สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๓


    สนทนาธรรมที่สหรัฐอเมริกา ๔๓


    ผู้ฟัง เราสัมผัสนิพพานได้ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาค่ะ โลกุตตรปัญญา เป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง แต่ถ้าเราไม่รู้ ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ ก็ไม่สามารถที่จะมีโลกุตตรปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพของนิพพานได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาต้องค่อยๆ เกิด เริ่มเกิด อบรมทีละเล็กทีละน้อย จากการฟัง แล้วมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น จนกว่าปัญญานั้นจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดดับเสียก่อน แล้วภายหลังถึงจะรู้แจ้งนิพพานได้

    เพราะฉะนั้น การศึกษาหรืการประจักษ์แจ้งธรรม ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น

    ทีนี้เข้าใจความต่างของจิต เจตสิก รูป กับนิพพานแล้วนะคะ

    ผู้ฟัง อยากจะถามเพื่อซักฟอกให้เข้าใจเพิ่มขึ้น คือ สภาพจิตที่เรียกว่า วิถีจิต เป็นสภาพจิตที่ใช้ปัญญาใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ คือ การศึกษาธรรม มีอย่างหนึ่ง คือ ถ้าเราเรียนด้วยตัวเอง เราอาจจะเข้าใจเอง ซึ่งยังไม่ตรง เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงจิต ก็หมายความถึงรวมเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ทั้งจิต และเจตสิก สามารถที่จะแบ่งประเภทใหญ่ๆ ออกเป็น ๒ อย่าง คือ จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตกับจิตที่เป็นวิถีจิต ๒ อย่างแยกขาดจากกัน

    ผู้ฟัง จิตที่ไม่เป็นวิถีจิต มีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่าวิถีคืออะไร คือ ทุกคำที่จะผ่านหู เราต้องเข้าใจให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นเราก็คิดว่าเราเข้าใจแล้ว วิถี หมายความถึงการเกิดดับของจิตสืบต่อกันที่จะรู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะในขณะนี้ที่เราคิดว่าเห็น ทางตา ความจริงมีจิตหลายขณะ หลายประเภทเกิด โดยอาศัยตา ที่เราคิดว่าเรากำลังได้ยินทางหู โดยนัยของพระสูตรจะสั้นมาก คือ จิตได้ยินเท่านั้น แต่ในพระอภิธรรมจะแสดงว่า มีจิตอะไรเกิดก่อนจิตได้ยิน และหลังจากจิตได้ยิน มีจิตอะไรที่ต้องอาศัยหู เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางหู ทั้งหมดนั้นเป็นวิถีจิต โดยที่ว่า เป็นจิตที่อาศัยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นทางรู้อารมณ์

    เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิตมี ๓ ขณะ คือ ปฏิสนธิ ขณะแรกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่วิถีจิต เพราะเหตุว่าทุกคนจะมีจิตขณะเกิด ๑ ขณะ ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่ทำกุศลกรรม หรืออกุศลกรรม ไม่ใช่จิตที่เป็นเหตุ แล้วไม่ใช่จิตเห็น ไม่ใช่จิตได้ยิน ไม่ใช่จิตได้กลิ่น ไม่ใช่จิตลิ้มรส ไม่ใช่จิตรู้สิ่งที่กระทบกาย ไม่ได้คิดนึกด้วย เพราะว่าการเกิดของจิตขณะแรกเป็นผลของกรรมหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงเป็นวิบากจิต เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็เป็นวิบากเจตสิก เพราะฉะนั้น จิตนี้รู้อารมณ์ โดยไม่ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใด แม้แต่ทางใจก็ไม่ใช่คิดนึก เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ได้คิด เพราะฉะนั้น จิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ขณะแรกคือปฏิสนธิจิต แต่เมื่อเป็นจิตต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ จิตเป็นสภาพธรรมที่เป็นธาตุรู้ ไม่ว่าจิตจะเกิดที่ไหน ขณะใด จิตเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ แล้วสิ่งที่ถูกจิตรู้ ภาษาไทยเรียกว่า “อารมณ์” แต่ในภาษาบาลีใช้คำว่า “อารัมมณะ” หรือ “อาลัมพนะ” หมายความว่าสิ่งซึ่งเป็นที่ยินดีของจิต เพราะว่าจิตจะต้องรู้อารมณ์ตลอด จิตที่ไม่รู้อารมณ์ไม่มีเลย เราอาจจะไม่รู้ว่า อะไรเป็นอารมณ์ของจิต แต่จิตเป็นธาตุที่เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งที่ปรากฏ ซึ่งเรียกว่าอารมณ์

    เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตรู้อารมณ์หรือเปล่า ก็เมื่อกี้เราบอกแล้ว ว่าจิตเป็นธาตุรู้ คือธรรมเป็นเรื่องที่ตรง ชัด จากการตรัสรู้ไม่เปลี่ยน ข้อสำคัญที่เป็นพระอภิธรรม หรือ ปรมัตถธรรม ก็เพราะเหตุว่าใครเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมนั้นไม่ได้เลย เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เมื่อเป็นจิตจะทำหน้าที่อะไรก็ตามแต่ จิตเกิดขึ้นที่ไหนก็ตามแต่ จิตเป็นธรรม เป็นธาตุที่เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิตเกิดขณะแรก รู้อารมณ์อะไรหรือเปล่า ต้องรู้ แต่อารมณ์ของปฏิสนธิจิตไม่ปรากฏเลย เพราะไม่ใช่อารมณ์ของโลกนี้ โลกนี้ยังไม่ปรากฏแก่ปฏิสนธิจิต ทันทีที่ปฏิสนธิจิตเกิด ไม่มีความรู้ว่า เราเป็นใคร อยูที่ไหน อยู่ในโลกมนุษย์หรือโลกอะไร ใช่ไหมคะ เพราะว่าเป็นชั่วขณะหนึ่งซึ่งเป็นวิบากจิตที่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่รู้อารมณ์ของโลกนี้ คือ ไม่เห็นโลกนี้ ไม่ได้ยินเสียง ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่ได้คิดนึก

    ปฏิสนธิจิตดับไหมคะ ดับ แต่กรรมไม่ได้เพียงทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด กรรมทำให้ จิตเกิดสืบต่อจากปฏิสนธิ เพราะว่าจิตทุกขณะเป็นอนันตรปัจจัย หมายความว่าทันทีที่ดับจะทำให้จิตขณะต่อไปเกิด ยับยั้งไม่ได้เลย เราจะบอกให้จิตหยุด ไม่ต้องเกิดอีก ไม่มีทาง เพราะว่าจิตเป็นอนันตรปัจจัย ทันทีที่จิตขณะหนึ่งดับ จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นจากจิตดวงก่อน เพราะจิตดวงก่อนเป็น อนันตรปัจจัย แล้วยังเกิดขึ้นโดยกรรมปัจจัยเดียวกับกรรมปัจจัยที่ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิด เพราะฉะนั้น การให้ผลของกรรม ไม่ใช่ให้เพียงปฏิสนธิจิตขณะเดียว ยังทำให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อเป็นภวังคจิต เหมือนปฏิสนธิจิตทุกอย่าง แต่ไม่ใช่ปฏิสนธิจิต เพราะว่าปฏิสนธิจิตทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนครั้งเดียวในชีวิต คนหนึ่งๆ จะไม่มีปฏิสนธิจิต ๒ ขณะ เพราะฉะนั้น ขณะต่อไปไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ แต่เป็นภวังคจิต แต่เป็นเพราะผลของกรรมเดียวกันที่ทำให้ดำรงความเป็นบุคคลนี้ไปจนกว่าจะตาย ระหว่างตายนี้ ก็แล้วแต่จะเป็นอะไร แต่ว่าไม่ให้ตาย ดำรงภพชาติไว้เป็นภวังคจิต ภวังคจิตมีอารมณ์หรือเปล่า ภวังคจิตไม่มีอารมณ์ไม่ได้ ต้องมี นี่เป็นสิ่งซึ่งละเอียด

    ผู้ฟัง เราไม่มีวิถีจิตที่ไปรู้ว่าอะไรเกิดหรือไม่เกิดที่เรียกว่า ภวังคจิต

    . ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ค่ะ คือ การฟังธรรมต้องฟังตั้งแต่ขณะปฏิสนธิไปเลย มีจิตเกิด แล้วก็หลังจากปฏิสนธิจิตดับแล้ว ก็มีภวังคจิตสืบต่อ ทีนี้เราไม่รู้ว่า ภวังคจิตตอนไหน แต่ว่าตอนที่จะรู้ได้ง่ายก็คือว่า ขณะที่หลับสนิท คนที่นอนหลับสนิทไม่ใช่คนตาย มีจิต แต่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน

    ผู้ฟัง หลับสนิทแต่ไม่ฝัน

    ท่านอาจารย์ หลับสนิท คือไม่ฝัน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่คิดนึก ไม่ฝัน ขณะนั้นมีไหม หลับสนิท ขณะที่หลับสนิท เคยมีขณะที่หลับสนิทไหมคะ

    ผู้ฟัง มีครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นเราหลับสนิทหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม มี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป ซึ่งเกิดดับ ส่วนนิพพานนั้นเป็นอีกปรมัตถหนึ่งซึ่งยังไม่มี ไม่ปรากฏ ก็ไม่ต้องพูดถึง พูดถึงปรมัตถธรรมในชีวิตประจำวันซึ่งมีจริงๆ เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่าขณะที่นอนหลับสนิทมีไหม ถามอีกที เคยมีขณะที่หลับสนิทไหมคะ มี ขณะที่หลับสนิท เป็นปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เป็นภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ เป็นภวังคจิต แล้วตอนนอนหลับสนิท คนตายกับคนเป็นไม่เหมือนกัน ต่างกันตรงไหน

    ผู้ฟัง ต่างกันที่คนตายไม่มีจิต แต่คนนอนหลับ มีจิตเรียกภวังคจิต

    ท่านอาจารย์ ใช่ ภวังคจิตมีอารมณ์ไหมคะ

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ค่ะ แต่ภวังคจิตกับปฏิสนธิจิตไม่ได้มีอารมณ์ของโลกนี้ เพราะฉะนั้น ไม่ปรากฏ แต่ว่าพระธรรมทรงแสดงไว้ว่า ปฏิสนธิจิตกับภวังคจิตมีอารมณ์เดียวกับจิตใกล้จะจุติจิตของชาติก่อน ก่อนจะจุติมีอารมณ์อะไร ปฏิสนธิจิตรับสืบต่อจากจิตใกล้จะจุติของชาติก่อน

    ถ้าเราไม่เรียนให้รู้ความละเอียด เราจะสับสน แล้วเราก็อาจจะคิดว่า วิถีจิตเป็นสติ หรืออะไรๆ ต่างๆ เหล่านั้น แต่ความจริงไม่ใช่ วิถีจิตก็หมายความถึงจิตที่ไม่ใช่ปฏิสนธิ ไม่ใช่ภวังค์ ไม่ใช่จุติ นอกจากนั้นก็เป็นวิถีจิต อาศัยทางหนึ่งทางใดเกิด ขึ้นรู้อารมณ์

    ขณะเห็น จิตเห็น เป็นวิถีจิต หรือไม่ใช่วิถีจิต กำลังเห็น นี่คะ เป็นวิถีจิตหรือไม่ใช่วิถีจิต

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้ ก็ไม่ใช่วิถีจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่อย่างนั้นๆ กำลังเห็น ไม่ใช่เราเห็น ใช่ไหมคะ เป็นวิถีจิต เพราะฉะนั้น แต่ก่อนเป็นเราเห็น แต่เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้วเป็นวิถีจิต อาศัยตาจึงเป็นจักขุทวารวิถีจิต เป็นจิตที่อาศัยตาเกิดขึ้นเห็น

    กำลังได้ยิน เป็นปรมัตถธรรมอะไร ได้ยิน

    ผู้ฟัง เป็นวิถีจิตครับ

    ท่านอาจารย์ ขณะไหนไม่ใช่วิถีจิต ขณะที่เป็นภวังคจิต เพราะฉะนั้น เรายังไม่ได้พูดถึงเรื่องสติหรืออะไรเลย เพียงแต่ให้ทราบลักษณะของจิต แล้วต่อไปเราถึงให้ทราบว่า มีจิตกี่ชนิด

    ผู้ฟัง แล้วสมมติว่า ผมหมายถึงว่าตัวเอง ถ้าสมมติเราได้ยินที่อาจารย์ว่า จิตได้ยินเกิดขึ้น เรียกว่าวิถีจิตใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ เป็นวิถีจิต เพราะต้องอาศัยโสตปสาท ต้องอาศัยทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง จึงเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง แล้วจิตที่เกิดขึ้นว่าเราเห็น ที่เรียกว่า ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ยังไม่เป็นปัญญา ปัญญาหมายความว่ารู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ซึ่งต้องอาศัยการฟัง ไม่ใช่อาศัยเราทำ เพราะไม่มีเราทำ เป็นจิต เจตสิก ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของจิตเจตสิกนั้นๆ ก่อนได้ฟังพระธรรมก็มีจิต เจตสิก แต่ไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เมื่อได้ฟังพระธรรมเข้าใจขณะไหน ก็เป็นจิตเจตสิกที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย

    ต้องมีความเข้าใจเป็นลำดับ เพราะฉะนั้น ต้องกลับมาตั้งต้นด้วยการเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น จนกว่าสังขารขันธ์ที่ปรุงแต่งให้สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่เราเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ต้องมีความเข้าใจละเอียดขึ้นละเอียดขึ้น ไม่ใช่ว่าเรามีสติ หรือเราทำสติ แต่ขณะนี้สติเกิด ขณะฟังแล้วปัญญาเกิดร่วมด้วย ขณะเข้าใจ แล้วเราเรียนเรื่องสังขารขันธ์ เราก็รู้ว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมที่ค่อยๆ ปรุงแต่งเพิ่มขึ้นจนกว่าจะถึงขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะสภาพที่เป็นปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น จะขาดสัมมาทิฏฐิไม่ได้ แล้วก็ไม่มีใครซึ่งเป็นเราที่จะไปทำ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสติ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นไหมคะ


    หมายเลข 9336
    21 ส.ค. 2567