สนทนาธรรมที่สหรัณอเมริกา ๔๔


    สนทนาธรรมที่สหรัณอเมริกา ๔๔


    ผู้ฟัง นี่ขณะนี้ก็น่างง ยิ่งคิด ยิ่งงง

    ท่านอาจารย์ ค่ะ เพราะว่าไม่ใช่เรื่องคิดค่ะ นิพพานเป็นเรื่องรู้โดยการประจักษ์แจ้ง ด้วยโลกุตตรปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญายังไม่ถึงขั้นนั้น ไม่มีทาง คิดเท่าไรก็อยู่อย่างนั้น

    ผู้ฟัง โลกุตตรปัญญา ...

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องมีโลกียปัญญาก่อนโลกุตตรปัญญา

    คุณสตายุมีโลกียปัญญาหรือยัง โลกียปัญญาตั้งแต่ฟังเข้าใจจนกระทั่งประจักษ์แจ้งการเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม ยังเป็นโลกียปัญญา ขณะใดที่มีนิพพานเป็นอารมณ์เท่านั้น จึงจะเป็นโลกุตตรปัญญา แต่ถ้าเป็นคนที่ศึกษาวิชาการต่างๆ จบปริญญาเอกสาขาต่างๆ แต่ไม่รู้สภาพธรรมในขณะนี้ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาเจตสิก ภาษาไทยใช้คำว่า “ปัญญา” เขามีสติปัญญามาก แต่ความจริงไม่ใช่สติเจตสิก ไม่ใช่ปัญญาเจตสิกที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่เราเอาคำมาใช้ แต่ไม่ใช่ตัวจริงของธรรม

    เราทราบว่าปรมัตถธรรม มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วอยู่ดีๆ ก็มีการพูดเรื่องขันธ์ในพระสูตรบ้าง ที่อื่นบ้าง เราถ้าไม่ได้ศึกษาเรื่องปรมัตถธรรม เราจะงง ไม่ทราบว่าขันธ์คืออะไร มาจากไหน เป็นปรมัตถธรรมหรือเปล่า แต่ถ้าเรารู้ว่า ทุกอย่างต้องมีเพียงปรมัตถธรรม ๓ ที่เกิดดับ คือ จิต เจตสิก รูป ส่วนนิพพานก็เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่เกิดดับ

    เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึงขันธ์ หมายความถึงสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดซึ่งเกิดดับ ในอดีต เห็นก็เห็นอย่างนี้ จะเห็นเสียงไม่ได้ เห็นกลิ่นไม่ได้ เห็นก็ต้องเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อวานนี้ เห็นก็คือเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ต่อๆ ไปในอนาคต เห็นก็คือเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา

    เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดที่เกิดดับมีทั้งในอดีตนานแสนนาน มีทั้งขณะที่กำลังเป็นปัจจุบัน แล้วต่อไปก็จะเป็นอย่างนี้อีก เป็นกองหนึ่ง ประเภทหนึ่ง คือ ประเภทรูป ไม่ว่าอดีตก็เป็นรูป ปัจจุบันก็เป็นรูป อนาคตก็เป็นรูป เป็นรูปขันธ์ แยกปรมัตถธรรมเป็นส่วนๆ ตามการยึดถือ เพราะว่าเราอาจจะไม่ทราบว่า เราติดรูปมาก ลืมตาขึ้นมาเราก็เห็นรูป แล้วก็ติดในรูป ต้องการรูป ได้ยินเสียง เราก็ต้องการเสียง ได้กลิ่น เราก็ต้องการกลิ่น ลิ้มรส เราก็ต้องการส กระทบสัมผัส เราก็ต้องการสิ่งที่เรากระทบสัมผัส

    เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิตของเราแสวงหารูป ต้องการรูป ทั้งหมดคือรูปที่ต้องการ เดี๋ยวรับประทานอาหารอร่อย เดี๋ยวก็เห็นดอกไม้สวยๆ เดี๋ยวก็กระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย อ่อนนุ่ม นี่ก็คือชีวิตของเราติดรูปอย่างมาก เพราะฉะนั้น เป็นรูปูปาทานขันธ์ เอาคำว่าอุปาทานเพิ่มเข้าไปอีกคำหนึ่ง หมายความว่ารูปซึ่งเป็นที่ยึดถือ รูปทุกชนิด ทั้งอดีต ทั้งปัจจุบัน ทั้งอนาคต แต่ก่อนนี้เราก็เห็นรูปเหมือนเดี๋ยวนี้ แล้วเราก็ติดในรูปมาแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราก็กำลังติดในรูปอีก ต่อไปเราก็ติดในรูปอีก เพราะฉะนั้น ถ้าแสดงธรรมโดยนัยของอุปาทาน ความยึดมั่น ก็แยกรูปทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่ง คือ ต้องเป็นรูปนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปต่างกันโดยประการต่างๆ เป็นสี เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส ใกล้ ไกล หยาบ ละเอียด อดีต อนาคต ปัจจุบัน ก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น ก็เป็นส่วนหรือกองของรูปขันธ์

    อันนี้เข้าใจไหมคะ คำว่า “ขันธ์” ไม่ได้หมายความถึงรูปเดียว รูปทุกชนิด นานมาแล้วถึงเดี๋ยวนี้ หรือปัจจุบัน ก็ยังต้องเป็นรูป เป็นรูปขันธ์

    ขันธ์ต่อไปคือ เวทนาขันธ์ เป็นความรู้สึก ทุกคนอยากจะมีแต่ความรู้สึกสบาย สนุก เพลิน โสมนัส ยินดี ไม่อยากจะมีทุกข์ โทมนัสเลย เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าเราต้องการรูปมาเพื่อที่จะมีสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนาในรูปนั้น เพราะฉะนั้น เวทนาความรู้สึกเป็นสิ่งที่สำคัญมากในชีวิตของเรา เป็นใหญ่ เป็นอินทรีย์ ทั้งหมดเลยไม่ว่าจะเป็นสุขก็เป็นสุขินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ก็ทุกขินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นโสมนัสก็เป็นโสมนัสสินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นโทมนัส ก็เป็นโทมนัสสินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นอุเบกขาก็เป็นอุเบกขินทรีย์ ที่ว่าเป็นใหญ่ เพราะเหตุว่าไม่ว่าเวทนาใดจะเกิดกับจิต สภาพธรรมอื่นพลอยเป็นไปกับเวทนานั้น พอเวทนาเป็นสุข เขาสุขหมดเลย ทั้งจิต ทั้งเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมด้วย เป็นใหญ่ที่สามารถจะทำให้สภาพธรรมอื่นเป็นอย่างเขา พอเวลาทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์หมดทั้งจิตเจตสิกที่เกิดร่วมกัน ไม่เบิกบานเลย เจตสิกอื่นๆ ก็เศร้าหมองไปด้วย

    เพราะฉะนั้น เห็นได้จริงๆ ว่าชีวิตของเรามีความสำคัญอยู่ที่ความรู้สึก ถ้าไม่มีความรู้สึกเราคงไม่ต้องแสวงหาอะไรมามากๆ ไม่ต้องเดือดร้อน แต่เพราะว่าเราต้องการสุขเวทนา เพราะฉะนั้น เราก็ยึดมั่น ติดในสุขเวทนา เป็นเวทนูปาทานขันธ์ มีคำว่าอุปาทานเพิ่มขึ้น ยึดมั่น ในอดีตเราก็เป็นอย่างนี้ ต้องการสุข เดี๋ยวนี้เราก็เป็นอย่างนี้ ต่อไปเราก็เป็นอย่างนี้

    รูปขันธ์เป็นปรมัตถธรรมอะไรคะ คุณไพฑูรย์.

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เป็นรูป

    เวทนาขันธ์ เป็นปรมัตถธรรมอะไรคะ

    ผู้ฟัง เป็นนาม

    ท่านอาจารย์ เป็นนามประเภทไหน

    ผู้ฟัง เวทนาเป็นนาม เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เวทนาเป็นเจตสิก นี่ก็แสดงให้เห็นว่า จิต เจตสิก รูป นั่นเองที่เป็นขันธ์ ๕

    นอกจากนี้ขันธ์ที่ ๓ คือ สัญญาขันธ์ สัญญาทีนี่หมายความถึงความจำ ขณะนี้มีไหมคะ มีค่ะ สัญญาเจตสิกต้องเกิดกับจิตทุกขณะ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจิตจะรู้อารมณ์อะไร สัญญาจำอารมณ์ จิตที่ไม่มีสัญญาเจตสิกมีไหมคะ

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่มี จิตที่ไม่มีเวทนาเจตสิก มีไหมคะ ไม่มี

    มีเจตสิก ๗ ดวงซึ่งต้องเกิดกับจิตทุกขณะ ใน ๗ ดวงนั้น ๒ ดวงต้องเกิดร่วมด้วย คือเวทนากับสัญญาต้องเกิดร่วมด้วย

    สัญญาเป็นสภาพจำ ถ้าเราจำอะไรไม่ได้เลย เราคงไม่มาแสวงหาอะไรๆ อีกเหมือนกัน แต่สุขเราก็จำได้ สตรอเบอรรี่นี้อร่อยดี อยากรับประทานอีก หรืออะไรอย่างนี้ หมายความว่าจำทุกอย่าง ดอกไม้นี้สวยดี เดี๋ยวไปดูใหม่ หรืออะไรอย่างนี้ หมายความว่าเพราะสภาพจำนี้มี จึงเป็นปัจจัยให้เกิดการปรุงแต่ง โดยเจตสิกอื่นๆ อีก ๕๐ ชนิด เป็นสังขารขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เหลือเป็นสังขารขันธ์ จิตทุกขณะเป็นวิญญาณขันธ์ ถ้าเราเข้าใจปรมัตถธรรม เราก็เข้าใจ ไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็นเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เรื่องอายตนะ เรื่องอะไรก็ตาม จะต้องรู้ว่า ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร

    สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เหลือเท่าไรคะ มีเวทนาเจตสิก ๑ สัญญาเจตสิก ๑ เหลืออีกเท่าไร เจตสิก ๕๐ ทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ แล้วจิตทุกชนิด ไม่เว้นเลย เป็นวิญญาณขันธ์

    ผู้ฟัง ...

    ท่านอาจารย์ เจตสิก ต้องเกิดด้วยกัน ทั้งจิต และเจตสิกเป็นวิบาก ถ้าจิตเป็นวิบาก เจตสิกก็เป็นวิบาก วิบากเจตสิกเขาจะไม่เกิดกับกุศลจิต

    ผู้ฟัง คือจิต

    ท่านอาจารย์ คือต้องตายตัวหมด ตั้งแต่ต้น เปลี่ยนไม่ได้เลยสักอย่าง เพราะฉะนั้น ถ้ากุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก อกุศลกรรมก็เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก ทีนี้จุดของคุณแจ๊คคือที่จะถามว่า วิบากได้แก่ปรมัตถ์อะไร ต้องได้แก่ จิต และเจตสิก ทีนี้รูปเป็นวิบากหรือเปล่า ที่คุณแจ๊คกำลังจะถามต่อไป รูปเป็นวิบากหรือปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็น รูปเป็นผลของกรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็น

    ท่านอาจารย์ รูปเป็นผลของกรรม แต่รูปไม่ใช่วิบาก นี่แสดงให้รู้ว่า วิบากเป็นผลของกรรม จิต เจตสิก รูปเป็นผลของกรรม แต่จิตเจตสิกเป็นวิบาก แต่รูปไม่ใช่วิบาก

    เพราะฉะนั้น รูปเป็นผลของกรรมได้ แต่เพราะรูปไม่ใช่สภาพรู้ รูปรู้อะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นถึงอะไรจะมากระทบรูป รูปก็ไม่มีความรู้สึก เพราะฉะนั้น รูปไม่ใช่วิบาก แต่เป็นผลของกรรมได้ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก รูป แต่ที่เป็นวิบากคือจิต เจตสิก

    นี่คือความต่างกันของจิตเจตสิก กับ รูป


    หมายเลข 9337
    21 ส.ค. 2567