็นคำ จนกระทั่งรู้ความหมายว่า ถ้าเสียงสูงอย่างนี้ ภาษานี้เป็นอย่างนั้น ภาษานั้นเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ก็มีความทรงจำเรื่องเสียง
เพราะฉะนั้นโลกใบนี้ คิดตลอด มืดสนิท ขณะที่คิด แต่พอมีแสงสว่างปรากฏทางตานิดหนึ่งแล้วก็คิดเรื่องนั้น พอมีเสียงกระทบหูนิดหนึ่งคิดเรื่องเสียง พอมีกลิ่นกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องกลิ่น พอมีรสกระทบนิดหนึ่งคิดเรื่องรส พอมีกายกระทบเย็นร้อนอ่อนแข็งก็คิดเรื่องสิ่งที่กระทบสัมผัส รวมความว่า เรารวมโลกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ถาวร ที่มั่นคง แต่ความจริงเป็นเพียงเพราะจิตคิด ถ้าจะคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม แต่ตายทันที จบเรื่องนั้น ค้าง คิดค้าง คิดไม่ตลอด
เพราะฉะนั้น เรื่องที่ปรากฏว่า เป็นเรื่องยาวๆ เป็นความคิดของเรา แท้ที่จริงเป็นจิตเกิดขึ้นคิดทีละคำ ทีละขณะ ทีละเรื่องเท่านั้นเอง ไม่ว่าจะคิดเรื่องสะกดจิต หรือเรื่องอะไรทั้งหมด เรื่องสาขาวิชาการใดๆ ก็ตาม เพราะมีจิตเกิดขึ้นแล้วขณะนั้นคิด
เพราะฉะนั้น เวลาที่เรายังไม่รู้จักปรมัตถธรรม เรายังไม่รู้จักโลกมืดอันนี้ที่มีทางที่จะมากระทบ ๕ ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ส่วนใจเขาคิดตลอด
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้จักอย่างนี้จริงๆ เหมือนเราอยู่ในโลกที่มีคนเยอะแยะ แต่เยอะเพราะคิด โลกนี้คิดถึง เพราะฉะนั้น เรามีความไม่รู้ จึงยืดถือโลกนี้ว่า เป็นเรา ฉันใด ก็เห็นเป็นคนอื่นฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงมีรัก มีชัง เพราะเหตุว่าไม่รู้ความจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่เพียงปรากฏ แล้วดับ สั้นมาก ถ้าประจักษ์จริงๆ ความยืดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนก็ไม่มี แต่เพราะว่าไม่ประจักษ์ก็ยังมีอยู่นั่นแหละ ยังเป็นเราที่นั่งอยู่ที่นี่ ยังเป็นคนนั้นคนนี้ ถ้าจิตไม่คิดถึงคนนั้น จะมีคนนั้นหรือ ถ้าจิตไม่โกรธ จะมีคนนั้นที่เราโกรธหรือ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะความโกรธ หรือความรัก ความผูกพัน ก็เพราะคิดถึงสิ่งต่างๆ ที่เพียงปรากฏแล้วก็ดับไป กว่าจะถึงวันนั้น แต่ก็เป็นการรู้ความจริงของสภาพธรรมซึ่งจริง เพราะเหตุว่านามธาตุไม่ใช่รูปธาตุ นามธาตุก็มี ๒ อย่าง คือ จิต กับ เจตสิก
ต้องฟังอีกมากไหมคะ พระไตรปิฎก สิ่งที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด